เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รุกคืบสู่ภาคเกษตร

เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รุกคืบสู่ภาคเกษตร

อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 2563
  • Share :
  • 1,546 Reads   

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าเกี่ยวพันในหลายภาคส่วนอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ภาคอุตสาหกรรมจึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้ไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิง และอื่น ๆ อีกมาก รวมถึงภาคเกษตรกรรม ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ได้คาดการณ์ถึงการนำเทคโนโลยีจากยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ร่วม และจะมีการเติบโตอย่างดีในยุโรป อเมริกาเหนือ และจีน

นับตั้งแต่ปี 2010 Ehime University ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินหน้าพัฒนารถแทรกเตอร์ไฟฟ้าร่วมกับ Iseki ผู้ผลิตเครื่องจักรกลกางเกษตรรายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น เนื่องจากเล็งเห็นว่าในอนาคต รถแทรกเตอร์จะต้องเลิกใช้เครื่องยนต์สันดาปเช่นเดียวกับยานยนต์ พร้อมคาดการณ์ว่ายุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น จะกลายเป็นตลาดสำคัญของเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ โดยพิจารณาจากนโยบายจูงใจด้วยการลดภาษีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

Komatsu และ Hitachi Construction Machinery ได้แสดงความเห็นตรงกันในจุดนี้ โดยย้ำว่า การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของนายไบเดน จะทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกากลับมาเดินหน้าต่อได้ ซึ่งหากสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสแล้ว จะทำให้เทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทั้งสองบริษัทได้ร่วมพัฒนารถขุดระบบไฟฟ้าเพื่อตอบสนองแนวทางนี้

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเครื่องจักรกลการเกษตรต้องการกำลังเครื่องสูงกว่ายานยนต์เป็นอย่างมาก ซึ่ง Mr. Shirou Tomiyasu ประธานบริษัท Iseki แสดงความเห็นว่า หากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีในปัจจุบันแล้ว เครื่องจักรที่ใช้ในการทำไร่จะต้องการแบตเตอรี่ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงกว่าของนิสสัน Leaf ถึง 4 เท่า จึงจะสามารถใช้งานจริงได้ ซึ่งปัญหานี้ได้กลายเป็นปัญหาคอขวดของผู้ผลิต ด้วยการพัฒนาแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องใช้งบประมาณสูงกว่าเครื่องยนต์ดีเซลเป็นอย่างยิ่ง

ความคืบหน้าล่าสุดในการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ทาง Ehime University ประสบความสำเร็จในการพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงรถแทรกเตอร์ได้ถึง 70% อย่างไรก็ตาม การชาร์จไฟหนึ่งครั้ง สามารถทำงานได้เพียง 1 ใน 3 ของการใช้เครื่องยนต์ปกติเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง ทางมหาวิทยาลัยจึงเล็งเห็นว่า การจะให้เครื่องจักรการเกษตรแพร่หลายได้นั้น นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว การชาร์จไฟด้วยความเร็วสูง หรือสถานีชาร์จที่สามารถติดตั้งในพื้นที่ไร่นาได้โดยง่าย ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ควรศึกษาเช่นเดียวกัน