Isuzu มุ่งพัฒนาโรงงานในญี่ปุ่นให้เป็น Smart Factory ด้วยเทคโนโลยี IoT

อัปเดตล่าสุด 18 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 2,675 Reads   

ปัจจุบัน ผู้ผลิตยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ค่ายญี่ปุ่น กำลังแสดงออกถึงแนวทางในการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะด้วยการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ ซึ่งในการผลิตยานยนต์เพื่อการพาณิชย์นั้น หากเทียบกับยานยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว จะพบว่าจำนวนชิ้นส่วนมีน้อยกว่า และนิยมพัฒนาให้มีความคงทนต่อการใช้งานสูงกว่า ด้วยเหตุนี้เอง การเสริมศักยภาพในการทำงานของผู้ผลิตและระบบการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหลายบริษัทนั้นได้มีการเร่งนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าใช้ในการทำงาน ในอีกด้านหนึ่ง การลดภาระของคนงานเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ คือเหตุผลให้เทคโนโลยี IoT ที่สามารถลดปริมาณงานได้เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

Isuzu เองก็มีความคืบหน้าเรื่องนี้ ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโรงงานหมายเลข 3 ซึ่งเป็นโรงงานแห่งล่าสุดในญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่จังหวัดโทชิงิ ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้รับผิดชอบการผลิตเครื่องยนต์ของ “Elf” รถบรรทุกเล็กที่ออกสู่ตลาดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นโรงงานที่มีมาตรฐานตามนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2016 ดังนั้น การสร้างโรงงานของ Isuzu ในครั้งนี้ ได้ส่งสัญญาณบวกต่ออุตสาหกรรม ด้วยเหตุที่ Isuzu ไม่มีการสร้างโรงงานในญี่ปุ่นมานานถึง 23 ปีแล้ว 

Mr. Masayuki Murata ผู้อำนวยการ Tochigi Plant กล่าวถึงโรงงานแห่งใหม่นี้ว่า “เป็นโรงงานที่มีความปลอดภัยสูงกว่าโรงงานที่ผ่านมา ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ อีกทั้งยังเป็น Smart Factory ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” โรงงานแห่งนี้ยังได้นำองค์ความรู้ในการผลิตทั้งจากในและนอกญี่ปุ่นมารวมไว้ที่นี่

โดยในขั้นตอนการประกอบเครื่องยนต์นั้น นอกจากการออกแบบระบบที่เป็นคลังข้อมูลของทั้งชิ้นส่วนและวิธีการประกอบแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อเข้ากับเน็ตเวิร์ค เพื่อใช้ในการตั้งหมายเลขเครื่องยนต์ และตรวจสอบว่าเครื่องยนต์ที่ประกอบนั้นใช้ชิ้นส่วนหมายเลขใด ผ่านการทำงานมาจากเครื่องใด ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้โดยง่าย ซึ่งผู้อำนวยการ Murata ได้กล่าวแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “การนำ IoT มาใช้ ทำให้ได้ทั้งความเร็วในการตรวจสอบปัญหาและการแก้ปัญหา อีกทั้งลดอัตราการสูญเสียลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง”

นอกจากนี้ การนำ IoT มาใช้ยังมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งทางบริษัทนั้น มองว่ายานยนต์เชิงพาณิชย์คือ “ยานยนต์ที่ทำงานทุกวัน” หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานได้ ก็จะสามารถสร้างความแตกต่างของสินค้าตนกับบริษัทอื่นได้มากขึ้น โดย Isuzu มีแผนเปิดบริการ “MIMAMORI” บริการด้านการวิเคราะห์การทำงานของยานยนต์จากทางไกล ซึ่งในอนาคตนั้น ทางบริษัทตั้งใจจะพัฒนาบริการนี้ให้สามารถเก็บข้อมูลเพื่อให้สามารถจัดเตรียมชิ้นส่วนที่จำเป็นในการซ่อมแซมได้ ซึ่งหากลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงได้แล้ว ก็จะทำให้รถสามารถทำงานได้มากขึ้น

ส่วนในแง่การลดปริมาณงานนั้น Isuzu ได้ติดตั้ง “ระบบป้องกันการกระเซ็น” ไว้กับสายการผลิต เพื่อป้องกันการกระเซ็นของน้ำมันที่เกิดจากการตัด เพื่อไม่ให้โรงงานสกปรก และใช้สายพานลำเลียงที่มีความสูงน้อยลง เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องปีนบันได ช่วยลดภาระการทำงานให้น้อยลง

โดยผู้อำนวยการ Murata กล่าวว่า การนำระบบ IoT มาใช้ ทำให้จำนวนพนักงานที่จำเป็นในการทำงานลดลงจากเดิมเหลือเพียง 2 ใน 3 อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการได้กล่าวว่า “ยังมีกรณีที่แม้จะเพิ่มจำนวนพนักงานก็ไม่อาจช่วยอะไรได้อยู่” Smart Factory จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น