2018 ปีแห่งผลสัมฤทธิ์ของยานยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ค่ายรถยนต์ทั่วโลกเริ่มหันหนีจากเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย “น้ำมัน" เพื่อให้สอดรับกับ “การลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ด้วยการปรับแผนมุ่งสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (electric vehicles : EV) โดยปี 2018 นั้นเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการก้าวสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เมื่อหลายค่ายเริ่มเดินหน้าเปิดตัวโมเดลรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ
2018 ปีแห่งผลสัมฤทธิ์ของยานยนต์ไฟฟ้า
ในปี 2018 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าค่ายยานยนต์ทั่วโลกต่างตื่นตัวในการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาเปิดตัวสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น ค่ายซูเปอร์คาร์อย่าง Ferrari และ Porsche ที่หันมาผลิต ซูเปอร์คาร์ไฟฟ้า และค่ายรถอื่นๆ ที่เตรียมตัวเดินหน้าเริ่มต้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังในปี 2018 นี้ อย่าง Mercedes-Benz, Volkswagen, Mitsubishi, Toyota, GLM, Mazda, Honda, Ford, Nissan เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยก็อยู่ในเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน โดยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เปิดตัว “MINE Mobility” รถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบจากฝีมือการออกแบบและพัฒนาของทีม R&D คนไทย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย รถยนต์ไฟฟ้า FOMM รายแรกในประเทศไทย กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า FOMM บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ชูจุดขาย Compact EV Car ของคนรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กที่สุดในตลาด
นอกจากนี้ เรายังจะเห็นการเคลื่อนไหวและการพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าในการใช้งานด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นมีการเปิดตัว รถยนต์ไฟฟ้าพลาสติก "ItoP" ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่เพิ่มอัตราส่วนการใช้พลาสติกมากขึ้น ฝั่ง Funai ก็เริ่มต้นผลิตเรซิ่นสำหรับการตกแต่งภายในรถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าไปบูรณาการสำหรับการใช้งานในด้านสังคมอย่างการพัฒนา สถานีตำรวจเคลื่อนที่ ซึ่งทำหน้าที่ลาดตระเวนภายในตัวเมือง รับจ่ายค่าปรับสำหรับผู้ได้รับใบสั่ง และบริการอื่น ๆ อีกกว่า 30 รูปแบบ หรือยักษ์ใหญ่จากอเมริกาอย่าง Tesla ก็มีการทดลองวิ่งรถกระบะไฟฟ้าแล้ว สำหรับการใช้งานด้านโลจิสติกส์
การพัฒนาแบตเตอรี่ “หัวใจสำคัญ” ของรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีของยานยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาแบตเตอรี่จะต้องถูกพัฒนาควบคู่กันไป การประกาศร่วมธุรกิจเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นมากมาย ในปีที่ผ่านมา เช่น Honda ร่วม GM พัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, Toyota เลือกใช้แบตเตอรี่จาก Panasonic พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในค่ายของตนเอง อีกทั้งยังมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย เพื่อลดการนำเข้าจากญี่ปุ่น และแก้ปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของโลก ส่วนฝั่งตะวันตกอย่าง Tesla ก็ประกาศสร้าง Gigafactory ที่จะเป็นโรงงานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ BMW เองก็มีประกาศเริ่มต้นการประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูงในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ด้าน Mitsubishi ก็มีการลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในไทย กว่า 6 พันล้านบาท เพื่อให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้น
ผุดสถานีชาร์จพลังงานสูง รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
นวัตกรรมสถานีบริการชาร์จพลังงานสำหรับยานพาหนะแบบปลั๊ก-อิน และรถยนต์ไฟฟ้า ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย Porsche ได้เสนอ "สถานีชาร์จพลังงาน" ระบบดิจิทัล รองรับการใช้งานด้วยเครือข่ายระบบดิจิทัล รวดเร็ว ง่ายดาย และครอบคลุมทุกความต้องการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการชาร์จพลังงาน เปิดดำเนินการแล้วในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฟินแลนด์รวมทั้งกำลังจะได้รับการขยายเครือข่ายไปยังประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2018 เป็นต้นไป
ด้าน บริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด ร่วมกับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ChargeNow ขยายเครือข่ายการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด เพิ่ม 3 สถานีใจกลางกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เกษรวิลเลจ และโรงแรมโซ โซฟิเทล แบงค็อก หลังจากที่ได้ติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้ว 2 แห่งที่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ และศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน โดยช่วงปลายไตรมาส 3 ได้ประกาศความพร้อมในการดำเนินการขยายเครือข่ายจุดติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบปลั๊ก-อินไฮบริด (Charging Station) ในเฟสแรก กว่า 63 จุดทั่วประเทศ ใน 3 เครือโรงแรมชั้นนำของเมืองไทย ได้แก่ Marriott International, Minor Hotels และ Hilton เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำอันดับหนึ่งด้านยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ EQ – Electric Intelligence by Mercedes-Benz
สงครามการค้าสหรัฐ- จีน กระทบอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้าวงกว้าง
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนส่งผลกระทบวงกว้างอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา ทั้งต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของเยอรมนี จึงทำให้ค่ายรถเยอรมันได้รับผลกระทบอย่างหนัก สงครามในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลต่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์อีกด้วย ซึ่งญี่ปุ่นมีการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าและส่งไปขายยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก โดยมีรายงานถึงตัวเลขในเดือนตุลาคม เศรษฐกิจญี่ปุ่น ภาคอุตสาหกรรม ร่วง 1.1 % ด้าน Sumitomo Electric พิจารณาย้ายฐานการผลิตสายไฟยานยนต์ออกจากประเทศจีน โดยเล็งตั้งโรงงานในไทยหรือสหรัฐฯ แทน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ สหภาพยุโรป (อียู) ต้องการให้มีการเจรจาพหุภาคีเกี่ยวกับการหารือปรับลด “ภาษีนำเข้ารถยนต์” ระหว่างประเทศผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เพื่อบรรเทาความตึงเครียดสงครามการค้า
“Ghosn Shock” และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ข่าวใหญ่ในปี 2018 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอย่าง การจับกุมตัว Mr. Carlos Ghosn อดีตประธานบริษัท Nissan ที่กลายเป็นประเด็นสร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมวัตถุดิบมีแนวโน้มชะลอการสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์
ปัจจุบัน ค่ายรถทั้งตะวันออกและตะวันตก ต่างเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแบตเตอรี่ที่ยังไม่มีรูปแบบมาตรฐาน ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตวัสดุเป็นอย่างมาก และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ค่ายรถจะสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมาได้ เพื่อให้สามารถจัดระบบซัพพลายเชนได้อย่างเหมาะสม