กะเทาะความคิด สุรพงศ์ ตั้งธราธร แฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ กับ 3 ยุทธศาสตร์ไทยรอด

กะเทาะความคิด สุรพงศ์ ตั้งธราธร แฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ กับ 3 ยุทธศาสตร์ไทยรอด

อัปเดตล่าสุด 7 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 2,731 Reads   

เวลาเดินทางมาจวบจนใกล้สิ้นปี 2020 พร้อมกับการปรับตัวอยู่ร่วมกับวิกฤตโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก การฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่บางส่วนยังไม่สามารถพลิกฟื้นได้ วันนี้ M Report ได้พูดคุยแบบเจาะลึก กะเทาะความคิดของนายสุรพงศ์ ตั้งธราธร ผู้บริหารกลุ่มบริษัท แฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ (Factory Max) ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์, อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลหะ จากหลากหลายแบรนด์คุณภาพทั่วโลก

เศรษฐกิจโลกจะฟื้นเต็มตัว เมื่อเราเดินทางข้ามโลกได้ 

ในปีนี้ แฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากบริษัทอื่น โดยรายได้ลดลงต่ำสุดถึง 50% ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนก่อนเริ่มฟื้นตัวกลับมาทำกำไร และคาดว่าที่สิ้นปีจะมีรายได้ลดลงจากปีที่แล้ว 30% และต้องใช้เวลาอีก 2 ปีจึงจะกลับมามีรายได้เทียบเท่าก่อนหน้าการระบาด

สภาพเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอุตสาหกรรมการบินเป็นปัจจัยหลัก ตราบใดที่การเดินทางข้ามประเทศยังมีอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการเดินทางที่สูง การกักกันโรค และอื่น ๆ ทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ยาก และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีน หรือยารักษาโรคที่ได้ผล น่าเชื่อถือ และเข้าถึงได้

แม้ว่าทุกธุรกิจพยายามดำเนินการภายใต้ข้อจำกัด แต่การทำงานทางไกลด้วยรูปแบบต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการทำงานตามปกติ หากไทยไม่เปิดประเทศให้นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ การฟื้นตัวของธุรกิจในประเทศก็จะทำได้ยาก และยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกฝืดเคืองมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการลดระยะเวลากักตัว หรือหาทางลดต้นทุนในการเดินทาง ซึ่งหากทำได้ เศรษฐกิจไทยก็สามารถฟื้นกลับมาได้อย่างมาก

3 ยุทธศาสตร์ไทยรอด ต้องประคอง SMEs - สินเชื่อดอกถูก - สร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า

สำหรับประเทศไทย การจะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้มีสามเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เรื่องแรกคือทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ SME อยู่ได้ ซึ่งปัญหาขาดสภาพคล่องจะเป็นประเด็นหลัก ดังนั้น ต้องมีการช่วยเหลือเรื่องการเงินที่เข้าถึงได้จริง ยกตัวอย่างเช่นญี่ปุ่นและเยอรมนีได้ออกมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้เอกชนหยุดงานได้ แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะไม่อยู่ในมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่ยังมีหลายสิ่งที่จะทำได้ในการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ยืดเวลาให้เงินในกระเป๋าของผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ได้นานขึ้น เช่น เพิ่มระยะเวลาการเช่าเครื่องจักร ลดดอกเบี้ย

ถัดมาคือการสนับสนุนทางการเงิน ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้ยังมีอัตราสูงเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งสถาบันการเงินต้องยอมรับสถานการณ์และปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งกระดานลงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่มีประวัติดีให้อยู่รอดได้ เพราะถ้าเอกชนอยู่ไม่ได้ก็จะเกิดหนี้เสีย และหากเกิดหนี้เสียจำนวนมากขึ้นในระบบแล้ว สถาบันการเงินก็จะล้มตามไปด้วย

และสุดท้าย ก็คือการเตรียมความพร้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่จากนวัตกรรมที่มีคุณค่า เพื่อตอบโจทย์ New Normal รองรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวัน และการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะออนไลน์

ยืนหยัด ลงทุน และรุกคืบ กับโอกาสใหม่

ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ หลายธุรกิจหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดพนักงาน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ในอีกด้านก็ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดกล้ามเนื้อออกไป และเมื่อเศรษฐกิจฟื้น การสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงทันต่อการฟื้นตัวก็จะเป็นอีกปัญหาที่อาจทำให้เสียโอกาสจนพลาดรถไฟขบวนสำคัญก็เป็นได้ จะเห็นว่าธุรกิจที่อยู่รอดมาอย่างยาวนานมักเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดได้แม้ภาวะแห้งแล้ง ซึ่งในยุคปัจจุบันที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะต้องลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมและโซลูชันใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็เป็นการบ่มเพาะกล้ามเนื้อเหล่านี้ให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อองค์กร และพร้อมสำหรับรุกคืบเมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมา ธุรกิจก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 

และจากวิถีแบบ New Normal ทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสะอาด การลดความแออัด การสร้างระบบอัตโนมัติ สายการผลิตที่ตรวจสอบได้ และ Smart Factory จึงได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าก่อน โดยที่ผ่านมา แม้ประเด็นเหล่านี้จะถูกพูดถึงมาก แต่หลายธุรกิจก็ยังไม่พร้อม การใช้ช่วงเวลาที่ตลาดยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในช่วง 2 ปีนี้ให้คุ้มค่าจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน อิตาลี เยอรมนี และอื่น ๆ ก็มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ในยุค New Normal ซึ่งทางแฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ ก็ได้เรียนรู้จากประเทศเหล่านี้ และเริ่มลงทุนพัฒนาในหลายผลิตภัณฑ์ไปแล้วเช่นเดียวกัน

โดยอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสสูงในยุค New Normal คืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เนื่องจากผู้คนจะใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นตัวช่วยในการทำงานมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ซึ่งตลาดมีมูลค่าสูง รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและยาซึ่งไทยมีความพร้อมจากทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หากมีหน่วยงานวิจัยทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะเติบโตได้ดี

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกส่วนที่มีศักยภาพ เนื่องจากเมื่อคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น การรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะตามมา ในโรงงานต้องมีการเก็บฝุ่น การทำเกษตรที่ไม่ก่อมลพิษ สิ่งต่าง ๆ นี้เองที่จะกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น ปัญหาการเผาไร่นาในไทยที่เกิดขึ้นเนื่องจากรถตัดหญ้ามีราคาสูง ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาให้มีราคาต่ำ เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนที่น่าสนใจคืออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีมูลค่าสูง และในแต่ละปีประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหมให้ต่างประเทศถึงหลายแสนล้านบาท ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนในระยะเวลาหนึ่งแล้วก็เชื่อว่าเราสามารถผลิตได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องได้จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ คือ องค์ความรู้

ในอนาคต ประเทศไทยจะไม่สามารถเอาชนะเวียดนามได้หากไม่ปรับเปลี่ยน เนื่องจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้ด้วยการลงทุนจากต่างชาติ ดังที่เห็นโรงงานจำนวนมากก่อตั้งในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็งของไทยจนเป็นหนึ่งเสาหลักสำคัญ ขณะที่ปัจจุบัน เวียดนามมีข้อได้เปรียบคือตลาดในประเทศที่ใหญ่กว่าไทยถึง 30% ซึ่งยังมีความต้องการบริโภคอีกมาก ประกอบกับการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ไปจนถึงมีท่าเรือน้ำลึก ทำให้เวียดนามสามารถพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นฮับสำคัญได้ ซึ่งเมื่อประกอบกับค่าแรงที่ถูกกว่าไทยแล้ว เวียดนามจึงเป็นเป้าหมายที่น่าลงทุนมากกว่าไทยในมุมมองของต่างชาติ รวมถึงประเทศอื่นอย่างเมียนมา กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ที่ล้วนแล้วแต่จะเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ดีกว่าไทยทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้เอง การพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในไทยจึงจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเห็นภาพในเรื่องนี้ ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ในช่วงหลายสิบปีก่อน จีนเริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน พร้อมกับการเริ่มผลิตสินค้า Made in China เน้นราคาถูก คุณภาพต่ำ ไปจนถึงสินค้าลอกเลียนแบบ ทำให้จีนได้สั่งสมองค์ความรู้ ประสบการณ์ พัฒนาคนและเครือข่ายไปทั่วโลก จนปัจจุบันสินค้าแบรนด์จีนมีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากไทยเริ่มเดินหน้าพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมของตัวเองแล้วก็ย่อมทำได้ในวันหนึ่งข้างหน้าเช่นเดียวกัน ซึ่งแนวนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไทยจะไม่ใช่เป้าหมายการลงทุนของต่างชาติอีกต่อไป

นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้สำคัญอีกส่วนของไทย ทำอย่างไรจึงจะสร้างการเติบโตของรายได้ส่วนนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และรักษาความสมบูรณ์เหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ไปตลอด ควบคู่กับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมก็จะทำให้มีสองเสาหลักสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมั่นคง