แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2019

แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2019

อัปเดตล่าสุด 18 มี.ค. 2562
  • Share :
คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด สวนทางกับภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยที่หดตัวเล็กน้อย
 
ตลาดรถยนต์ไทยกำลังจะค่อยๆเปลี่ยนไปสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าตามแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ปัจจุบันรัฐบาลทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีนต่างออกกฎหมายควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เข้มงวดขึ้น  บางประเทศถึงกับมีการกำหนดวันเลิกผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันกันเลยทีเดียว ประกอบกับราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงทำให้หน่วยงานรัฐของหลายประเทศเริ่มสนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV มากขึ้น รัฐบาลไทยเองประกาศลดภาษีสรรพสามิตในรถยนต์ EV เมื่อปี 2017 ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEVs) ที่เติบโตขึ้นในปี 2018 และ คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งสามประเภทจะเติบโตมากขึ้นไปอีกในปี 2019 สวนทางกับภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยที่คาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อยในปีนี้
 
 
แนวโน้มตลาดรถยนต์ 2018 vs. 2019
 
ปี 2019 ภาพรวมตลาดรถยนต์ไทย
คาดว่าจะหดตัว 2% ถึง 5% เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เพื่อรับมือกับหนี้เสียจากการปล่อยกู้รถยนต์ นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและความล่าช้าของการเลือกตั้งอาจทำให้อุปสงค์การซื้อรถยนต์ลดลง  อย่างไรก็ตามรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะรถยนต์ HEVs และ BEVs จะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อไป ในปี 2019 รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์อีโคคาร์เปิดตัวรถยนต์อีโคอีวีมากขึ้น โดยเฉพาะประเภทไฮบริด รถยนต์อีโคอีวีเหล่านี้จะได้รับการลดภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับรถไฟฟ้ารุ่นอื่นๆทำให้ราคาขายจับต้องได้มากขึ้น  นอกจากนี้การที่บริษัทไทยร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติก็ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตได้ดีขึ้นในอนาคตด้วย
 
 
ปัจจัยกระทบตลาดยานยนต์ปี 2019
 
 
การส่งออกรถยนต์ของไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ในปี 2019
 
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมด และยอดการผลิตเพื่อการส่งออกก็เติบโตเร็วกว่ายอดการผลิตเพื่อขายในประเทศอีกด้วย ในปี 2019 คาดการณ์ว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยจะเติบโตเพียง 1-4% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในยุโรปที่ยังคงชะลอตัว ส่วนตลาดเวียดนามคาดว่าการส่งออกรถยนต์จากไทยจะเติบโตถึง 14-22% ในปีนี้ เนื่องจาก:
 
1) ปัญหาจากมาตรการการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ที่คลี่คลายลงบางส่วน
2) ผู้ผลิตรถยนต์นั่งหลายค่ายมีการย้ายฐานผลิตมายังไทยเพื่อส่งออกไปยังเวียดนามมากขึ้น
3) ประชากรในเวียดนามมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
4) ราคาของรถยนต์นั่งขนาดเล็กแบบประหยัดพลังงานจับต้องได้มากขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงที่เวียดนาม
 
อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์จากไทยไปยุโรปจะเผชิญปัญหานักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในยุโรปมากขึ้น เช่น ฮังการี เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ เพื่อลดต้นทุนขนส่ง นอกจากนี้การควบคุมปริมาณควันไอเสียรถยนต์ในยุโรปเป็นอีกปัจจัยที่จะกดดันการส่งออกรถยนต์จากไทย  สุดท้ายนี้ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (United States-Mexico-Canada Agreement: USMCA) ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2020 ก็มีข้อบังคับเรื่องแหล่งผลิตรถยนต์ที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลกระทบเชิงลบกับการส่งออกรถยนต์จากไทยไปประเทศสมาชิก USMCA ดังนั้นประเทศไทยจึงควรลดผลกระทบเชิงลบเหล่านี้ด้วยการเพิ่มการผลิตและส่งออกรถยนต์ EV ไปยังตลาดยุโรปและประเทศสมาชิก USMA แทนการส่งรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบดั้งเดิม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV เป็นอย่างมาก
 
 
ตลาดส่งออกรถยนต์ 2019
 
นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV และขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
 
ภาพรวมยอดขายรถยนต์ของไทยคาดว่าทรงตัวหรือปรับตัวลงเล็กน้อยในปี 2019 จากยอดขายในประเทศที่หดตัวลงประกอบกับยอดการส่งออกที่เติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงพยายามส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฮเทคอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน BOI  ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2018 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการผลิตรถยนต์ HEVs และแบตเตอรี ให้กับบริษัท นิสสันมอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด มูลค่ารวม 888 ล้านเหรียญสหรัฐ (28 พันล้านบาท) นอกจากนั้น ผู้ผลิตหลายรายมีแผนที่จะลงทุนและกำลังศึกษาเพื่อโอกาสหรืออยู่ในขั้นตอนของการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ถึงแม้ว่ากลุ่มรถยนต์ EV จะมีสัดส่วนในตลาดรถยนต์ไทยเพียงเล็กน้อย แต่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วและจะกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในอนาคต
 
ค่ายรถยนต์-ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า-BOI
 
 
ข้อมูลจาก Kasikorn AEC+ ฺBusiness Advisory