สจล. ผนึก กทม. มอบ 3 นวัตกรรมการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ-ห้องความดันลบ-ตู้ตรวจเชื้อ ช่วยผู้ป่วยโควิด-19

อัปเดตล่าสุด 9 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 753 Reads   

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ส่งมอบ 3 นวัตกรรมทางการแพทย์ สู้โควิด-19 ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) และตู้ Swab Test ปลอดเชื้อ ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และคาดว่าหลังจากนั้นจะนำมาใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป  โดย สจล. เตรียมต่อยอดการผลิตและแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ อีกทั้งพร้อมส่งต่อต้นแบบและคำแนะนำในการผลิตนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ในต้นทุนต่ำ ให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่สนใจ นำไปผลิตใช้ได้เองตามความต้องการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ สจล. ยังเปิดระดมทุนบริจาคเพื่อต่อยอดการผลิต และแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 โดยสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งผลิตและแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีความต้องการ โดยล่าสุด สจล. ได้ส่งมอบ 3 นวัตกรรมทางการแพทย์ช่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) และตู้ Swab Test ปลอดเชื้อ ให้แก่โรงพยาบาลสิรินธร สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้ง 3 นวัตกรรมล้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้รักษา และควบคุมปริมาณผู้ติดเชื้อ โดย สจล. เตรียมผลิตนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ศ.นพ. อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) มีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อในปอด ในภาวะฉุกเฉิน อาทิ อยู่ในระหว่างการส่งตัว หรือรอเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล ดังนั้น นวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทีมนักวิจัย และพัฒนานวัตกรรม สจล. จึงมีแนวคิดการผลิตนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) ในปริมาณมาก และในต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 – 10,000 บาทต่อเครื่อง เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยหลักการของเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวได้รับแนวคิดมาจากเครื่องช่วยหายใจชนิดบีบมือ (Ambu bag) ซึ่งทีมนักพัฒนานวัตกรรมได้นำมาประยุกต์ใช้กับระบบควบคุมโดยเมคคานิค ที่สามารถตรวจจับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย และเครื่องจะทำการบีบอัดแรงดันบวกเข้าไปโดยอัตโนมัติ ในจังหวะที่เข้ากับอัตราการหายใจของผู้ป่วย ทำให้การใช้งานมีความง่าย สะดวก และปลอดภัย ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบระดับสูง

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มว่า สจล. โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สจล. ได้วิจัยและพัฒนา ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นห้องปรับความดันอากาศภายในห้องให้เป็นลบ หรือมีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง โดย สจล. มุ่งพัฒนาห้องดังกล่าวเพื่อการผลิตในต้นทุนที่ต่ำลง แต่คงประสิทธิภาพในการใช้งาน เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด–19 ที่เพิ่มขึ้น โดย สจล. ได้ทำการวิจัยและพัฒนาด้วยการเลือกใช้วัสดุทดแทนที่หาได้ภายในประเทศ อาทิ พัดลมอัดอากาศ และระบบกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคแบบกรองอนุภาคขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับวัสดุที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ทำให้ทุนในการผลิตลดลงเหลือราว 150,000 ถึง 200,000 บาทต่อห้อง จากปกติที่ต้องใช้เงินในการผลิตห้องละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ยังเตรียมดัดแปลงห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) ในรูปแบบเคลื่อนที่ได้ (Movable room) เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และสามารถเคลื่อนไปตั้งที่จุดคัดกรองในสถานที่ต่าง ๆ ตามความต้องการใช้งาน

รศ.ดร.คมสัน กล่าวเพิ่มว่า อีกหนึ่งนวัตกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์ คือ ตู้ Swab Test ปลอดเชื้อ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้พัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย โดยตู้ Swab Test ใช้ระบบควบคุมความดันลบภายในห้อง พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ทำให้สามารถควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อขณะแพทย์ทำหัตถการ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้มของผู้ป่วย อีกทั้งมีระบบฆ่าเชื้อทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ โดยแพทย์จะไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง นอกจากนี้ยังมีชุดจ่ายสเปรย์แอลกอฮอล์ และมีหลอด UV ในการฆ่าเชื้อโรค ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ รวมทั้งติดตั้งระบบการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยแบบปลอดเชื้อ โดยทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. พร้อมส่งมอบต้นแบบตู้ดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่สนใจสามารถนำไปผลิตได้เอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่สนใจรับคำแนะนำ และต้นแบบการผลิตนวัตกรรมดังกล่าว สามารถติดต่อสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล [email protected] หรือประชาชนที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี  สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0