AAPICO เผย เคล็ดลับสู่การเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดยานยนต์ระดับโลก

อัปเดตล่าสุด 3 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 9,428 Reads   

“ยานยนต์ทุกคันบนถนนในไทย ต้องมีชิ้นส่วนจากอาปิโกอย่างน้อยหนึ่งชิ้น”

หากจะมีบริษัทใดที่กล้าเอ่ยประโยคนี้ออกมาแล้ว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ คงมีคำตอบในใจที่ต่างกันออกไป และนี่คือประโยคที่ Mr. Yeap Swee Chuan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AAPICO Hitech Public Company) และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทอาปิโก้ ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยกล่าวอย่างมั่นใจ ด้วยเป้าหมายการผลิตที่ลดของเสียจนเป็น 0 PPM (Part Per Million) เพื่อคุณภาพของชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ และส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มาดูกันว่าเพราะอะไร อาปิโก จึงกล้าเอ่ยประโยคนี้

Mr. Yeap Swee Chuan, President and CEO of AAPICO Hitech Public Company and Founder of AAPICO Group

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AAPICO Hitech Public Company) ธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เดิมทีใช้ชื่อว่า บริษัท เอเบิล ออโตพาร์ท อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2528 ทำธุรกิจประกอบ และจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับฟอร์ด (Ford) จากนั้นในปี 2539 จึงผันตัวมาเป็น อาปิโก ไฮเทค และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 โดยทำธุรกิจออกแบบ ผลิต และติดตั้งอุปกรณ์จับยึดยานยนต์แบบครบวงจร รวมถึงรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อจัดส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต และประกอบรถยนต์ชั้นนำในประเทศไทย

ปัจจุบัน อาปิโกมีบริษัทย่อยในเครือและบริษัทร่วมทุนเป็นจำนวนมากทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยอาปิโก มีโรงงานผลิต 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหรรมไฮเทค จังหวัด พระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำหลายแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคย เช่นโตโยต้า (Toyota), ฟอร์ด (Ford), อีซูซุ (Isuzu) และอื่น ๆ 

ธุรกิจหลักของอาปีโก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

  1. ธุรกิจการผลิต และจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ (OEM Automotive Parts), อุปกรณ์จับยึดเพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์แบบครบวงจร (Car Assembly Jigs), และแม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูป (Stamping Die) 
  2. ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และศูนย์บริการหลังการขาย
  3. ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยี IoT

 

โดยรายได้ 35% ของอาปิโก มาจากการรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (OEM Automotive Parts) ได้แก่ ชิ้นส่วนพื้นรถยนต์ เหล็กขวาง ตัวค้ำ ตัวยึด แผ่นเหล็ก และชิ้นส่วนปลีกย่อยอื่น ๆ รวมถึงถังน้ำมันเพื่อจัดส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต และประกอบรถยนต์ชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งเป็นชิ้นส่วนโลหะเป็นหลัก แต่จากที่ตลาดชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานยนต์ในไทยมีขนาดไม่ใหญ่นัก ทางบริษัทจึงขยายธุรกิจจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาสู่ชิ้นส่วนพลาสติก ชิ้นส่วนโลหะตีอัดขึ้นรูป (Forging) และกลึงเจียรผิวสำเร็จด้วยเครื่องจักร (Machining) และโครงช่วงล่างรถกระบะ (Frame Components) ซึ่งเป็นอีกจุดแข็งของบริษัทที่มีการทำงานร่วมกันอย่างครบวงจร 

ความสำคัญของการยกระดับบริษัทให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสากล

Mr. Yeap กล่าวต่อถึงความสำคัญของการยกระดับบริษัทให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสากลว่า "ในตลาดโลกนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีสินค้าขายแค่ในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าบริษัทที่สามารถส่งออกชิ้นส่วนได้ ส่งผลให้อาปิโกขยับขยายกิจการ และรวมเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิต ซึ่งกระบวนการผลิตขั้นสูงนับเป็นกุญแจสำคัญในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรม เพื่อที่จะซัพพลายผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและคุณภาพสูงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และประหยัดมากขึ้นไปยังตลาดยานยนต์ทั่วโลกตามแนวคิดแบบลีนของอาปิโก้ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีการส่งออกชิ้นส่วนไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยที่ไม่มีชิ้นงานเสียหาย และมีเพียงตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น ที่อาปิโกยังไม่อาจเข้าไปทำตลาดได้สำเร็จ

และด้วยการตั้งเป้าหมายให้กับบริษัทว่า “Lean & Happy Company” อาศัยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งหากพนักงานมีความสุข องค์กรก็มีความสุข หากองค์กรมีความสุข ประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ จัดส่งได้ตามกำหนดการ ลูกค้าก็จะมีความสุข นำมาซึ่งความสุขของบริษัทเราอีกต่อหนึ่ง โดย Mr. Yeap ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน คือ ความภักดีและความจริงใจ

และคงเป็นเพราะแนวคิดเช่นนี้เอง ที่ทำให้อาปิโกสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และข้ามผ่านช่วงเวลาวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011 จนบริษัทได้รับรางวัล “World Excellence” จากฟอร์ดในปีเดียวกันนั้น

ปี 2019-2020 ขาลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา สถานการณ์ของบริษัทไม่ดีนัก ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์โลก โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 10% ก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการส่งออก ในขณะรายได้ในไทยลดลง 5% เนื่องจากอาปิโกมีความพยายามที่จะขยับขยายธุรกิจไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม Mr. Yeap แสดงความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก เนื่องจากความล้มเหลว เป็นสิ่งจำเป็นต่อความท้าทาย อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการซัพพลายอุปกรณ์จับยึด และแม่พิมพ์สำหรับยานยนต์ให้กับ 15 บริษัท รวมถึง Vinfast ในประเทศเวียดนามอีกด้วย

ส่วนในปี 2020 นี้ Mr. Yeap คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยจะยังคงอยู่ในขาลง เช่นเดียวกับจีน เอเชีย และในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงขาลง ไทยก็ยังเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ที่สำคัญ และเป็นอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด อยู่ที่ประมาณเกือบ 9 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมานี้ ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไม่อาจหยุดลงได้

วิสัยทัศน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

นอกจากนี้ Mr. Yeap ได้เผยวิสัยทัศน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์จะคงอยู่ตลอดไป ซึ่งในไทยเอง อุตสาหกรรมนี้ก็เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการส่งออกจำนวนมาก ผมจึงคิดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็จะยังมีความมั่นคง แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น การมาของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ได้เข้ามาแทนที่เครื่องยนต์สันดาป 100% เนื่องจากค่านิยมของผู้บริโภค คนที่ชอบสัมผัสของเครื่องยนต์ ก็จะยังชอบเครื่องยนต์สันดาปมากกว่า หรือผู้ที่ต้องขับรถเป็นระยะทางไกล ก็คงเลือกเติมน้ำมันแทนการจอดชาร์จไฟเป็นชั่วโมง และคงอีกนานกว่าไทยจะมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย ซึ่งผมคาดว่าในท้ายสุด รถยนต์ไฟฟ้าก็คงเป็นส่วนใหญ่ของตลาดยานยนต์ ในขณะที่อีก 30% เป็นรถยนต์ไฮบริด และอีก 30% เป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”

การมาของรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็จริง แต่โดยหลักแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงคือเครื่องยนต์ ในขณะที่ชิ้นส่วนอื่นราว 80 - 90% จะยังคงเดิมไม่ต่างจากยานยนต์ในทุกวันนี้

“อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความยาก มีความท้าทายสูง ควบคุมคุณภาพยาก ลงทุนสูง อีกทั้งยังจำเป็นต้องลดราคาสินค้าทุกปี จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้”

ส่วนด้านมุมมองที่มีต่อรัฐบาลนั้น Mr. Yeap แสดงความเห็นว่า หากรัฐบาลประเทศใดไม่ดี อุตสาหกรรมประเทศนั้นก็จะไม่ดี พร้อมเล่าถึงการสนับสนุนที่ดี เช่น การผลักดันการส่งออกรถกระบะ เป็นกรณีตัวอย่างว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถส่งออกรถกระบะไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนที่ดี และเชื่อว่า หากมีการสนับสนุนอีกในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็อาจไปไกลกว่านี้ได้

เพราะ 99.9% ยังดีไม่พอ

การที่ยานยนต์ทุกคันบนถนนในไทย ต้องมีชิ้นส่วนจากอาปิโก้อย่างน้อยหนึ่งชิ้น คงพอจะบ่งบอกถึงความสำเร็จของอาปิโก้ได้อย่างดี และนี่คือผลลัพธ์จากนโยบายสำคัญที่ว่า “การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีของเสียเป็น 0 PPM” เนื่องจากในยานยนต์แต่ละคันนั้น คุณภาพชิ้นส่วนทุกชิ้นหมายถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และผู้ใช้ถนนรายอื่น หากมีชิ้นส่วนชำรุดแล้ว ก็อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุ เกิดเป็นความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินได้

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องการ 0 PPM เพราะสำหรับยานยนต์ที่อยู่ในตลาดนับล้านคันแล้ว 0.1% ก็หมายถึงรถเป็นพันคัน ซึ่งผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า รถทุกคันบนถนนในไทย มีชิ้นส่วนอย่างน้อยหนึ่งชิ้นมาจากโรงงานของเราแน่นอน”


 

0 PPM นำสู่การคัดสรรเทคโนโลยี และ TaeguTec ก็เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์

หากจะบอกว่าอาปิโกและแทกูเทค (TaeguTec) รู้จักกันตั้งแต่วันแรกที่เปิดสายการผลิตก็ไม่เกินไปนัก เนื่องจากทางบริษัทเลือกใช้ TaeguTec Cutting Tools ตั้งแต่ก่อนจะมาเป็นบริษัทอาปิโกอย่างในทุกวันนี้ จากที่คอนเซปต์หลักของ TaeguTec Cutting Tools คือ “ลดต้นทุน” ซึ่งตอบโจทย์อาปิโก้อย่างยิ่ง จึงมีการเลือกใช้เครื่องมือตัดเฉือนของแทกูเทคในหลายประเภท ทั้งในรูปแบบการจัดทำโครงการลดต้นทุน (Cost Down Project) และการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยเวลาทำงานที่ลดลง (Line Improvement) 

โดยแทกูเทคสามารถช่วยให้บริษัททำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังได้รับบริการที่ดีผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกรของทั้งสองบริษัทอย่างใกล้ชิด จึงทำให้การสนับสนุนงานแก่อาปิโก้ทำได้อย่างทันเหตุการณ์เสมอ โดยเฉพาะเมื่อไลน์การผลิตเกิดปัญหา ด้วยคุณภาพและบริการทำให้ TaeguTec Cutting Tools ถูกเลือกใช้งานอย่างต่อเนื่องในโรงงานอาปิโก ทั้งงานกลึง, งานเจาะรู, งานกัด, และงานเซาะร่อง 

ในทุกครั้งที่อาปิโกเปิดสายการผลิตใหม่ ทีมงานแทกูเทคจะเข้ามาให้การสนับสนุนตั้งแต่ช่วงทดลองผลิตชิ้นงานตัวอย่าง ทำให้สามารถลดต้นทุนทั้งในส่วนการทดลอง และค่าเครื่องมือตัดเฉือนลงได้อย่างมาก โดยทั้งสององค์กรต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้ว่า ความร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องของอาปิโก้และแทกูเทค ได้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน