เทคโนโลยี VR ใกล้ใช้จริงในอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์

เทคโนโลยี VR ใกล้ใช้จริงในอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2563
  • Share :

เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ถูกจับตา เมื่อผู้ผลิตสื่อบันเทิง และซอฟต์แวร์ 3D นำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ จำลองโรงงานและสายการผลิตให้พนักงานเข้าถึงได้ เพื่อใช้อบรม หรือตรวจสอบก่อนติดตั้งจริง ตอบโจทย์การลดสัมผัสจากยุคโควิด-19

การใช้ VR ตรวจสอบใต้เครื่องจักร

Kento Nakashima ประธานบริษัท 360Channel ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายการ Virtual Reality รายใหญ่จากญี่ปุ่น แสดงความมั่นใจถึงเทคโนโลยี VR จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทางบริษัทฯ ได้จัดส่ง Head Mount Display (HMD) จำนวน 100 เครื่องให้กับบริษัทโลจิสติกส์ได้ทดลองใช้ ซึ่งเบื้องต้นได้ถูกทดลองใช้ในการอบรมพนักงาน เพื่อให้สามารถทดลองปฏิบัติงานได้จากทุกสถานที่

“ในการเรียนรู้ทักษะใหม่นั้น แน่นอนว่าการเรียนอย่างเดียวไม่อาจทำให้เชี่ยวชาญได้เท่าการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการปฏิบัติจริงนั้นทำได้ยากจากการระบาดของโควิด ไปจนถึงข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น ไม่มีโอกาสได้ทดลองทำในสิ่งที่เรียนมา ซึ่งเทคโนโลยี VR สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้ออกแบบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไว้มากถึง 600 กรณี”

แนวทางเช่นนี้ แม้จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าการปฎิบัติจริง แต่ก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง และยังสามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การฝึกฝนพนักงานในสายการผลิต, การอบรมพนักงานในร้านแฟรนไชส์ต่างสาขาเพื่อให้คุ้นเคยกับสถานที่, ไปจนถึงการทำงานทางไกลอีกด้วย

iVoRi 360 โปรแกรมฝึกอบรมพนักงานที่ปรับแต่งเองได้จาก Pocket Queries

Pocket Queries ผู้ให้บริการเทคโนโลยี VR ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นหลายราย รายงานว่าทางบริษัทฯ ได้ร่วมกับโรงงานต่าง ๆ จัดทำหลักสูตรอบรมพนักงานระยะสั้น พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นซึ่งสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของผู้ใช้ และจากการทดลองใช้งานพบว่า วิศวกรในสายการผลิตและคลังสินค้า สามารถจำลองตำแหน่งเครื่องมือต่าง ๆ ออกมาเป็นโรงงานจำลองได้ในระยะเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้น

โดยใช้กล้อง 360 องศาในการเก็บภาพภายในโรงงาน ซึ่งวิศวกรสามารถเขียนคำอธิบาย ไปจนถึงเครื่องหมายต่าง ๆ ลงในโรงงานจำลองนี้ได้ และสำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีอุปกรณ์ HMD ก็สามารถตรวจสอบผ่านแท็บเล็ตได้เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงแต่การอบรมพนักงานเท่านั้น เทคโนโลยี VR ยังได้ถูกนำไปใช้ในการทำงานทางไกลอีกด้วย เนื่องจากมาตรการป้องกันโรค ทำให้สายการผลิตในปัจจุบันไม่อาจใช้พนักงานจำนวนมากเท่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนสายการผลิตในทันทีเป็นเรื่องยาก VR จึงสามารถตอบโจทย์ด้วยการให้พนักงานทดลองทำงานในสายการผลิตใหม่ที่ออกแบบไว้ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของสายการผลิตใหม่ได้ ซึ่ง Tokyo Engineering Service ผู้ให้บริการเทคโนโลยี 3D และ CAD/CAM แสดงความเห็นว่า “โควิดได้สร้างโอกาสใหม่ให้เทคโนโลยี VR ในอุตสาหกรรมที่ไม่เคยวาดภาพมาก่อน”

โดยทางบริษัท ได้ใช้โปรแกรม 3D จำลองสายการผลิตขึ้น แล้วพัฒนาต่อเป็นคู่มือการทำงาน ซึ่ง Masaoki Takasaki หัวหน้าแผนกการตลาด รายงานถึงผลตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันมีผู้ติดต่อเข้ามาพูดคุยเรื่องการติดตั้ง VR ในโรงงานเพิ่มขึ้น 

ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ทางบริษัทฯ แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ต้องระวังในการนำเทคโนโลยี VR มาใช้คือต้นทุน เนื่องจากหากไม่มีการวางแผนที่ดีว่าจะนำมาใช้อย่างไร ก็อาจทำให้ต้องเสียงบประมาณเกินความจำเป็น โดยเสนอว่า แผนกออกแบบของบริษัทที่มีความสามารถในการทำโปรแกรม CAD ก็สามารถจำลองโมเดลของเครื่องจักร แล้วส่งให้ลูกค้าเป็นคู่มือการใช้งานได้

Mr. Masato Suzuki ประธานบริษัทแสดงความเห็นว่า เทคโนโลยี VR สามารถนำมาใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ในการทดสอบสินค้าเบื้องต้นก่อนเริ่มผลิตต้นแบบ, ใช้ในการสนับสนุนลูกค้าด้วยการบำรุงรักษาเครื่องจักรทางไกล, ใช้ในการเสนอขาย, ไปจนถึงใช้ในการอบรมบุคลากร ซึ่งข้อดีคือข้อมูลเหล่านี้ สามารถอัปเดตให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา

Mr. Kento Nakashima เสริมว่า อุปกรณ์ VR จะมีราคาถูกลงในอนาคต ขณะที่ซอฟต์แวร์จะมีให้เลือกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ใช้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่มีสาขาในต่างประเทศ หรือมีบุคลากรจำกัด ซึ่งการใช้ VR เข้ามาช่วยก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและช่วยประหยัดเวลาได้เป็นอย่างดี