ญี่ปุ่น ฝึกพนักงานอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพ
การอบรมพนักงานใหม่ คือก้าวแรกที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลากรให้แก่ธุรกิจนั้น ๆ และหลายบริษัท ก็ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนพนักงานใหม่ ในฐานะฟันเฟืองสำคัญของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การอบรมพนักงานอย่างเข้มข้นทันทีที่เริ่มงาน หรือการโฟกัสที่เพียงการบริหารความเครียดเป็นหลัก อาจเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานใหม่ตัดสินใจออกจากงานได้ไม่ยาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการฝึกฝนพนักงานคือ การมีเป้าหมายในการอบรมที่ชัดเจน
ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดที่ลดลง เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานในตลาด และเป็นปัญหาที่หลายธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในทางกลับกัน ตลาดผู้บริโภคซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งนำมาซึ่งการแข่งขันทางด้านทรัพยากรณ์บุคคลที่รุนแรง เนื่องจากความต้องการพนักงานที่มีคุณภาพจากทุกธุรกิจ การบริหารจัดการพนักงานที่ดี เพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะกลาง และระยะยาว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน
Ministry of Health, Labour and Welfare (MHLW) ร่วมกับ Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology, also known (MEXT) ประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า ในประเทศญี่ปุ่น จากสถิติเมื่อเดือนมีนาคม 2019 มีอัตราการจ้างนักศึกษาจบใหม่สูงถึง 97.6% ซึ่งแม้จะลดลงจากปี 2018 เล็กน้อย แต่ก็เรียกได้ว่าสูงมาก และคาดการณ์ว่าจะยังคงรักษาระดับนี้ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ มีถึง 30% ที่ออกจากงานภายใน 3 ปีแรกหลังจบการศึกษา ในขณะที่ผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายมีอัตราการออกจากงาน 40% และผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น มีอัตราการออกจากงานสูงถึง 60%
งานวิจัย Itochu และ Toyota Industries เผย การถ่ายทอดวิสัยทัศน์คือสิ่งสำคัญ
“หลัก 3 ประการ” ของ Itochu
Itochu หนึ่งใน Trading Company ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ทดลองฝึกพนักงานใหม่ด้วยการจัดค่ายอบรมระยะสั้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “หลัก 3 ประการ” ของ Mr. Chubei Itoh ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งประกอบด้วยงาน เพื่อนร่วมงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อฝึกฝนพนักงานให้มีแนวคิดตรงกับความต้องการของบริษัทที่สุด
ในการฝึก ทางบริษัทได้ทดลองนำพนักงานขายที่เข้าร่วม 116 ราย ไปสัมผัสประสบการณ์ในฐานการผลิต และทำงานร่วมกับฝ่ายการผลิตตลอดช่วงเวลาการอบรม รวมถึงทำงานอาสาสมัครตอบแทนสังคมในพื้นที่รอบฐานการผลิต เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจว่า กว่าจะได้สินค้ามาแต่ละชิ้นต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง เพื่อให้พนักงานฝ่ายขายมีความรับผิดชอบในการขายสินค้าของบริษัทให้ได้มากยิ่งขึ้น
จุดกำเนิด “ระบบอัตโนมัติ” ของ Toyota Industries
นับตั้งแต่ปี 2007 Toyota Industries อบรมพนักงานใหม่ ด้วยการให้พนักงานทดลองประกอบแบบจำลองขนาดเล็กของ “Type G automatic loom” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบริษัท Toyota เพื่อให้เข้าใจกลไลของสินค้าที่เป็นต้นกำเนิดบริษัท และแนวคิดของ Mr. Sakichi Toyoda ผู้ก่อตั้งบริษัท
โดย Type G automatic loom ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 1924 และเป็นรากฐานของการออกแบบ และพัฒนาระบบอัตโนมัติของบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งการทดลองประกอบเครื่องจักรด้วยมือตัวเอง ยังเป็นการวางรากฐานที่ดีแก่การทำงานจริงของพนักงานตามแบบฉบับ Toyota Production System อีกด้วย ซึ่งในปีนี้ Toyota ก็จะจัดอบรมเช่นนี้ในเดือนกันยายนเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา
TDK ย้ำ เรียนรู้ทุกขั้นตอน
TDK จัดอบรบพนักงานใหม่ด้วย “คอร์สการผลิต” เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยฝึกฝนผนักงานใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกวัสดุ การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การวางแผนการผลิต การผลิตจริง การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ไปจนถึงการขาย ซึ่งทางบริษัทชี้แจ้งว่า การฝึกพนักงานในทุกกระบวนการ จะช่วยลด Defect ได้ดีที่สุด
โดยในปี 2018 TDK ได้จัดอบรมโดยให้พนักงานใหม่จำนวน 144 รายผลิตนาฬิกาจับเวลา โดยแบ่งพนักงานเป็นกลุ่มละ 6 คน และทดลองผลิตนาฬิกาว่ากลุ่มใดจะจับเวลาได้แม่นยำที่สุด และนำมาเสนอต่อหน้าพนักงานที่เข้ารว่มทั้งหมด ซึ่งทีมผู้ชนะในปี 2018 ได้ออกแบบนาฬิกาที่หลอด LED จะสว่างขึ้นหลังเวลาผ่านไป 3 นาที ซึ่งเป็นนาฬิกาที่มีความแม่นยำสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถผลิตจริงได้ง่าย จึงทำให้ได้รางวัลไปในปีนั้น ซึ่งฝ่าย HR ของบริษัท ได้ชี้แจงว่า การเรียนรู้เช่นนี้ จะช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจในการผลิตมากยิ่งขึ้น
ฝึกฝนผ่าน VR
KDDI นำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) มาใช้ในการฝึกพนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานใหม่ และเด็กฝึกงาน สามารถเรียนรู้การจัดวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำของบริษัทได้ ซึ่งนอกจากจะสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ จากทุกสถานที่แล้ว ยังประหยัดกว่าการใช้หุ่นยนต์ หรือเรือดำน้ำไปตรวจสอบสายเคเบิ้ลจริงเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพลิเคชันอื่น ๆ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ผ่าน VR ให้สูงขึ้น โดยทางบริษัท ให้เหตุผลว่า หากสามารถนำเสนอการอบรมพนักงานให้ดูน่าสนใจได้แล้ว พนักงานก็จะมีความกังวลน้อยลง และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ยกระดับ Service Mind ด้วยการบริการสังคม
Joyo Bank ฝึกฝนพนักงานใหม่ผ่านการปลูกต้นไม้ ซึ่งในปี 2019 พนักงานใหม่ 144 ราย ได้เข้าร่วมปลูกต้นไม้ในจังหวัดที่ตั้งบริษัทรวมแล้วกว่า 800 ต้น
โดยการฝึกพนักงานด้วยการปลูกต้นไม้ของธนาคารแห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2014 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานเข้าใจความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความรับผิดชอบของพนักงานให้ไม่จำกัดไว้ที่หน้าที่ในบริษัท แต่รวมไปถึงสังคมด้วย ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ Service Mind ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก