เปิดตัว FTIX แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต
ส.อ.ท. จับมือ อบก. ลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมเปิดตัว FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต
วันที่ 21 กันยายน 2565 สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดพิธีลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) ในงาน “ลงมือทำ ลดโลกร้อน : ทางรอด ทางรุ่ง ของโลก ของไทย” Take Climate Action : Save The Earth, Prosper All ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออก ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศ
- ส.อ.ท. ร่วม กฟภ. จับมือพัฒนา Renewable Energy และ Carbon Credit รับเทรนด์โลกใหม่
- RE100 Thailand Club ส.อ.ท. ผนึกกำลัง 19 พันธมิตร ขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติสู่ Carbon Neutrality ในปี 2050
- EXIM BANK เตรียมออก Green Bond หนุนลงทุนพลังงานสะอาด ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. มีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. และ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ จึงเป็นที่มาของการลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตในครั้งนี้
ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลตฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีจะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม FTIX พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต
การจัดงานนี้เป็นไปในรูปแบบของ Green Event โดยมีการควบคุมอุณหภูมิห้องไม่ให้ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จึงขอให้ผู้เข้าร่วมงานงดการใส่สูท และเปลี่ยนมาใส่เสื้อเชิ้ตฮาวายและเสื้อยืดแทน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก “โครงการเซ็นทรัลทำ” ของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากทาง อบก. ในการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนในงานนี้ และได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) หรือ Energy Absolute (EA) และกลุ่มบริษัทซุปเปอร์ เอ็นเนอร์ยี บริจาคคาร์บอนเครดิตรวมกันเป็นจำนวน 260 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งสามารถ Offset หรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการจัดงานนี้ได้ทั้งหมด เพื่อเป็นงานที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral Event อีกด้วย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ภาครัฐ ประสาน ภาคเอกชน ขับเคลื่อนไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน” โดยกล่าวถึง ประเด็นผลกระทบที่ทั่วโลกต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมใหญ่ในเกาหลีใต้ และปากีสถาน โดยที่ประเทศไทยนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก (ประมาณ 0.8% ของโลก) และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด
จากถ้อยแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ.2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608” ทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุง “ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย” หรือ LT-LEDS ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ที่ 40% ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศสามารถดำเนินการได้เอง 30% และการดำเนินงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากต่างประเทศอีก 10%
แนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น
- การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE)
- การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)
- มาตรการทดแทนปูนเม็ด (ปูนไฮดรอลิก) และการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น
- การปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน
- การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานจากขยะ (Waste to Energy-WTE)
- การป้องกันการบุกรุกและทำลายป่า
ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านเทคโนโลยี (3) ด้านการเงินและการลงทุน (4) ด้านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต, (5) ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และ (6) ด้านกฎหมาย
ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่ดำเนินการโดย ส.อ.ท. มีบทบาทสำคัญ ในฐานะที่เป็นระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศ สามารถติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศที่ภาครัฐสามารถนำมาเชื่อมโยงกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ ตลอดจนมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลด GHG ดังนั้น แพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับการใช้กลไกราคาคาร์บอนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าของคาร์บอนเครดิตซึ่งกันและกัน สร้างความโปร่งใส ยุติธรรม และน่าเชื่อถือในระดับสากลของตลาดคาร์บอน รวมทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย “Together Possible” ทุกอย่างเป็นจริงได้เสมอ
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH