กล้องดิจิตอล อนาคตที่เปลี่ยนไป

อัปเดตล่าสุด 4 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 1,867 Reads   

กล้องดิจิตอลกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน หลังจากที่เคยก้าวขึ้นมาแทนที่กล้องฟิล์มจนกลายเป็นที่แพร่หลายไปแล้ว แต่ด้วยความคืบหน้าทางเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนในช่วงไม่กี่ปีให้หลังนี้เอง ที่ส่งผลให้ปริมาณกล้องดิจิตอลที่วางจำหน่ายในตลาดลดลงเหลือเพียง 20% จากเดิมได้ในช่วงเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ผลิตส่วนหนึ่งถอนตัวออกจากตลาด หรือทำการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เล็กลง ซึ่งผู้ผลิตจะเลือกดำเนินธุรกิจกล้องดิจิตอลแล้วพัฒนาในด้านใหม่ ๆ ต่อ หรือจะเลือกนำธุรกิจอื่นมาแทนที่นั้น ล้วนแล้วเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจนั้น ๆ ทั้งสิ้น

 

ปิดม่านประวัติศาสตร์ 80 ปี

เมื่อไม่นานมานี้ Canon ได้ประกาศยุติการขายกล้องฟิล์ม “EOS-1v” กล้องฟิล์มรุ่นสุดท้ายของบริษัท ซึ่งเป็นการตัดสินใจจากยอดขายที่ลดลงจากความแพร่หลายของกล้องดิจิทัล และจะเหลือเพียงบริการรับซ่อมบำรุงเท่านั้น ซึ่งเป็นการปิดม่านประวัติศาสตร์กล้องฟิล์มของบริษัทซึ่งดำเนินมาต่อเนื่องกว่า 80 ปี และเปลี่ยนไปขายกล้องดิจิทัลแทนโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ตลาดกล้องดิจิทัลก็เริ่มจะไม่สู้ดีขึ้นมาแล้วเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในช่วง 1 ปีให้หลังมานี้ ที่มีผู้ถอนตัวจากตลาดกล้องคอมแพคหลายราย เช่น Casio ที่ประกาศถอนตัวออกจากตลาด ด้วยยอดขายที่มูลค่าลดลงจากเดิมที่ 1.3 แสนล้านเยนเมื่อปีงบประมาณ 2007 เหลือเพียง 10% อย่างรวดเร็ว, Nikon และ Olympus ที่ประกาศยุติการผลิตกล้องคอมแพคในประเทศจีน และอื่น ๆ

 

ยังพอมีหวัง

แม้สภาพตลาดกล้องดิจิทัลจะไม่สู้ดีนักแต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่ โดยรายงานจาก Camera & Imaging Products Association (CIPA) ระบุว่า ปริมาณกล้องดิจิทัลที่วางจำหน่ายในตลาดในปี 2017 มีจำนวนอยู่ที่ 24,970,000 ตัว มากขึ้นจากปี 2016 3.3% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังยอดตกลงต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นผลจากกล้อง Mirrorless

ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกล้องดิจิทัล แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่า “ปัจจุบันกำลังมีความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมกล้องดิจิทัล เพื่อจะนำตัวเองให้พ้นจากอิทธิพลของสมาร์ทโฟนเกิดขึ้น” เช่น Sony และ Olympus ซึ่งพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า Canon ที่เปิดตัวกล้องไร้กระจกในซีรีส์ “EOS Kiss” ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์หลักของบริษัทเมื่อเดือนมีนาคม ทำให้สามารถคาดหวังกับการเติบโตของตลาดกล้องดิจิทัลหลังจากนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดกล้องดิจิทัลในปี 2017 นั้นยังคงปรากฏอิทธิพลจากเมื่อครั้งแผ่นดินไหวที่จังหวัดคุมาโมโตะให้เห็น จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหลังจากนี้ทิศทางการฟื้นตัวจะเป็นเช่นไร และคาดการณ์ว่าคงเป็นไปได้ยาก ที่จะมีกล้องในตลาดถึง 1 ร้อยล้านตัวต่อปีเหมือนอย่างแต่ก่อน

 

ประเด็นการจัดการ

อีกประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ หากตลาดมีการหดตัวต่อไปแล้ว ผู้ผลิตกล้องดิจิทัลจะมีแนวทางเช่นไร ทำให้เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและพัฒนากล้องกลายเป็นปัจจัยสำคัญ โดย Olympus นั้น แม้จะยุติการผลิตกล้องคอมแพคในจีนแล้ว แต่ประธาน Hiroyuki Sasa ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีด้านรูปภาพที่ได้จากการพัฒนาจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์” อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่แสดงความกังวลว่าการถอนตัวจากตลาดเช่นนี้ จะส่งผลต่อกำลังการผลิตของบริษัทในอนาคตด้วย