มื้อหน้าจากปัญญาประดิษฐ์ Sony ฟุ้งพัฒนา "หุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟ - AI คิดสูตรอาหาร"

มื้อหน้าจากปัญญาประดิษฐ์ Sony ฟุ้งพัฒนา "หุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟ - AI คิดสูตรอาหาร"

อัปเดตล่าสุด 15 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 825 Reads   

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2020 Sony AI บริษัทในเครือ Sony ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์แบบมนุษย์” ได้เลือก “วิทยาการทำอาหาร” เป็นหัวข้อในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ตั้งโครงการ Gastronomy Flagship Project เพื่อใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Inteligence: AI) ร่วมกับองค์ความรู้จากธุรกิจเซนเซอร์ และธุรกิจเกม พัฒนาแอปพลิเคชัน AI ที่สามารถคิดค้นสูตรอาหารใหม่ และหุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำอาหารของเชฟทั่วโลก

แอปพลิเคชันเมนูอาหารจาก AI

การคิดค้นสูตรอาหารเป็นโจทย์ที่ท้าทายขีดความสามารถของ AI เป็นอย่างมาก เนื่องจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่มีอยู่มากมายทั่วโลกสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งรสชาติอาหารจะถูกปากหรือไม่ยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรสนิยม, วัฒนธรรม, ฤดูกาล, หรือกระทั่งสุขภาพของผู้รับประทานอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง Sony AI จึงใช้แหล่งข้อมูลที่ประกอบด้วยรสชาติ, กลิ่น, คุณค่าทางโภชนาการ, โครงสร้างโมเลกุล, และอื่น ๆ เป็นพื้นฐานในการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ขึ้นสำหรับสนับสนุนพ่อครัวแม่ครัวในการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ ๆ ซึ่งทางบริษัทตั้งเป้าว่า นอกจากการคิดค้นอาหารที่อร่อยแล้ว AI ต้องสามารถคิดอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

หุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟ

ถัดจากแอปพลิเคชัน AI คือหุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟ ซึ่งจำลองทักษะของเชฟ เช่น ความเร็ว ความแม่นยำในการประกอบอาหาร โซนี่เชื่อว่า หุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟที่พัฒนาขึ้นนี้จะมีทักษะเพียงพอในการเป็นผู้ช่วยเชฟชั้นนำระดับโลก

โดยการทำอาหารเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การใช้เครื่องมือ ไปจนถึงการตกแต่งจาน ซึ่งโซนี่ได้ร่วมมือกับพ่อครัวระดับเวิร์ลคลาสหลายรายในการฝึกฝนให้ AI ของหุ่นยนต์สามารถช่วยเหลืองานของเชฟได้ โดยอาศัยระบบเซนเซอร์ในการบันทึก และจำลองทักษะของผู้ประกอบอาหารออกมา นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังพิจารณาทำการวิจัยเพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ผู้ช่วยเชฟจากทางไกล รวมถึงการเสิร์ฟอาหารได้อีกด้วย

การริเริ่มร่วมสร้างชุมชน

นอกจาก AI และหุ่นยนต์แล้ว ความก้าวหน้าในการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นได้จากองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของเชฟ โซนี่จึงริเริ่มโครงการประสานความร่วมมือระหว่างบริษัท ศูนย์วิจัย สถาบันการศึกษา จนถึงชุมชนเชฟทั่วโลก เพื่อพัฒนาวงการวิทยาการการทำอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงการระบาดของโควิดให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น