Toyota ร่วม 5 บ.จีน พัฒนาเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์

อัปเดตล่าสุด 10 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,750 Reads   

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน (Toyota Motor Corporation) ร่วม 5 บริษัทสัญชาติจีน ประกาศผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell Electric Vehicles (FCEVs) ก่อตั้งบริษัท United Fuel Cell System R&D (Beijing) Co., Ltd. (FCRD) เพื่อพัฒนาระบบเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในฐานะของอีกก้าวหนึ่งสู่สังคมพลังงานสะอาด โดยมี Mr. Dong Changzheng รับตำแหน่งประธานบริษัท และ Mr. Ryu Akita รองประธานอาวุโสจาก Toyota Motor (China) Investment รับตำแหน่ง CEO ซึ่งคาดการณ์ว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

โดยรายชื่อบริษัทที่ร่วมลงทุน ประกอบด้วย

  • China FAW Corporation Limited ("FAW")
  • Dongfeng Motor Corporation ("DFM")
  • Guangzhou Automobile Group Co., Ltd. ("GAC GROUP")
  • Beijing Automotive Group Co., Ltd. ("BAIC GROUP")
  • Beijing SinoHytec Co., Ltd. ("SinoHytec")
  • Toyota Motor Corporation ("Toyota")

Toyota รายงานว่า ปัจจุบัน ตลาด FCEV โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถกระบะ และรถบรรทุก กำลังเติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งการรว่มมือระหว่างบริษัท จะช่วยให้ได้โครงสร้างพื้นทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการแยกกันพัฒนาเทคโนโลยี นำไปสู่ความแพร่หลายของเซลล์เชื้อเพลิงที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนาเป็นหลัก

โดยในส่วนของการผลิตนั้น FCRD จะอาศัยองค์ความรู้จาก Toyota และ SinoHytec ซึ่งมีประสบการณ์พัฒนารถยนต์เชิงพาณิชย์ในจีนอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งสองบริษัทเชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงที่เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม และมีศักยภาพในการแข่งขันสูงได้ โดยวางแผนผังองค์กรให้มีความคล่องตัว และพัฒนาตั้งแต่ชิ้นส่วนยานยนต์ไปจนถึงเซลล์เชื้อเพลิง (FC Stack) และระบบควบคุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้ Lead Time ลดลง สามารถออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น และจะมุ่งพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงราคาถูก เพื่อส่งเสริมให้ถูกนำไปใช้งานจริงเป็นหลัก 

FCRD เชื่อมั่นว่า หากเซลล์เชื้อเพลิงถูกใช้งานอย่างแพร่หลายแล้ว ก็จะนำไปสู่สังคมพลังงานสะอาดที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานหลัก ลดก๊าซคาร์บอรไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และนำไปสู่การคมนาคมที่ดียิ่งขึ้นในที่สุด