‘รถอีวี’ กระทบ ‘การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์’ อย่างไร?
รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นี่คือเมกะเทรนด์ที่จะกระทบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง
การเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสนับสนุน และอื่น ๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วน โดย Better MRO เครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากรถอีวี ดังนี้
Advertisement | |
1. จำนวนชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลง
ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า คือการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมอเตอร์นั้นมีจำนวนชิ้นส่วนน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปเป็นอย่างมาก และชิ้นส่วนหลายชิ้นในยานยนต์ยุคเก่า เช่น ระบบไอเสีย วาล์ว เพลาข้อเหวี่ยง จะหายไปจากรถอีวี
แนวโน้มนี้ส่งผลกระทบต่อเครื่องมือตัดเฉือนโลหะ (Cutting Tools) เป็นอย่างมาก เนื่องจากตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีมานี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นลูกค้ารายใหญ่ และการที่เครื่องยนต์สันดาปมีชิ้นส่วนจำนวนมาก ทำให้ความต้องการใช้เครื่องมือตัดเฉือนมากขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อจำนวนชิ้นส่วนเริ่มน้อยลง ก็ย่อมหมายความว่าจำนวนผู้เล่นในตลาดย่อมลดลงตามกันไป
โดยข้อมูลจากธนาคาร ING ระบุว่า ระบบส่งกำลังของเครื่องยนต์สันดาปมีชิ้นส่วนราว 1,400 ชิ้น ในขณะที่ระบบส่งกำลังยานยนต์ของรถอีวีมีชิ้นส่วนราว 200 ชิ้น ลดลงจากเดิมมากถึง 86%
ด้วยเหตุนี้เอง การผันตัวมาผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำเป็นต้องปรับตัวตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเป็นชิ้นส่วนเครื่องยนต์เสมอไป แต่อาจรวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์อื่น หรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กล่องแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า พอร์ตชาร์จไฟฟ้า และอื่น ๆ
อีกสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ แม้การผลิตจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เครื่องมือตัดเฉือนก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างไม่แปรเปลี่ยน
2. การผลิตแบบ “เติมเนื้อวัสดุ” จะเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตแบบ “ตัดเฉือนเนื้อวัสดุ” จะลดลง
แม้ที่ผ่านมา การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ หรือ Additive Manufacturing จะถูกใช้ในการผลิตชิ้นงานต้นแบบเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในภาคอุตสาหกรรมในด้านความอิสระในการผลิตและการออกแบบ ซึ่งเครื่องจักรและกระบวนการผลิตซึ่งแบบตัดเฉือนเนื้อวัสดุแบบที่แล้วมาไม่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ได้ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มนำ 3D printer มาใช้ในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้น
ซึ่งการนำ 3D printer มาใช้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ นั้นสามารถช่วยลดขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงได้เป็นอย่างมาก ทำให้ซัพพลายเชนมีความรวดเร็วมากกว่าเดิม และหนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของ Additive Manufacturing ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ คือขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนน้ำหนักเบา ซึ่งสอดคล้องไปกับความต้องการลดน้ำหนักรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย Additive Manufacturing ยังรองรับการผลิตชิ้นส่วนน้ำหนักเบาแต่มีความทนทานจากวัสดุอื่น ๆ เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนจำนวนน้อยอีกด้วย
3. ความต้องการชิ้นส่วนที่มีคุณภาพมากขึ้น
ที่ผ่านมา เทคโนโลยีในการผลิตชิ้นส่วนนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่ต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามในยุคของรถอีวี การใช้วัสดุใหม่ ๆ เริ่มมีความแพร่หลาย ซึ่งวัสดุเหล่านี้เอง ที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องการเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น หรือต้องพึ่งพากระบวนการผลิตรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป มักมีน้ำหนักสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป เนื่องจากจำเป็นต้องติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก นำมาซึ่งความต้องการลดน้ำหนักชิ้นส่วนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่มากขึ้นไม่ได้แก้ไขได้ด้วยการลดน้ำหนักยานยนต์เท่านั้น แต่ยังต้องการชิ้นส่วนที่ทนทานขึ้นด้วย เช่น จานเบรคที่สามารถรับน้ำหนักของรถอีวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การผลิตชิ้นส่วนที่ทนทานมากกว่าที่ผ่านมานั้นต้องใช้วัสดุที่เปลี่ยนไปจากเดิม นั่นหมายถึงวัสดุที่ตัดเฉือนได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อะลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์ หรือ CFRP และอื่น ๆ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องการเครื่องมือตัดเฉือนที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความทนทานมากขึ้น เช่น PCD Cutting Tools เครื่องมือตัดเฉือนที่มีส่วนประกอบจากเพชรสังเคราะห์ (Polycrystalline Diamond) จึงสามารถช่วยให้การผลิตชิ้นส่วนมีความคุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องมือตัดเฉือนทั่วไป
นอกจากนี้ เมื่อความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว ความต้องการผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งมีความต้องการใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจไม่จำกัดแค่ชิ้นส่วนยานยนต์ แต่อาจรวมถึงชิ้นส่วนรถไฟ, เครื่องจักรทางการเกษตร, หรือแม้แต่ชิ้นส่วนอากาศยาน
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH