แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อัปเดตท้ายปี 2020

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อัปเดตท้ายปี 2020

อัปเดตล่าสุด 1 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 810 Reads   

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกในปีนี้ ทำให้งานจัดแสดงสินค้าเครื่องจักรกลที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็น JIMTOF 2020 Online และจะกลับมาจัดงานในรูปแบบเดิมในปี 2022 ทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (Japan Machine Tool Builders’ Association หรือ JMTBA) จึงได้ร่วมให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ดังนี้

Mr. Yukio Iimura ประธานสมาคม JMTBA และประธานบริษัท Shibaura Machine 

“งาน JIMTOF ปีนี้เปลี่ยนมาจัดแบบออนไลน์ ทำให้ผู้ขายเครื่องจักรสามารถวิเคราะห์ความพึงพอใจของลูกค้าได้ยาก และมองว่างานจัดแสดงสินค้าแบบเดิม ๆ จะยังไม่หายไป แต่กลายเป็นพัฒนาควบคู่กันไปแทน

สำหรับภาคอุตสาหกรรมในยุคไบเดนนั้น คาดการณ์ว่าสงครามการค้าจะยังไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม แนวทางการผลักดันมาตรการสิ่งแวดล้อมของนายไบเดนจะทำให้เกิดการชะลอตัวของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ความต้องการเครื่องจักรในอุตสาหกรรมเหล่านี้ลดลง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดสหรัฐในภาพรวม

โดยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าตลอดปี 2021 และต้องเฝ้าระวังแนวทางการเมือง และการระบาดระลอกที่สองต่อไป”

Mr. Masahiko Mori รองประธานสมาคม และประธานบริษัท DMG MORI

“การจัดแสดงสินค้าออนไลน์มีข้อดีคือสามารถแสดงข้อมูล และรายละเอียดต่าง ๆ เช่น โครงสร้างภายในของเครื่องจักร ซึ่งทั่วไปไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ อีกทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นได้อีกด้วย เช่น การให้วิศวกรรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับสื่อดิจิทัลทำคลิปอธิบายสเป็คเครื่องให้ลูกค้า ไปจนถึงการนำเสนอสินค้าที่ถูกคัดเลือกอย่างเหมาะสมกับลูกค้าแบบรายต่อราย จึงเชื่อว่าหลังจากนี้ งานจัดแสดงสินค้าจะต่างไปจากเดิม เนื่องจากผู้สนใจสามารถเลือกรับชมข้อมูลก่อนเข้าร่วมงานจริงได้


ในมุมความเคลื่อนไหวหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าในยุคของนายไบเดน แต่ละประเทศจะมีแนวทางการพึ่งพาซัพพลายเชนในประเทศมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับผลกระทบจากแนวทางนี้เป็นอย่างมาก ส่วนสงครามการค้าจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเลือกว่าจะเน้นตลาดใด เนื่องจากทั้งสองประเทศจะมีช่องว่างของเทคโนโลยีน้อยลง และมีความต้องการเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าในอนาคต จีนเองก็จะให้ความสำคัญกับนโยบายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ทำให้เครื่องจักรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่คาดหวังได้

ส่วนในอนาคตหลังจากนี้ แน่นอนว่าเครื่องจักรจะต้องมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น การควบคุมที่ทำได้ละเอียดขึ้น และจะต้องคาดเคลื่อนไม่กี่ไมโครเมตรเท่านั้น จึงเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีคุณสมบัติการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล และระบบควบคุมเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพจะถูกผลักดัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรกล”

Mr. Yoshiharu Inaba รองประธานสมาคม และประธานบริษัท Fanuc

“การขายสินค้าออนไลน์แบบงาน JIMTOF อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าอย่างมาก และผู้ผลิตก็สามารถแนะนำข้อมูลสินค้าใหมได้ทุกเวลา และง่ายดายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่ลูกค้าไม่คุ้นเคยนั้น ช่องทางออนไลน์ยังไม่เหมาะสม จึงควรเลือกใช้ตามชนิดสินค้าที่ต้องการนำเสนอ

ในด้านสงครามการค้าจะดำเนินต่อไปไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นว่าหลังการเลือกตั้ง ทิศทางของเศรษฐกิจโลกจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ส่วนมุมมองต่อเทคโนโลยีนั้น บริษัทฯ พลิกกลับมาเติบโตได้ในเดือนกันยายนเป็นต้นมาจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, รถยนต์ไฟฟ้า, และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีด้านความเร็วและความแม่นยำได้เปรียบ จึงคาดการณ์ว่าในอนาคต IoT และ AI จะมีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะตอบได้ว่า 5G จะมีบทบาทสำคัญหรือไม่”

Mr. Yasuyuki Yamaoka รองประธานสมาคม และประธานบริษัท Kanzaki Kokyukoki Manufacturing

“การขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้การเปรียบเทียบสเปคเครื่องจักรทำได้ง่ายมาก และอำนวยความสะดวกต่อลูกค้าได้เป็นอย่างดี 


ในด้านประธานาธิดีไบเดนนั้น มองว่าจะไม่เพียงกระทบแค่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงด้านอื่น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังอีกมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นโอกาสของผู้ผลิตเครื่องจักรกลนับจากนี้

โดยคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวจะไม่ใช่กราฟตัววีอย่างแน่นอน แต่จะค่อยเป็นค่อยไป และเชื่อว่าเทคโนโลยี AI, IoT, เซนเซอร์, และ 5G จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิต และคุณภาพสินค้าในอนาคตเป็นอย่างมาก รวมไปถึงเทคโนโลยีสำหรับการควบคุมเครื่องจักรทางไกลอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตเครื่องจักรเปลี่ยนบทบาทจากการขายสินค้า ไปสู่การขายโซลูชันอัตโนมัติเพื่อการผลิตสินค้าคุณภาพแทน”

Mr. Tomohisa Yamazaki รองประธานสมาคม และประธานบริษัท Yamazaki Mazak

“งาน JIMTOF ปีนี้ มีผู้จัดแสดงสินค้าน้อยกว่างาน IMTS ของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลของญี่ปุ่นที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ อย่างชัดเจน 

สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจยุคนายไบเดนนั้น เชื่อมั่นว่านายไบเดนจะเดินนโยบายป้องกันโควิดอย่างเข้มแข็ง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงของตลาดเครื่องจักรกลและการลงทุนในระยะยาวที่คาดหวังได้ ซึ่งคาดว่ากราฟจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว W คว่ำ

โดยเชื่อว่า Digital Transformation จะเป็นกุญแจของสายการผลิตแห่งอนาคต เทคโนโลยีสารสนเทศจะกลายเป็นเทรนด์หลักในการออกแบบเครื่องจักร ไปจนถึงการติดตั้ง AI ในเครื่อง CNC หรือการจำลองโรงงานเป็นข้อมูลดิจิทัลด้วย Digital Twin” 

Mr. Kenichi Nakamura รองประธานสมาคม และประธานบริษัท Nakamura-Tome

“ญี่ปุ่นมีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลก็จริง แต่ยังไม่เชี่ยวชาญด้าน IT และซอฟต์แวร์ ทำให้การขายในงาน JIMTOF ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขจุดอ่อนเพื่อให้ญี่ปุ่นยังสามารถแข่งขันในยุคที่ AI และ 5G เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมได้

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิดีสหรัฐฯ นั้น เชื่อว่าหากนายไบเดนเข้ารับตำแหน่งแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างนายไบเดนกับรัฐบาลจีนจะเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมาตรการต่อไต้หวัน ซึ่งมีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีการแจกจ่ายวัคซีนอย่างจริงจัง เศรษฐกิจก็จะยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนี้เองที่ผู้ผลิตสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ด้วยการนำเสนอโซลูชันต่าง ๆ โดยเฉพาะ Smart Factory ที่ช่วยให้การผลิตมีความต่อเนื่อง”