เปิดความคิด Eureka Automation ออกแบบ Special Machine ขุมพลังของโรงงาน Interroll Thailand
เปิดความคิด Eureka Automation ในการออกแบบและสร้างเครื่องจักรเฉพาะทาง (Special Machine) สู่ขุมพลังการผลิตลูกกลิ้งสายพานแบรนด์ดังระดับโลกของโรงงาน Interroll Thailand
นายวิเชษฐ์ เมืองจันทร์ Group CEO บริษัท ยูเรกา ออโตเมชั่น จำกัด และนายไกรสร นาคะพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพูดคุยกับ M Report สำนักข่าวอุตสาหกรรม ถึงเครื่องจักรเฉพาะทางที่ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ พร้อมสำรวจโรงงาน Interroll Thailand ฐานการผลิตหนึ่งเดียวในอาเซียน ณ อมตะซิตี้ ชลบุรี
จุดเริ่มต้นของ Special Machine ที่โรงงาน Interroll Thailand
นายวิเชษฐ์ เปิดเผยว่า เมื่อรับโจทย์ความต้องการแล้ว ต้องกลับมาพิจารณาในข้อกำหนดคุณภาพของชิ้นงาน ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งวิธีการแปรรูปชิ้นงานและปัจจัยในกระบวนการทำงานที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ไปจนถึงการค้นหาสิ่งที่เป็น Pain points ของลูกค้า และทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการหาโซลูชัน ซึ่งสายการผลิตที่โรงงานอินเตอร์โรลดูเหมือนไม่ยากในการออกแบบให้เป็นการผลิดแบบอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงนั้นมีความซับซ้อนซ่อนอยู่ เนื่องจากสินค้าที่เป็น Modular Conveyor Platform นั้นจะผลิตแบบ custom-made ตามสเปกที่ลูกค้ากำหนด ทำให้ชิ้นงานมีความหลากหลายที่เครื่องจักรต้องออกแบบรองรับการผลิตชิ้นงานได้ครอบคลุมทั้งหมด
นายไกรสรเล่าถึงโรงงานเก่าของอินเตอร์โรลซึ่งเดิมทีทำการผลิตแบบกลุ่ม (Batch Production) สายการผลิตถูกจัดตามกระบวนการ จากกระบวนการหนึ่งไปสู่กระบวนการถัดไป เริ่มตั้งแต่ตัดเพลา เจาะรู เซาะร่อง ต๊าปเกลียว และประกอบส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งบางออร์เดอร์อาจมีการข้ามบางกระบวนการ
ด้วยสายการผลิตตามกระบวนการของโรงงานเก่า แม้ว่าจะตอบโจทย์การผลิตสินค้า custom-made แต่ในฝั่งของการควบคุมคุณภาพก็เป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อผิดพลาดของสินค้าก็มักจะผิดทั้งแบตช์ ทำให้ต้องผลิตใหม่ทั้งหมด หรืออาจไม่รู้เลยว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพจนกว่าจะถูกใช้งานแล้วเกิดปัญหาขึ้น
เมื่อถึงโอกาสอันดีในการขยายการลงทุนของอินเตอร์โรลในประเทศไทยในปี 2019 จึงได้ย้ายมายังโรงงานแห่งใหม่ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี บนพื้นที่การผลิต 5,000 ตร.ม. และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า ความต้องการเครื่องจักรอัตโนมัติตามแบบฉบับของโรงงานอินเตอร์โรลในเยอรมนีจึงเกิดขึ้น นอกจากตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจแล้ว ยังคาดหวังที่จะยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ และได้คุณภาพ 100% อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงปริมาณการผลิตแล้วพบว่า การนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าวยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อินเตอร์โรลจึงมองหาผู้ผลิตเครื่องจักรในไทย เพื่อออกแบบและสร้างเครื่องจักรเฉพาะสำหรับสายการผลิตของอินเตอร์โรล ประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้เป็นเครื่องจักรที่ใช้งานง่าย มีความยืดหยุ่น และสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้แม่นยำ
3 โจทย์ใหญ่ในการออกแบบ Special Machine
การพูดคุยระหว่างสองพันธมิตรจึงเกิดขึ้นจนได้เป็นสามโจทย์ใหญ่ในการออกแบบเครื่องจักรนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1. Combine process 2. Tool life management 3. Tool change over และ Error proofing หรือ Poka Yoke
Combine process : รวมหลายกระบวนการในเครื่องเดียว
จากปริมาณการผลิตของอินเตอร์โรลซึ่งเป็นตัวกำหนด Takt time (ความเร็วในการผลิต) และ Cycle time (ความเร็วของเครื่องจักร) ทำให้ยูเรกาออโตเมชั่นออกแบบ Special Machine ที่รวม 5 กระบวนการเข้าด้วยกัน เปลี่ยนรูปแบบการผลิตจาก Batch production คือชิ้นงานผลิตทีละกระบวนการและกองรอจนครบตามจำนวน Batch แล้วจึงเปลี่ยนไปทำกระบวนการถัดไป มาเป็น One Piece Flow ที่ใส่ชิ้นงานผ่านเข้าเครื่องจักรทีละชิ้นต่อ ๆ กันและได้ชิ้นงานสำเร็จออกมาทีละชิ้นต่อเนื่อง
กระบวนการต่าง ๆ ในโรงงานที่ผลิตแบบเดิมต้องทำทีละขั้นตอน มีเครื่องจักรหลายเครื่องและมีผู้ควบคุมเครื่องจักรแต่ละเครื่อง ได้ยกทั้ง 5 กระบวนการมาไว้ในเครื่องเดียว และสามารถผลิตหนึ่งชิ้นแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็วพร้อมคุณภาพ 100%
Tool life management : เครื่องมือต้องมีคุณภาพและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบสำคัญของเครื่องจักรคือ Tooling ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้กัดหรือเจาะที่ตัวชิ้นงาน จำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพเพราะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของชิ้นงานและเครื่องมือนี้จะมีอายุ เกิดการสึกหรอหรือเสื่อมสภาพตามการใช้งาน การใช้เครื่องมือที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพจะทำให้เกิดของเสีย ในทางกลับกัน ถ้าเปลี่ยนเครื่องมือใหม่ทั้งที่ยังไม่หมดอายุ ก็จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ดังนั้นเครื่องจักรจึงต้องมีระบบการเตือนให้เปลี่ยนเครื่องมือใหม่เมื่อหมดอายุ เพื่อรักษาคุณภาพและเกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งานเครื่องมือมากที่สุด
Tool change over และ Error proofing : การเปลี่ยนเครื่องมือและการป้องกันความผิดพลาดด้วยระบบ Poka-yoke
จาก Pain points ของกระบวนการผลิตเดิมที่มีปัญหาในการควบคุมคุณภาพ เช่น เจาะรูไม่ได้ศูนย์ ต๊าปเกลียวไม่ครบ ใส่ชิ้นงานไม่ถูกต้อง หรือ ใส่เครื่องมือผิด เป็นต้น ทำให้ต้องมีการออกแบบระบบ Error proofing หรือ Poka-yoke เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ โดยเครื่องต้องสามารถ Setup เพื่อเปลี่ยนไปผลิตชิ้นงานขนาดต่าง ๆ ได้โดยง่าย ลดเวลาและมีความถูกต้องแม่นยำ เครื่องจักรจึงต้องติดตั้งเซนเซอร์และเขียน Software ควบคุมไว้ เพื่อให้มีระบบป้องกันการทำงานผิดพลาดและสามารถแจ้งเตือนให้ผู้ทำงานทราบความผิดปกติได้ทันที ซึ่งช่วยเป็นอย่างมากในการลดเวลาสูญเสีย และของเสียจากการผลิต
โจทย์ทั้งสามข้อได้ถูกออกแบบเป็น Special Machine ที่ทำงานอัตโนมัติตั้งแต่การตัดเพลา เจาะรู ทำบ่า ลบคม และเป่าเศษผง โดยใช้เซนเซอร์ในการตรวจวัดกระบวนการต่าง ๆ เช่น เครื่องมือตรงกับขนาดชิ้นงานที่จะผลิตหรือไม่ ซึ่งหากไม่ถูกต้องก็จะไม่สามารถเดินเครื่องได้จนกว่าพนักงานจะทำการแก้ไข หรือหากเครื่องมือสิ้นสุดอายุการใช้งานเครื่องก็จะหยุดทำงานและมีข้อความเตือนให้ทราบ จนกว่าพนักงานจะเปลี่ยนนำของใหม่มาใส่แทน ซึ่งเป็นการป้องกันความผิดพลาดในการผลิตได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ แม้เครื่องตัวนี้จะทำได้หลายกระบวนการ แต่ไม่จำเป็นต้องทำครบทั้งหมดทุกกระบวนการ โดยสามารถเลือกกระบวนการที่ต้องการได้ เช่น เลือกทำเฉพาะขั้นตอนเจาะรูและต๊าปเกลียว ซึ่งตอบโจทย์การผลิตสินค้าแบบ custom-made เป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน อินเตอร์โรล ประเทศไทย ใช้งาน Special Machine ซึ่งออกแบบและผลิตโดย ยูเรกา ออโตเมชั่น รวมทั้งหมด 3 เครื่อง รองรับการทำงานกับชิ้นงานที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป
นายไกรสร เปิดเผยว่า ระบบการผลิตของอินเตอร์โรล ประเทศไทย อยู่ระหว่างพัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไลน์การผลิตยังไม่บรรจบกัน และไม่ใช่ระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์
Eureka Automation บริษัท SI สัญชาติไทย ผู้ออกแบบ ผลิต เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ
System Integrator อาชีพใหม่ของไทยที่เกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้ พร้อมกับกระแสของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่กำลังบูมในโรงงานไทย แต่ทว่า “ยูเรกา ออโตเมชั่น” บริษัท SI สัญชาติไทย มีประสปการณ์ในอุตสาหกรรมมา 20 ปีแล้ว และยังส่งออกเครื่องจักรไปยังลูกค้า 15 ประเทศทั่วโลก
นายวิเชษฐ์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของ “ยูเรกา ออโตเมชั่น” มาจากผู้ผลิตและออกแบบเครื่องจักรเฉพาะทาง (Special Machine) ในกระบวนการผลิต ทั้งแบบกึ่งอัตโนัมติ และอัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยเริ่มต้นมีลูกค้าอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก และเมื่อโรงงานต่าง ๆ เริ่มมองหาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ภาระกิจในฐานะ SI ของยูเรกาออโตเมชั่นจึงเริ่มขึ้น และฐานลูกค้าได้ขยายไปยังกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากยานยนต์ เช่น คลังสินค้าในศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานต่าง ๆ ระบบผลิตอัตโนมัติหรือเครื่องจักรในโรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิคส์ และอื่น ๆ
จุดเด่นของยูเรกา ออโตเมชั่น คือ ความรับผิดชอบต่อลูกค้าและเพื่อนทางธุรภิจ งานที่ชำนาญ คือการออกแบบและสร้างเตรื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการประกอบ (Assembly Process) ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 80%, ในกระบวนการทดสอบ (Measurement Testing Process), ในกระบวนการขนย้ายหรือจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Logistics Automation Process), และอื่น ๆ ตามความต้องการของลูกค้าที่ต้อง Customized
รู้จักกับ Interroll ลูกกลิ้งสายพานแบรนด์ดังระดับโลก
Interroll ลูกกลิ้งสายพานแบรนด์ดังระดับโลก ที่เราอาจเคยใช้โดยไม่รู้ตัว โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในการลำเลียงสินค้าต่าง ๆ ในศูนย์กระจายสินค้าอย่างร้านสะดวกซื้อ 7/11 หรือแม้แต่สายพานลำเลียงกระเป๋าเดินทางในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายไกรสร อธิบายว่า ลูกกลิ้งสายพานเหล่านี้เรียกว่า Modular Conveyor Platform (MCP) ซึ่งเป็นระบบสายพานลำเลียงแบบโมดูลาร์ ที่ให้ความยืดหยุ่นในการออกแบบ สามารถนำไปปรับใช้และต่อเดิมได้อย่างหลากหลาย ซึ่ง MCP ก็เหมือนกับตัวต่อที่ติดตั้งง่าย รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้กับ System Integrator ในการออกแบบและติดตั้งระบบลำเลียงเป็นอย่างมาก
อินเตอร์โรลได้เข้ามาก่อตั้งสำนักงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1993 ภายใต้ชื่อ “บริษัท อินเตอร์โรล (ประเทศไทย) จำกัด” โดยในช่วงแรกได้นำเข้าผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายในประเทศ ก่อนจะเริ่มตั้งสายการผลิตโดยเปลี่ยนมาใช้บางชิ้นส่วนจากในประเทศ (Local Content) และได้ย้ายมายังโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ในปี 2019 เพื่อตอบรับแนวโน้มการเติบโตทั้งจาก EEC, ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, และการนำออโตเมชันมาใช้ทดแทนแรงงาน
สำหรับโรงงานอินเตอร์โรลในประเทศไทยนับเป็นฐานการผลิตหนึ่งเดียวในอาเซียน และเป็น 1 ใน 3 โรงงานของภูมิภาคเอเชีย