Green steel คือ เหล็กกล้าจากกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

Green Steel คืออะไร?

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 4,788 Reads   

“Green Steel” เหล็กกล้าจากกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หนึ่งในทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม

เหล็กกล้า เป็นวัสดุสำคัญที่ถูกใช้ในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กกล้ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก 

ในขณะเดียวกัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกำลังมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปลอยก๊าซเรือนกระจกเพื่อก้าวสู่ยุคของความเป็นกลางทางคาร์บอนนำมาสู่ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซจากกระบวนการผลิตเหล็กกล้า ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า “Green Steel” คือหนึ่งในทางออกของปัญหานี้

Advertisement

Green Steel คืออะไร?

Green Steel หรือ เหล็กกล้าสีเขียว ก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีคำว่า “Green” นำหน้า คือ เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในกรณีของ Green Steel เองก็เช่นกัน โดยรายงานในหัวข้อ “Green Steel คืออะไร และจะช่วยให้เราไปถึงเป้า Net Zero ได้อย่างไร” ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) นิยามว่า Green steel คือ เหล็กกล้าจากกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

รายงานระบุว่า หนึ่งในทางเลือกในการผลิต Green Steel คือการใช้ “Green Hydrogen” หรือกระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างกระบวนการผลิต หรือการใช้เตาหลอมไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เตาหลอมไฟฟ้าไม่จำเป็นใช้พลังงานหมุนเวียน ทำให้เหล็กกล้าที่ผลิตจากเตาหลอมไฟฟ้าอาจไม่ใช่ Green Steel เสมอไป

WEF อ้างอิงข้อมูลจาก Mitsubishi Heavy Industries (MHI) ว่า แม้ไฮโดรเจนจะเป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริง และการเผาไหม้ไฮโดนเจนซึ่งมีผลพลอยได้เป็นน้ำนั้นสามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เป็นอย่างมาก และหากไฮโดรเจนที่ใช้ผลิตขึ้นโดยวิธีอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) ซึ่งใช้เพียงน้ำและพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนแล้ว จะทำให้ไม่เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยสิ้นเชิง

อุปสรรคในการผลิต Green Steel 

อย่างไรก็ตาม การผลิต Green Steel ยังคงมีอุปสรรคอยู่ โดย MHI แสดงความเห็นว่า แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีเพื่อการผลิต Green Steel จะเพียบพร้อมแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญคือปริมาณ และการจะผลิตเหล็กกล้าสีเขียวนี้ได้ก็ต้องใช้ Green Hydrogen หรือการผลิตไฮโดรเจนที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำอย่าง “Blue Hydrogen” ปริมาณมหาศาล

นอกจากนี้ NGO Global Energy Monitor ยังรายงานว่า มีเพียง 31% ของการผลิตเหล็กกล้าในปัจจุบันเท่านั้นที่ผลิตจากเตาหลอมไฟฟ้า ในขณะที่โรงหลอมเหล็กซึ่งกำลังก่อสร้างมีเพียง 28% เท่านั้นที่จะใช้เตาหลอมไฟฟ้า ทำให้จำเป็นต้องมีการเพิ่มปริมาณการใช้เตาหลอมไฟฟ้าเสียก่อน

ทั้งหมดนี้ หมายถึงการจะผลิต Green Steel หรือเหล็กกล้าได้โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้น จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลไปกับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง ArcelorMittal ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของยุโรป เปิดเผยกับ Financial Times ว่า การจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของอียู ต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Green Steel ไปถึงไหนแล้ว

แม้ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนเสนอแนวคิดนี้เป็นครั้งแรก แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า Green Steel ที่ถูกผลิตขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรก ผลิตโดย Hybrit บริษัทร่วมทุนสัญชาติสวีเดนที่เกิดจากการร่วมทุนของ SSAB, LKAB และ Vattenfall โดยมีลูกค้ารายแรกคือ Volvo ซึ่งได้เริ่มจัดส่งตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2021

ปัจจบัน Green Steel ของบริษัท Hybrit ยังอยู่ในกระบวนการทดลองผลิต ที่เมือง Lulea ทางตอนเหนือของสวีเดนในโรงงานต้นแบบที่ปราศจากการใช้ถ่านหิน และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Full Commercial Production) ได้ภายในปี 2026 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในสวีเดนได้มากถึง 10%

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่วางแผนผลิต Green Steel อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น H2 Green Steel ที่มีแผนสร้างโรงหลอมเหล็กกล้าพลังงานไฮโดรเจน และคาดการณ์ว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2024

 

#GreenSteel #เหล็กกล้าสีเขียว #สิ่งแวดล้อม #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH