สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้วในพื้นที่เขต EEC นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62

SIMTec “ประตูสู่ปัญญา” เปิดแล้ว! พลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตยุค 4.0 รองรับ EEC

อัปเดตล่าสุด 31 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 2,771 Reads   

SIMTec: สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้วในพื้นที่เขต EEC นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา   

โดยท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ดร. พสุ โลหารชุน ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (Sumipol Institute of Manufacturing Technology – SIMTec) และสำนักงานภาคตะวันออก ระยอง บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Sumipol Corporation Limited) ณ สถานที่ตั้ง หน้าทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ท่ามกลางแขกผู้มาร่วมงานจำนวนมาก ประกอบด้วยลูกค้ารายสำคัญ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานราชการ อาทิ ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผู้แทนจาก 14 องค์กรความร่วมมือ อาทิ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ชั้นนำที่ให้การสนับสนุนสถาบันฯ เช่น ผู้บริหารระดับสูงที่บินตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ บริษัท Mitutoyo Corporation, Denso Corporation, DMG MORI, Fanuc, Sumitomo Hardmetal, OSG Corporation, A.L.M.T., BIG DAISHOWA, OMRON, Trusco และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 

ในงานครั้งนี้มีการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกับการกล่าวรายงาน โดยคุณจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท เครือสุมิพล จำกัด ถึงความยินดีที่ได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ในพิธีเปิดสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล และสำนักงานภาคตะวันออกแห่งใหม่ จังหวัดระยอง ซึ่ง SIMTec เป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ด้านเทคนิคโดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0

คุณจิระพันธ์ อุลปาทร กล่าวถึง สถาบัน SIMTec เพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปร่วมมือกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 10 ปีหลัง พบว่าการให้การฝึกอบรมทางด้านบุคลากรของภาครัฐมีอุปสรรคพอสมควร ทั้งในด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลไม่สามารถทำได้ตามความจำเป็นให้ทันเทคโนโลยีได้ รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่ทำหน้าที่ฝึกสอน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสถาบันแห่งนี้บนความร่วมมือขององค์กรภาครัฐและเอกชน 14 แห่ง ซึ่งได้ตกลงทำ MOU และเปิดแถลงข่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2017 ในงาน Metalex 

การดำเนินการในรูปแบบนี้ นับเป็นมิติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ณ ที่ใดมาก่อน เป็นที่น่ายินดีว่า เราได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตชั้นนำซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ 18 บริษัทโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนให้นำเครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ ที่ทันสมัยรวมมูลค่ากว่า 120 ล้านบาท มาติดตั้งเพื่อใช้ในการฝึกอบรม พร้อมหลักสูตรและผู้ชำนาญการ มาเป็น Trainer ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสถาบัน SIMTec นับได้ว่าโครงการนี้เป็นการสานพลังประชารัฐอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร 


ประติมากรรมที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านขวามือของอาคารด้านหน้า ซึ่งประติมากรรมชิ้นพิเศษนี้รังสรรค์ขึ้นโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ ตามศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในความหมายของ “ประตูสู่ปัญญา” แสดงรูปแบบของประตูจตุรทิศประดับดอกลวดลายร่วมสมัย ล้อมรอบปลายแท่งดินสอซึ่งหมายถึงปัญญา สื่อถึงความเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เข้ารับการอบรมมาจากทุกสารทิศและสำหรับทุกคน นายจิระพันธ์ อุลปาทร กล่าวทิ้งท้าย



 

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตัวแทนองค์กรความร่วมมือภาครัฐและเอกชน 14 หน่วยงาน  ก็ได้กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้เห็นสถาบันเทคนิคแห่งการเรียนรู้ในรูปแบบที่มีความสมบูรณ์ทุกด้าน ที่จะใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี และได้ทราบความเคลื่อนไหวของโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายในการที่จะพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่ทันสมัยในทุกด้าน โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานทางด้านคมนาคม ด้วยการเชื่อมต่อระบบราง-เรือ-อากาศ พร้อมกับเมืองใหม่ที่ทันสมัยยกระดับรองรับประชากรที่จะโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประการสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาใด ๆ จะประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนได้ ก็ต้องมีเรื่องของการพัฒนาคนเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อมีการกล่าวเชิญชวนผู้ลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากการให้การสิทธิประโยชน์ในด้านการลงทุนต่าง ๆ แล้ว คำถามที่เกิดขึ้นตลอดเวลาคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาคนจึงถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ถูกบรรจุไว้เป็นเรื่องสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

และกล่าวยกย่องชมเชย คุณจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท เครือสุมิพล จำกัด ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคน จัดตั้งศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้อันทันสมัยแห่งนี้ขึ้น การเป็นหน่วยธุรกิจที่ถือว่าไม่ใช่กิจการขนาดใหญ่ แต่กล้าที่จะทำในสิ่งที่เป็นภาระหนักด้วยการลงทุนที่ไม่น้อยเลย สิ่งสำคัญที่สุดที่จะมองข้ามไม่ได้ก็คือ การรวมพลังจากองค์กรภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ 14 องค์กร รวมถึงความร่วมมือที่ได้รับจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในสาขาต่าง  ๆ ในรูปแบบการสานพลังประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล น่าจะถือเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่คนทั่ว ๆ ไปทำได้ยากมากและทำได้อย่างทันท่วงที

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีการขยายความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ EEC ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ในส่วนของสำนักงาน EEC ก็จะช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดสรรความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับสถาบันแห่งนี้ในทุกโอกาสที่จะสามารถทำได้ และขออำนวยพรให้สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล ดำเนินกิจกรรมประสบความสำเร็จเป็นที่พึ่งของกำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ได้ในเร็ววัน ดร. คณิศ แสงสุพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

 


Mr. Yoshiaki Numata, President, Mitutoyo Corporation แห่งประเทศญี่ปุ่น ผู้แทนกลุ่มพันธมิตรเทคโนโลยีผู้ผลิต “เครื่องจักรกลแม่แบบ” และ “เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้” ที่จำเป็นสำหรับการผลิต เปิดเผยว่า ครั้งที่ได้ทราบแนวคิดของการจัดตั้งสถาบัน SIMTec ก็มีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง และมีความตั้งใจจริง พร้อมจะร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเราเชื่อเสมอมาว่า “เทคโนโลยีที่ดี” มาจาก “คนดี” “คนดี” มาจาก “สภาพแวดล้อมที่ดี” จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมี “สภาพแวดล้อมที่ดี” ในฐานะที่สถาบัน SIMTec เป็นผู้ให้ความรู้แก่ผู้บุคลากรผ่านประสบการณ์การฝึกฝนจริงจากเครื่องจักรกล เครื่องมือและอุปกรณ์แม่แบบการสอน คงไม่มีความปิติยินดีใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีก ในการที่จะสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิศวกรรุ่นใหม่

“วันนี้เศรษฐกิจโลก เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจรอบตัวเรา อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ กระผมเชื่อว่าในเวลาเช่นนี้ที่เรากำลังสร้างพื้นฐานการพัฒนาคนที่สัมผัสได้จริงผ่านการศึกษาทางเทคนิค จนกลายเป็นรากฐานของความแข็งแกร่งในอนาคตของประเทศไทย และนี่จะเป็นรางวัลสำหรับเอเชียเช่นกัน”


 

Mr. Katsuhiko Sugito, Executive Officer, Denso Corporation ประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้ก่อตั้งสถาบัน Lean Automation System Integrators (LASI) ความร่วมมือของรัฐบาลญี่ปุ่น-ไทย ได้กล่าวถึงความร่วมมือในส่วนของ Denso ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนห้องใช้ระบบ Lean Automation System integrators หรือ สถาบัน “LASI” แห่งที่ 2 ขึ้นในพื้นที่ EEC ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถาบัน SIMTec แห่งนี้

นับจากนี้ไปพื้นที่ EEC ได้ถูกคาดหวังว่า จะมีการพัฒนาในวงการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาผู้ให้บริการด้านการวางระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ หรือ System Integrator ด้วยเช่นกัน และด้วยความเห็นชอบจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ METI เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น และ สุมิพล จึงได้จัดตั้งศูนย์ LASI แห่งที่ 2 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา เข้าด้วยกันที่สถาบัน SIMTec และยังดำเนินกิจการภายใต้การสนับสนุนจาก ผู้ประกอบการชั้นนำจากญี่ปุ่นหลายแห่ง เพื่อพัฒนา และซึมซับ Monodzukuri แบบญี่ปุ่นให้มากขึ้น SIMTec จำเป็นที่ต้องร่วมมือกับผู้ผลิตต่างๆ เพื่อสร้างหลักสูตรอบรมที่ดียิ่งขึ้น การอุทิศตนช่วยเหลือในวงการอุตสาหกรรม เพื่อสร้างสัมพันธภาพ Win-Win ระหว่างประเทศไทย และ ญี่ปุ่น โดยคาดหวังว่าที่นี่จะเป็นศูนย์รวมในการเผยแพร่ด้านนวัตกรรมในอนาคตต่อไป

จากนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร. พสุ โลหารชุน ขึ้นกล่าวในฐานะประธานในพิธี ว่า เป็นฤกษ์ดีที่ได้มีการก่อกำเนิดสถาบันเทคนิคแห่งการเรียนรู้แห่งแรกในพื้นที่ EEC ท่ามกลางการรับรู้ของแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการ พร้อมกับผู้บริหารบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่มีชื่อเสียง ผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (Sumipol Institute of Manufacturing Technology – SIMTec) ถือเป็นการรวมตัวของภาครัฐและเอกชน ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นแห่งแรกที่เกิดขึ้น การผนึกกำลังความร่วมมือของ 14 องค์กร รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก ที่ให้การสนับสนุนนำเครื่องจักรกลที่ทันสมัยมาติดตั้งเพื่อใช้ในการฝึกอบรมมากถึง 18 แบรนด์ เพื่อพัฒนาบุคลากรของชาติในลักษณะ Re-skill และ Up-skill รองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC นับว่าเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญแสดงถึงความตั้งใจของผู้ก่อตั้งว่ามีความเพียรในการทำงานนี้ ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง และเมื่อสถาบัน SIMTec ได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว คงมีส่วนสร้างเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งปัจจุบันและที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ 

ในส่วนของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center – ITC) โดยความร่วมมือกับอีก 2 กระทรวง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( Ministry of Digital Economy and Society) ในรูปแบบศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมหรือ Industry Transformation Center – ITC  ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือพร้อมให้คำปรึกษาบริการด้านการประกอบธุรกิจ การวิจัยเชิงพาณิชย์ ตลอดจนบ่มเพาะธุรกิจผู้ประกอบการ ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับการดำเนินงานของสถาบัน SIMTec ในการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความสำเร็จไปด้วยกัน 

และด้วยการจัดรูปแบบการบริหารจัดการสถาบัน SIMTec อย่างมืออาชีพ ทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันแห่งนี้จะสร้างคุณประโยชน์นานับประการแก่ภาคอุตสาหกรรมและมีความมั่นคงยั่งยืน ร่วมกันพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทยต่อยอดสู่ยุค 4.0 ตามที่ทุกฝ่ายทุ่มเทและคาดหวัง ดร. พสุ โลหารชุน กล่าวทิ้งท้าย


คุณทองพล อุลปาทร ผู้อำนวยการสถาบัน SIMTec ได้กล่าวถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนี้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม บนที่ดินประมาณ 7 ไร่ อาคาร 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 7,500 ตารางเมตร กว่า 70% เป็นการใช้เพื่อกิจกรรมการฝึกอบรมของสถาบัน SIMTec นอกจากนั้นที่ดินแปลงที่ติดกันเนื้อที่ 9 ไร่ ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนใหญ่ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ ที่สำรองไว้เพื่อการขยายตัวในอนาคต

SIMTec Learning Factory แบ่งออกเป็น 7 Station

  1. Machining Station เป็น Station สำหรับใช้ศึกษานวัตกรรมการตัดแต่งขึ้นรูปโลหะโดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ 5-Axis Machining Center และ TurnMill Machine ปัจจัยสำคัญในการผลิต ได้แก่ การเขียนแบบชิ้นงาน การออกแบบกระบวนการผลิต เครื่องจักร การจับยึดชิ้นงาน เครื่องมือตัดและการจับยึด รวมถึงการใช้โปรแกรม CNC และซอฟต์แวร์ CAD/CAM ช่วยในการผลิต
  2. Practical Maintenance Station เป็น Station สำหรับการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงในการจับยึดชิ้นงาน โดยใช้ Assembly Jig Fixture, Rotary Table และการปรับตั้งและวัดความสูงของเครื่องมือเพื่อความแม่นยำในการผลิต
  3. Automatic Control Station เป็น Station สำหรับการเรียนรู้อุปกรณ์ที่จำเป็ฯในระบบอัตโนมัติ การควบคุมสายการผลิตด้วย PLC โดยใช้ Vision Camery ในการตรวจเช็คตำแหน่ง และระบุตำแหน่งด้วยเซ็นเซอร์ รวมทั้งการคัดแยกงานดีงานเสียออกจากกระบวนการผลิต
  4. Industial Robot Station l เป็น Station สำหรับการเรียนรู้ระบบอัตโนมัติพื้นฐานในสายการผลิต การควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ทั้งแบบ SCARA Robot และ Articulated Robot ในการหยิบจับชิ้นงานออกจากเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
  5. 3D Printing Station เป็น Station สำหรับการเรียนรู้และใช้งานเครื่อพิมพ์ 3 มิติ ในการออกแบบและผลิตชิ้นงานตัวอย่าง (Prototype) เพื่อได้ความเสมือนจริง สัมผัสได้ และง่ายต่อการตัดสินใจใตการออกแบบผลิตภัณฑ์
  6. Smart Line Station เป็น Station สำหรับการเรียนรู้สายการผลิตอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ที่มีการใช้หึ่นยนต์ร่วมกับเครื่องจักร CNC และเครื่องมือวัดสามมิตแบบ CNC (In-Line CMM) ผลิต ตรวจสอบคุณภาพ และประกอบเป็ฯชิ้นงานสำเร็จพร้อมแสดงผลแบบ Real-time รวมถึงการสอนเครื่อง Wire Cut สำหรับการตัดโลหะด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความหลากหลายในวิธีการผลิต
  7. Industial Robot Station ll เป็น Station สำหรับฝึกการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในกระบวนการต่าง ๆ ได้แก่ Handling, Palletizing, Welding รวมถึง CAM ในหุ่นยนต์

 

ศูนย์การเรียนรู้ที่แยกย้อยออกไปอีก 3 ห้องหลัก ซึ่งมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน

  1. Mitutoyo Institute of Metrology (MIM) ศูนย์การเรียนรู้มาตรวิทยาครบวงจร ซึ่งมีเครื่องมือวัดด้านมิติถึง 15 เครื่อง เช่น Automatic CMM, Roundness Tester, Profile Projector พร้อมแสดงผลการวัด และวิเคราะห์แบบ Real-time
  2. Lean Automation System Integrator (LASI) ศูนย์การเรียนรู้ระบบ Lean Automation เริ่มต้นจากการกำจัดความสูญเปล่าในการผลิต การปรับปรุงกระบวนให้เป็นสายการผลิตแบบ Semi และ Full Automation อย่างเป็นขั้นตอน
  3. Factory IOT Studio ห้องเรียนรู้ระบบ Visualization ในสายการผลิต การดึงข้อมูลจากเครื่องจักร แปลงเป็นข้อมูลผลการผลิตแบบ Real-time เพื่อการวางแผนและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที วิเคราะห์และพัฒนาต่อเนื่อง

 

ในส่วนของห้องเรียนภาคทฤษฎี ก็ถูกออกแบบเป็นพิเศษในลักษณะไลน์การผลิตจำลอง (Learning Factory) ที่ติดตั้งเครื่องจักรกลและครื่องมือที่ครบครัน อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยเอื้อประโยชน์ต่อการฝึกอบรมให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

UP-Skill & Re-Skill ประโยชน์สำหรับบุคคล

เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องในหลักสูตรตามความต้องการ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในการทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน ได้รับใบรับรองหรือประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่กำหนด เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ

Develop Personnel ประโยชน์สำหรับองค์กร

ช่วยพัฒนาบุคคลากรององค์กรได้ตรงกับเป้าประสงค์การผลิตสมัยใหม่ สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการนำไปพัฒนากระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม 4.0

 
“สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล” (Sumipol Institute of Manufacturing Technology – SIMTec) มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรทางด้านทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ด้วยการฝึกอบรมที่เน้นการสาธิตและภาคปฏิบัติในหลักสูตรสาขาต่าง ๆ ให้แก่ วิศวกร ช่างเทคนิค ในภาคอุตสาหกรรม ครูผู้ฝึกสอนของสถาบันการศึกษาและศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่วัยแรงงาน ด้วย Learning Factory ขนาดใหญ่ เน้นหนักงาน 3 ด้าน คือ กระบวนการตัดแต่งขึ้นรูปโลหะ (Machining Strategy) ระบบการวัดละเอียดด้านมิติ (Measuring Innovation) และงานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Factory Automation & IoT) คุณทองพล อุลปาทร กล่าวทิ้งท้าย


สถาบัน SIMTec ได้เริ่มให้การฝึกอบรมตามหลักสูตรเดิมที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2562 และจะขยายหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 033-047-800 หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและบริการของบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ โทร. 02-762-3000 สำนักงานภาคตะวันออก ชลบุรี โทร. 038-930-888 และสำนักงานภาคตะวันออก ระยอง โทร. 033-047-888