อนาคตของ Sony ในอีก 3 ปีข้างหน้า

อัปเดตล่าสุด 23 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 2,795 Reads   

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แผนธุรกิจระยะกลางของบริษัท Sony ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2018-2020 เผยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านเยน  ซึ่งได้มุ่งไปยังธุรกิจเซ็นเซอร์รูปภาพ และคาดว่าจะได้รับรายได้จากการดำเนินงานมากถึง 2 ล้านล้านเยนด้วยกันโดยไม่นับในส่วนของธุรกิจการเงิน โดยจะรักษายอดของสินค้าทำกำไรอย่างโทรทัศน์และเครื่องเสียงให้มั่นคง และลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น แอนิเมชันและเพลง ให้เพิ่มขึ้น

ส่วนของธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์นั้น คาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2020 อยู่ที่ 2 แสนล้านเยน สูงกว่าปีงบประมาณ 2018 ถึง 2 เท่า โดยเน้นไปที่การนำเซ็นเซอร์รูปภาพ และระบบตรวจวัดตำแหน่งและระยะทางเข้าชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก ในขณะเดียวกัน ยังมีแผนทำกำไรจากธุรกิจสมาร์ทโฟนให้ได้ 2 – 3 หมื่นล้านเยนในปีงบประมาณ 2020 ซึ่ง Sony ตั้งใจจะทำให้สำเร็จตามเป้าทั้งหมดนี้ หลังจากที่ทำตามเป้าหมายในปีงบประมาณ 2017 ได้สำเร็จไปแล้ว

เสริมรากฐาน มุ่งสู่ธุรกิจกำไรสูง

Sony อยู่ระหว่างการก้าวสู่การเป็น “ธุรกิจกำไรสูง” ตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ในแผนธุรกิจระยะยาว ซึ่งแผนธุรกิจของ Sony ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2021 และได้เล็งผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันให้เป็นปัจจัยหลักในการทำกำไร ซึ่งในหมวดนี้ประกอบด้วยโทรทัศน์, เครื่องเสียง, กล้องดิจิตอล, แอนิเมชัน, และเพลง โดยแผนธุรกิจนี้ จะเป็นการปูรากฐานที่มั่นคงไปสู่ธุรกิจกำไรสูง หลังจากที่ Sony ประสบปัญหาทางธุรกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

สืบทอดยุคของ Mr. Hirai เล็งกำไรจากสินค้าในชีวิตประจำวันและทรัพย์สินทางปัญญา

CEO Kenichiro Yoshida กล่าวย้ำถึงทิศทางของบริษัทที่ประชุมว่า “พันธกิจของ Sony คือ “KANDO" มีความหมายว่า "ความประทับใจ" ซึ่งความประทับใจนั้น ในมุมของ Sony หมายถึง “สิ่งที่จะเชื่อมผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้ใช้เข้าหากัน” ซึ่งเป็นพันธกิจเดิมตั้งแต่ในสมัยของ Mr. Kazuo Hirai ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

โดย Sony ได้วางแผนใช้ทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ของทางบริษัทในการทำกำไร และเปิดให้ธุรกิจด้านการบริการที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาเหตุมาจากการที่โทรทัศน์ เครื่องเสียง กล้อง และผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ของบริษัทมีมูลค่าเพิ่มสูง และทำกำไรได้มากกว่าที่บริษัทเคยประเมินไว้ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการลงทุนในธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์เพิ่ม เพื่อให้เกิดเป็นกำไรที่มีเสถียรภาพ โดยมีเซ็นเซอร์รูปภาพเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงของธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์ 

ซึ่งเห็นได้ว่า แนวทางของ Sony ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก แต่เป็นการสร้างรากฐานให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้มากถึง 2 ล้านล้านเยน รักษาระดับผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Return On Equity, ROE) ไว้ที่ 10% ขึ้นไป และตั้งเป้าทุนหุ้นสามัญ (Capital Stock) ไว้ที่ 40%

CEO Yoshida กล่าวภายในที่ประชุมว่า “เราจะเน้นความสำคัญไปที่การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น มากกว่าจะสนใจในเรื่องการเติบโตของผลประกอบการ” ซึ่งปีงบประมาณ 2017 ที่ผ่านมานั้น บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1,480,200 ล้านเยน ROE 18% และทุนหุ้นสามัญ 15.6%

ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่นำไปสู่การทำกำไรของ Sony คือทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง Sony มีธุรกิจประเภทนี้แบ่งเป็น 4 หมวด คือ เพลง, ภาพยนต์, แอนิเมชั่น, และเกม ซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิด “Community of Interest” ของ CEO Yoshida 

โดยแนวคิดนี้ มีแก่นสำคัญ คือ การสร้างชุมชนระหว่างครีเอเตอร์และลูกค้า ซึ่งหากสามารถสร้างชุมชนที่ว่านี้ขึ้นมาได้ Sony ก็จะสามารถทำกำไรได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ทางบริษัทได้ตั้งให้สินค้าหมวดโทรทัศน์, กล้อง, และเครื่องเสียง ให้เป็น “Branded Hardware” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของรายได้ของบริษัท และ “สามารถทำเงินได้เป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในหลายมิติ”

ในทางกลับกัน Sony คาดการณ์ว่า ธุรกิจสมาร์ทโฟนจะขาดดุลราว 1.5 หมื่นล้านเยนในสิ้นปีงบประมาณ 2018 หรือเดือนมีนาคม 2019 อย่างไรก็ตาม CEO Yoshida ได้ยกให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของ Branded Hardware และกล่าวแสดงความเห็นว่า “การมีธุรกิจสมาร์ทโฟนแบบครบวงจร และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องไว้ในครอบครองนั้น จะก่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว” และอยากจะเดินหน้าธุรกิจสมาร์ทโฟนต่อ “เพื่อให้เป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง” ก่อนกล่าวปิดท้ายว่า “ไม่มีความคิดเรื่องการขายธุรกิจนี้ออกไปแต่อย่างใด”

เซมิคอนดัคเตอร์ และโอกาสทางธุรกิจผ่านยานยนต์อัตโนมัติ

ในขณะที่ตั้งเป้าทำเงินเพิ่ม Sony ก็ได้เล็งไปยังธุรกิจถัดไป ซึ่งก็คือธุรกิจด้านเซมิคอนดัคเตอร์ ที่เน้นไปยังสินค้าในหมวดเซ็นเซอร์รูปภาพเป็นหลัก ซึ่งบริษัทได้ตัดสินใจเพิ่มเงินลงทุนในหมวดธุรกิจนี้ โดยเป็นผลจากการคาดการณ์ถึงความแพร่หลายของเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติหลังปี 2020 โดย Sony ได้ตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์ เพื่อดันตนขึ้นไปสู่ผู้ครองตลาดอันดับ 1 ของโลก ซึ่ง CEO Yoshida กล่าวว่า “การพัฒนาธุรกิจนี้ โดยเฉพาะในหมวดเซ็นเซอร์ต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้เป็นอันมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพึงกระทำให้กับสังคม และอยากให้กลายเป็นเสาหลักในการอุทิศตัวเพื่อสังคมของบริษัทเรานับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป”

นอกจากนี้ ในส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น หุ่นยนต์สุนัข “aibo” และจอภาพความละเอียด 4K นั้น Mr. Hiroki Totoki CFP บริษัท Sony ได้กล่าวถึงทิศทางหลังจากนี้ว่า “อยู่ระหว่างการนำไปเสนอให้กับธุรกิจงานบริการ ซึ่งปัจจุบันก็มีความคืบหน้าในการทดลองใช้อยู่ด้วย”

รายได้ที่มั่นคง นำไปสู่การรุกตลาดในภายภาคหน้า

ในที่ประชุม CEO Yoshida ถูกตั้งคำถามว่า “ในแผนธุรกิจระยะกลางนี้ มีส่วนใดที่เป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวบ้าง” และคำตอบที่ได้รับคือ “ไม่ได้นำความชอบส่วนตัวเข้ามาใช้ร่วมในการตัดสินใจ และพันธกิจของเรายังคงมุ่งไปที่ “KANDO” ไม่ต่างไปจากเดิม” อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่กล่าวว่า กาวางรากฐานให้แน่นก่อนลงทุนใหญ่ครั้งถัดไปนี้เอง ที่เป็น “ความชอบส่วนตัว” ของ CEO Yoshida 

ซึ่งในแผนธุรกิจระยะกลางนี้เอง ที่เห็นได้ว่า Sony ไม่ได้ทำการลงทุนในภาคธุรกิจใหม่เพิ่มเติมนัก ต่างกับเมื่อครั้ง Seed Acceleration Program (SAP) และหุ่นยนต์มากเลยทีเดียว

นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังมีการกล่าวถึงวิกฤติของ Sony ในช่วงการมาของอินเตอร์เน็ต ที่ขับเคลื่อนผลประกอบการให้ขึ้นถึงจุดพีคในปี 1997 ก่อนที่จะตกลงอย่างมาก จึงส่งผลให้ผลประกอบการของ Sony ในปี 2017 ไม่สู้ดีนัก อย่างไรก็ตาม Sony มองว่า หากจะเน้นไปที่การรักษาตลาดอย่างเดียวมากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้การขยายตลาดชะลอตัวลง และไม่สมกับเป็น Sony อีกด้วย

ในส่วนนี้เอง ที่ CEO Yoshida ได้กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องรุกและรับในเวลาที่เหมาะสม” และการลงทุนเสริมสร้างรากฐานในครั้งนี้เอง ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การรุกตลาดในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรก็ต้องรอดูในอีก 3 ปีข้างหน้า