
SMESI มี.ค. 68 ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 51.5 เหตุกำลังซื้อซบเซา SME วอนรัฐเร่งออกมาตรการเฉพาะกลุ่ม
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 51.5 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เหตุอุปสงค์ในประเทศซบเซา กำลังซื้ออ่อนตัว ภาคบริการและการค้าหดตัว SME จึงคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจง ครอบคลุม และตรงจุด เพื่อประคองความเชื่อมั่นและลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ
Advertisement | |
16 พฤษภาคม 2568 - นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนมีนาคม 2568
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า อยู่ที่ระดับ 51.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2568 สาเหตุสำคัญมาจากแรงกดดันจากภาวะกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ระยะที่ 2) ที่ยังไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเริ่มมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการภาคการค้าและภาคการบริการ ขณะที่ภาคการเกษตรมีความกังวลต่อทิศทางราคาผลผลิตในตลาดหลายรายการที่ปรับลดลงและในบางพื้นที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาที่มีแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพมหานคร ยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของภาคธุรกิจรายย่อยในระดับภูมิภาค ในทางกลับกันภาคการผลิตมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเริ่มเร่งกำลังการผลิตตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เพื่อเตรียมส่งมอบสินค้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นแรงบวกชั่วคราวแต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มของภาพรวมเศรษฐกิจได้ในวงกว้าง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบดัชนี พบว่า ด้านปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ ทรงตัวที่ระดับ 56.0 เป็นระดับ 56.1 เนื่องจากเริ่มเข้าใกล้เทศกาลสงกรานต์ ธุรกิจส่วนใหญ่เร่งการผลิตก่อนถึงช่วงวันหยุดยาว นอกจากนี้องค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.7 เป็นระดับ 41.2 ขณะที่ด้านคำสั่งซื้อโดยรวมปรับลดลงจากระดับ 58.8 อยู่ที่ระดับ 57.1 ด้านการลงทุนโดยรวมปรับลดลงจากระดับ 50.6 อยู่ที่ระดับ 50.2 ด้านกำไรปรับจากระดับ 56.3 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.7 และด้านการจ้างงานปรับลดลงจากระดับ 50.5 อยู่ที่ระดับ 49.9 สะท้อนให้เห็นภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เศรษฐกิจจะคึกคักก็ตาม
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) รายภาคธุรกิจ พบว่า
ภาคการผลิต มีระดับความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.9 เป็นระดับ 50.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเร่งกำลังการผลิตเพื่อรองรับออเดอร์ระยะสั้นในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ในขณะที่กลุ่มการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากยาง ขยายตัวจากการเร่งส่งออกของคู่ค้ารายใหญ่ เช่นเดียวกับกลุ่มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ภาคธุรกิจอื่น ๆ ปรับตัวลดลง
ภาคธุรกิจการเกษตร ปรับลดลงมากที่สุดจากระดับ 50.5 ลงมาอยู่ที่ระดับ 48.7 โดยระดับความเชื่อมั่นลดลงตามรายได้จากภาคธุรกิจการเกษตรที่ปรับตัวลดลง หลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดยังอยู่ในทิศทางอ่อนตัวต่อเนื่อง
ภาคบริการ ปรับตัวลดลงจากระดับ 53.4 ลงมาอยู่ที่ระดับ 52.0 ซึ่งระดับความเชื่อมั่นปรับลดลงต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น ภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นสำคัญ
ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.0 ปรับลดลงจากระดับ 54.5 ของเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการแผ่วลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2 ซึ่งยังกระตุ้นกำลังซื้อได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) รายภูมิภาค พบว่า
ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.1 โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามแรงกดดันจากภาคบริการและการค้าเป็นหลัก แม้ภาคการผลิตยังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ยอดขายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมภายในประเทศยังชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานที่พึ่งพาการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนและความไม่แน่นอนทางการค้า
ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 51.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 แม้เชียงใหม่ยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลี แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน รวมถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวในบางพื้นที่ และการแผ่วของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองรอง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 50.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.3 และลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อที่ยังอ่อนตัวจากผู้บริโภคในพื้นที่ ขณะที่บรรยากาศการจับจ่ายช่วงเดือนรอมฎอนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการค้าและบริการ นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่ลดลง ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.2 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.5 ตามทิศทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังซบเซา โดยเฉพาะภาคบริการ ธุรกิจการเกษตร และการค้า ซึ่งยังไม่ตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ขณะที่ภาคการผลิตบางกลุ่ม เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ยังได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อในกลุ่มลูกค้า B2B ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าอุปโภคบริโภค
ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 51.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.6 ความเชื่อมั่นในภาคกลางอ่อนตัวลงตามกำลังซื้อที่ชะลอในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ภาคเกษตรเผชิญผลผลิตลดลงและราคาสินค้าเกษตรหลักตกต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตเริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิตบางส่วน เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งซื้อช่วงเทศกาลเดือนถัดไป
เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.5 ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในพื้นที่ปรับลดลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัว และแรงกดดันจากสถานการณ์แผ่นดินไหว ขณะที่ภาคการผลิตหลายสาขา เช่น เสื้อผ้า แป้งหอม ดินสอพอง และอาหารแปรรูป เริ่มเร่งกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเมษายน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ประจำเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 54.7 ซึ่งปรับลดลงจากระดับ 55.6 จากที่คาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะถัดไป ในด้านระยะเวลา วิธีการโอน และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิ์ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่รอคอยอานิสงส์จากนโยบายรัฐโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ภาคการผลิตที่มีตลาดส่งออกเป็นสำคัญ สะท้อนความเปราะบางจากปัจจัยภายนอกที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถควบคุมได้
อย่างไรก็ดี จากเหตุแผ่นดินไหวในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มหดตัวแม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้มีระยะวันหยุดยาวหลายวัน และในหลายพื้นที่มีจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้กำลังซื้อในประเทศที่หายไปอย่างชัดเจนในหลายภาคธุรกิจ ไม่มีการจ้างแรงงานใหม่เพิ่มเติม ดังนั้นสิ่งที่ SME ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐคือ การสร้างรายได้ให้กับผู้บริโภคผ่านการลงทุนให้เกิดการจ้างงาน การเร่งออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ตรงจุดในระยะสั้น การดูแลปัจจัยด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงควรพิจารณามาตรการบรรเทาต้นทุนในกลุ่มวัตถุดิบอาหารและปัจจัยทางการเกษตร แม้ต้นทุนน้ำมันจะเริ่มทรงตัว รวมถึงผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจากภาระหนี้เดิม ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ในระบบยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ จึงมีความต้องการให้มีมาตรการสนับสนุนทางการเงินที่ตรงจุดและตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจมากขึ้น สำหรับ สสว. ยังมีโครงการหรือนโยบายที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ เช่น โค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่คอยให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่าน https://coach.sme.go.th/ หรือ Application ‘SME Connext’ ที่รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมถึงบริการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร ซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ สสว. Call Center โทร. 1301
#SMESI #ดัชนีSME #เศรษฐกิจไทย #ภาคการผลิต #ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ #เงินดิจิทัล10000 #สสว #MReportTH #IndustryNews
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ 2567
- 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2568
- คาร์บอนเครดิต คือ
- ยอดขายมอเตอร์ไซด์ 2567
- “ยานยนต์ไร้คนขับ” กับทิศทางการเติบโตในปี 2022-2045
- ยอดลงทุนปี 67 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า 2567
- สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2567
- เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
- 5 เทคนิค “มือใหม่ใช้เครื่อง CNC”
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH