กินซูชิในอวกาศ

กินซูชิในอวกาศ?

อัปเดตล่าสุด 12 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 1,280 Reads   

การกินซูชิในอวกาศ ฟังดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ ศาสตราจารย์ Hidemitsu Furukawa แห่งคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยยามากาตะ พร้อมด้วยทีมงาน กำลังพัฒนาโครงการอาหารโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์อาหารสามมิติ (3D food printing) เพื่อทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นความจริง พวกเขากำลังสร้างเครื่องพิมพ์อาหารที่สามารถทำงานได้ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งจะเปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารในอวกาศไปอีกขั้น นอกจากนี้ ตัวเครื่องยังจำเป็นต้องมีขนาดเล็กพอที่จะติดตั้งบนยานอวกาศได้ ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคือการสร้างเครื่องพิมพ์ที่มีขนาดเท่ากับกล่องอาหารกลางวัน

Advertisement

ญี่ปุ่น 29 มี.ค. 67 ศาสตราจารย์ Hidemitsu Furukawa กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ สำหรับอวกาศ ว่า “เราใกล้จะเข้าสู่ยุคที่มนุษย์สามารถเดินทางไปอวกาศได้แล้ว  ถ้าเราจะเดินทางเป็นเวลานาน เราต้องคิดว่าเราจะทำอะไรกับอาหารของเรา” 

ห้องปฏิบัติการ Furukawa มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์สิ่งของนุ่ม ๆ หลากหลายชนิดด้วยเครื่องพิมพ์เจล 3 มิติ โดยใช้เจลเป็นวัสดุหลัก และได้มีการเริ่มต้นพัฒนาอาหารอวกาศอย่างจริงจังด้วยเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ มาตั้งแต่ประมาณปี 2562 เป็นต้นมา และในช่วงเวลานั้น ศาสตราจารย์  Furukawa ได้มีโอกาสติดต่อกับบริษัท IHI Aerospace ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มศึกษา Food Tech ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มโดยทีมอาสาสมัครรุ่นเยาว์จากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในวงการอาหาร ด้วยเหตุนี้ ห้องปฏิบัติการ Furukawa จึงได้เริ่มต้นร่วมมือกับบริษัท IHI Aerospace ในปี 2564 เพื่อพัฒนาโครงการอาหารสำหรับอวกาศ โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ

โครงการพัฒนาเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติเพื่อผลิตซูชิในอวกาศนี้ เป็นหนึ่งในความพยายามริเริ่มของบริษัท IHI Aerospace ในการเตรียมพร้อมสำหรับยุคการเดินทางในอวกาศ แม้ว่าในปัจจุบันโครงการนี้จะยังดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ เสมือนกิจกรรมชมรมนอกเวลาเรียน และมีการวิจัยแบบไม่ต่อเนื่อง แต่ศูนย์การผลิตของ IHI กลุ่มเทคโนโลยีการผลิตที่ร่วมงานในโครงการ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลถึงการทำให้ทุกคนสามารถรับประทานอาหารอร่อย ๆ ได้แม้กระทั่งในอวกาศ โดยมองว่านี่เป็น “โครงการริเริ่มที่มองไกลไปข้างหน้า”

ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามวิจัยร่วมกัน พวกเขาได้จัดแสดงเครื่องพิมพ์อาหารสำหรับอวกาศที่งาน Japan Mobility Show จัดขึ้นที่ Tokyo Big Sight ในปี 2023 ด้วยแนวคิดการนำซูชิไปยังอวกาศ  โดยร่วมมือกับผู้ผลิตคามาโบโกะ (แผ่นปลาแปรรูป) และบริษัทอื่น ๆ ในการพิมพ์ซูชิ  โดยใช้เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ ที่มีหัวพิมพ์อิงค์เจ็ท

มหาวิทยาลัยยามากาตะได้พัฒนาเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ หลากหลายรูปแบบ อาทิ แบบใช้สกรู (Screw-Type), แบบเลเซอร์อ่างอาบน้ำ (Laser Bathtub-Type), และแบบเลเซอร์ผง (Laser Powder-Type) ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ขณะนี้ เทคนิคที่เน้นการใช้งานคือการใช้หัวฉีดด้านบน ยิงส่วนผสมที่เป็นเนื้อครีมลงไปแทนที่จะวางหรือซ้อนอาหารที่ขึ้นรูปไว้ด้านล่าง

ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีในการสร้างอาหารในอวกาศ

ศาสตราจารย์ Hidemitsu Furukawa กล่าวถึงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีในการสร้างอาหารในอวกาศว่า การทำซูชิในอวกาศยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอีกมากมาย เช่น การทดสอบการพิมพ์อาหารจริงในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง และการพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการพิมพ์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้จนกว่าจะได้ลองทำจริง เป้าหมายของห้องปฏิบัติการ Furukawa คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างแบบจำลอง รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาอาหารและขั้นตอนอื่น ๆ บนโลก

บริษัท IHI Aerospace ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดขนาดเครื่องพิมพ์อาหารรุ่นปัจจุบันที่มีขนาดเท่าโต๊ะทำงาน โดยมีวิสัยทัศน์ในการสร้างเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติแบบพกพาขนาดเล็ก ประมาณกล่องข้าว  

ศาสตราจารย์ Hidemitsu Furukawa กล่าวเน้นย้ำว่า "การย่อขนาดเครื่องพิมพ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานในอวกาศ" และยังคงมองหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อร่วมพัฒนาโครงการนี้อยู่

#3Dfoodprinter #3Dprinting #lasercook #FoodTech #เครื่องพิมพ์3มิติ #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH