สถิติเครื่องจักร ตัวชี้วัดด้านการลงทุนในภาคเอกชน

อัปเดตล่าสุด 12 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 1,690 Reads   

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น เผย สถิติยอดสั่งเครื่องจักร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญ (Leading Indicator) ด้านการลงทุนในภาคเอกชน โดยยอดสั่งเครื่องจักร “ในภาคเอกชน ซึ่งไม่รวมเรือและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” ประจำเดือนเมษายน ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 943,100 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 10.1% หลังจากที่ลดลงต่อเนื่อง 2 เดือน และอยู่ในเกณฑ์มูลค่าสูงเป็นครั้งแรกนับจากเดือนมิถุนายน 2008 

โดยมีแรงผลักดันหลักจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต ส่งผลให้สำนักงานคณะรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นแก้ไขคำปราศัยสำคัญ จาก “มองเห็นแนวโน้มในการเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อ” เป็น “ยอดสั่งซื้อกำลังเพิ่มขึ้น” ซึ่งเป็นการแก้ไขครั้งแรกนับจากเดือนสิงหาคม 2017 อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในอนาคต ยอดสั่งเครื่องจักรนี้จะได้รับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือนโยบายที่ตามมาหลังการประชุมสุดยอดสหรัฐ - เกาหลีเหนือ หรือไม่

จากรายงานระบุเพิ่มเติมว่า ยอดสั่งเครื่องจักรกล (Machine Tools) ได้ปิดที่ 447,900 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 22.7% ซึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตเครื่องจักรสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรสำหรับภาคคมนาคม

ส่วนยอดสั่งเครื่องจักรสำหรับงานที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิตนั้น ปิดที่ 477,800 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 0.4% ซึ่งมียอดที่เพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมงานบริการที่มีความต้องการคอมพิวเตอร์มากขึ้น, อุตสาหกรรมการเกษตรและป่าไม้ การขนส่ง ไปรษณีย์ โยธา และการสื่อสาร

ส่วนยอดสั่งจากนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น เฉพาะจากภาคเอกชนปิดที่ 1.324 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 10.0% ซึ่งหากรับรวมทั้งภาคเอกชนญี่ปุ่น ภาครัฐญี่ปุ่น และจากนอกญี่ปุ่นแล้ว ทั้งหมดมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.508 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 12.6%

สำนักงานคณะรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นเกี่ยวกับปราศัยสำคัญว่า “นอกจากจะเป็นการฟื้นตัวจากเดือนที่แล้ว ยังมีมูลค่าที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” และเมื่อพิจารณาแนวโน้มในอนาคตประกอบแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงตัดสินใจปรับยอดคาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อให้สูงขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีปัจจัยเสี่ยงซึ่งเกิดจากท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีต่อการประชุม G7 summit ส่งผลให้อนาคตในด้านที่เกี่ยวพันกับการค้ากับประเทศสหรัฐฯ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหาภายในงานประชุมสุดยอดสหรัฐฯ - เกาหลีเหนือ ภายใต้แนวคิด “Complete Verifiable Irreversible Denuclearization (CVID)” จะออกมาเช่นไร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดสั่งเครื่องจักรของประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน