เมื่อโซล่าฟาร์มไม่ถูกจำกัดอยู่แต่บนพื้นดิน

อัปเดตล่าสุด 15 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 2,786 Reads   

พลังงานแสงเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่จำกัด ความท้าทายอย่างหนึ่งของการนำพลังงานแสงมาใช้งาน คือ พื้นที่สำหรับติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ (Solar cell)  ซึ่งพื้นที่บนหลังคาของอาคารและบนพื้นดินทั้งหมดนั้นอาจไม่เพียงพอ อีกทั้งข้อจำกัดทางด้านความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารที่จะใช้ติดตั้งแผงพลังงาน  จึงทำให้มีเทคโนโลยี “Floating Solar” อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการช่วยแก้ปัญหานี้ และยังมีข้อได้เปรียบด้านประสิทธิภาพของแผงโซล่าเซลล์ ประโยชน์ทางอ้อมที่ช่วยให้แหล่งน้ำนั้นมีคุณภาพดีขึ้น ปัจจุบันมีหลายประเทศชั้นนำที่ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้แล้ว 

 Floating Solar มีข้อดีอย่างไร

  • ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของน้ำที่ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการใช้พื้นที่บนดินที่มีจำกัด
  • การระบายความร้อนของแผลโซล่าเซลล์บนพื้นน้ำมีประสิทธิภาพดีกว่าการติดตั้งโซล่าเซลล์ในรูปแบบอื่น ด้วยการระบายความร้อนโดยอาศัยน้ำ (cooling effect) ทำให้แผงโซล่าเซลล์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  
  • ระยะเวลาคืนทุนสั้นกว่า  เมื่อเทียบกับโครงการสร้างโซล่าเซลล์แบบพื้นผิวดั้งเดิม 
  • คุณภาพน้ำที่ดีขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อน้ำ แพลตฟอร์มที่ลอยตัวจะปิดกั้นแสงแดดและป้องกันไม่ให้เกิดสาหร่ายที่เป็นมลพิษในน้ำ
  • ไม่รบกวนการทำงานของระบบนิเวศในน้ำ
  • ลดการระเหยของน้ำเพื่อประหยัดทรัพยากรน้ำ

ประเทศจีนได้สร้าง Floating Solar Farm ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นบนเหมืองถ่านหินที่รกร้างว่างเปล่า

จากรายงานของ South China Morning Post ได้ระบุว่า ประเทศจีนแสดงความมุ่งมั่นในการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการติดตั้ง Floating Solar Farm ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนทะเลสาบของจีนที่เคยเป็นเหมืองถ่านหินมาก่อนใน มณฑล Anhui จำนวน 166,000 แผง ให้กำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 40 เมกกะวัตต์ ให้พลังงานได้มากพอสำหรับบ้านถึง 15,000 หลังคาเรือน ซึ่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับตลาดพลังงานของโลกสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่าจีนกำลังเข้าสู่ช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยจีนพยายามออกจากการเป็นประเทศที่ผลิตอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมประเภทคาร์บอนอื่น ๆ  ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่จะตามมา

 

Kyocera  เปิดตัวโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยตัวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
 
Kyocera ได้สร้างโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยตัวใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเปิดตัวในเดือนมีนาคม ปี 2018 ที่เขื่อน ยามาคุระ ในเมืองอิชิฮาระ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น บนพื้นที่ขนาด 180,000 ตารางเมตร โดยใช้ต้นแบบมาตรฐานของแผงพลังงานแสงอาทิตย์จาก Kyocera จำนวน 50,904 แผง  ผลิตกำลังไฟฟ้าได้ประมาณ 16,170 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ให้พลังงานได้มากถึง 4,970 ครัวเรือน โดยเฉลี่ยประมาณ 8,170 ตันต่อปี 

Floating Solar นี้ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นโดย Kyocera Communication Systems Co แต่ดำเนินการโดย Kyocera TCL Solar LLC ซึ่งเป็นบริษัท ร่วมทุนระหว่าง Kyocera และ Tokyo Century ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 เพื่อโปรโมตโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัท Kyocera TCL Solar ยังได้สร้างโรงไฟฟ้า 61 แห่ง ทั่วประเทศญี่ปุ่น และได้พัฒนาโรงไฟฟ้าลอยน้ำอีก 7 แห่ง ที่เป็นการใช้พื้นที่บนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นที่มีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่เหมาะสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบ Floating Solar บริษัท Kyocera จึงต้องการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านไฟฟ้าในตลาดญี่ปุ่นในเชิงรุกต่อไป  
 
SCG เปิดตัว “Floating Solar Farm” โซล่าแบบลอยน้ำแห่งแรกของไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น SCG ได้เปิดตัวโซล่าฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกในเดือนมีนาคม 2018 ณ เอสซีจี เคมิคอลส์ จ.ระยอง ใช้เวลาศึกษา พัฒนาและ ทดลองระบบ นานกว่า 1 ปี สร้างด้วยเงินลงทุน 40 ล้านบาท แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ หรือต้นทุนการผลิต 2.5 บาท/หน่วย ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายอยู่ 4.0 บาท/หน่วย ซึ่งสามารถคืนทุนได้ภายใน 8 ปี โดยเป้าหมายของ SCG คือกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่น้ำ เช่น พวกพื้นที่เก็บน้ำภายในโรงงาน หรือพวกบ่อบำบัดน้ำขนาดใหญ่  ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย และช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และยังเป็นการรองรับความต้องการทางด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้