BMW opened Additive Manufacturing Campus in Munich as centre for production, research and training

BMW เปิดตัว Additive Manufacturing Campus ต่อยอดสู่อนาคต การผลิตแบบไร้ทูลส์

อัปเดตล่าสุด 1 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 927 Reads   

BMW Group เปิดตัว Additive Manufacturing Campus อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2020 ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ด้วยเงินลงทุน 15 ล้านยูโร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี 3D Printing สำหรับการผลิตยานยนต์ 

Additive Manufacturing Campus แห่งใหม่ของ BMW Group จะรวมการผลิตยานยนต์ต้นแบบและชิ้นส่วนต่าง ๆ ไว้ภายใต้หลังคาเดียวกัน พร้อมกับการวิจัยเทคโนโลยี 3D Printing และการฝึกอบรมสำหรับเปิดตัวการผลิตแบบไร้ทูลส์สู่ทั่วโลก จะส่งให้ BMW ขึ้นแท่นผู้นำด้าน Additive Manufacturing ในอุตสาหกรรมยานยนต์

“Additive Manufacturing นับเป็นส่วนสำคัญในระบบการผลิตของ BMW ทั่วโลก และในฐานะส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ยุคดิจิทัล ในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดระยะเวลาการผลิตให้สั้นลง และช่วยให้เราได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากศักยภาพการผลิตแบบไร้เครื่องมือ (Toolless Manufacturing)”

คำกล่าวของ Milan Nedeljković สมาชิกบอร์ดบริหารฝ่ายผลิต บริษัท BMW AG ในพิธีเปิด Additive Manufacturing Campus และ Daniel Schäfer รองประธาน Production Integration and Pilot Plant แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายของ BMW คือการพัฒนากระบวนการ 3D Printing ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อนำมาผนวกเข้ากับแนวคิดระบบอัตโนมัติแล้ว การผลิตชิ้นส่วนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ทางบริษัทอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายซัพพลายเออร์, ผู้ผลิตยานยนต์, ผู้ผลิตชิ้นส่วน, ฝ่ายจัดซื้อ, และอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

 

l หลายขวบปีแห่งความเชี่ยวชาญและความร่วมมือสู่การพัฒนาเทคโนโลยี

Jens Ertel ผู้อำนวยการ Additive Manufacturing Campus เล่าถึงช่วง 30 ปีที่ผ่านมา BMW ได้พัฒนาทักษะที่ครอบคลุมในหลายด้าน ซึ่งจะยังดำเนินต่อไปภายใต้แคมปัสแห่งใหม่นี้ที่พร้อมด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีล่าสุด มีการพัฒนาและออกแบบชิ้นส่วนประกอบได้รวดเร็วกว่าการผลิตด้วยวิธีการทั่วไป ซึ่งให้ความยืดหยุ่นในการออกแบบรูปทรง และเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานได้มากกว่า โดยปัจจุบัน BMW กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อใช้ประโยชน์จาก Additive Manufacturing (AM) สู่การผลิตยานยนต์ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ยานยนต์ต้นแบบ การผลิตหลังการขาย รวมถึงการใช้ในยานยนต์รถรุ่นคลาสสิคอีกด้วย 

เมื่อปี 2019 กลุ่ม BMW ได้ผลิตชิ้นส่วนด้วย AM ประมาณ 300,000 ชิ้น ปัจจุบัน Additive Manufacturing Campus มีพนักงาน 80 คน ผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกด้วยระบบการผลิตกว่า 50 ระบบ และในโรงงานแห่งอื่นทั่วโลกอีก 50 ระบบ

การเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุดของ BMW นี้เป็นผลจากการได้รับความร่วมมืออันยาวนานกับผู้ผลิตและมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมถึงความสำเร็จจากการเสาะหาผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรม ย้อนกลับไปในปี 2016 BMW i Ventures บริษัทร่วมทุนของกลุ่ม BMW ซึ่งลงทุนในบริษัท Carbon Valley ตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งมีองค์ความรู้ในเทคโนโลยี DLS (Digital Light Synthesis) ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการพลานาร์ (Planar processes) นำสู่การผลิตชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว

ในปีถัดมา 2017 กลุ่ม BMW ได้ร่วมกับ Desktop Metal ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้าน Additive Manufacturing สำหรับชิ้นส่วนโลหะ และได้พัฒนากระบวนการผลิตที่มีนวัตกรรมและมีประสิทธิภาพสูง แต่หลังจากนั้นความร่วมมือกับ Desktop Metal ต้องจบลง ในปีเดียวกัน BMW i Ventures ลงทุนใน Xometry สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำของโลกสำหรับการผลิตแบบ on-demand 

การลงทุนครั้งล่าสุดนั้นเกิดขึ้นใน ELISE สตาร์ทอัพจากเยอรมนี ช่วยให้วิศวกรสามารถผลิต DNA ของชิ้นส่วนประกอบที่มีข้อกำหนดทางเทคนิคทั้งหมดได้ ตั้งแต่การรองรับน้ำหนัก ข้อจำกัดการผลิต จนถึงค่าใช้จ่ายและการตั้งค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม จากนั้น ELISE จะใช้ DNA นี้ควบคู่กับเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อผลิตชิ้นส่วนประกอบนี้โดยอัตโนมัติ 

 

l Additive Manufacturing ในการวิจัยและพัฒนาล่วงหน้า

Additive Manufacturing Campus มีจุดสนใจหลักในการทำห่วงโซ่กระบวนการอัตโนมัติ เพื่อให้การพิมพ์ 3 มิติ ทำได้อย่างประหยัดและทำงานได้มากขึ้น สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมระยะยาว

สำหรับกระบวนการ 3D Printing ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ทางบริษัทฯ แสดงความเห็นว่า จำเป็นต้องมีการวิจัย และพัฒนาอีกมาก และได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อีก 12 บริษัทภายใต้โครงการณ์ Industrialisation and Digitisation of Additive Manufacturing for Automotive Series Production (IDAM) ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลเยอรมัน โดยศูนย์การผลิตแห่งใหม่นี้ BMW ได้ตั้งสายการผลิตตั้งแต่ส่วนการออกแบบ ไปจนถึงการแก้ไขชิ้นงานหลังการผลิต โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน และใช้งานในการผลิตระดับอุตสาหกรรมได้จริง

BMW รายงานว่า ทางบริษัทมีแนวคิดการนำเทคโนโลยี Additive Manufacturing มาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้นแบบตั้งแต่ปี 1991 จนกระทั่งในปี 2010 ที่เริ่มทำการผลิตชิ้นส่วนจำนวนน้อย เช่น ปั๊มน้ำยานยนต์สำหรับรถแข่ง DTM (Deutsche Tourenwagen Meisterschaft) จากนั้นในปี 2012 ได้เริ่มใช้ชิ้นส่วนจาก 3D Printing ในรถหลายรุ่น ได้แก่ Rolls-Royce Phantom, BMW i8 Roadster (2017), และล่าสุดคือ MINI John Cooper Works GP (2020) ซึ่งจะมีชิ้นส่วนจาก 3D Printing อย่างน้อย 4 ชิ้น