หุ่นยนต์บริการ ‘ให้เช่า’ ธุรกิจใหม่มาแรง เจาะตลาดร้านอาหาร การแพทย์

อัปเดตล่าสุด 10 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,338 Reads   

แน่นอนว่าหุ่นยนต์มีข้อดีมากมาย ทั้งคุณสมบัติในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และการทำงานอัตโนมัติ แต่ในปัจจุบัน การนำหุ่นยนต์ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากหุ่นยนต์ส่วนมากยังไม่อาจทำหน้าที่ได้หลากหลายนัก จึงไม่เหมาะสำหรับงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ระบบภาพและเซนเซอร์ ที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ่นยนต์มีการขยายตัวขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคงานบริการแล้ว การลงทุนหุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้เอง ที่ทำให้เห็นชัดว่าหุ่นยนต์บริการมีความจำเป็น แต่ผู้ประกอบการไม่พร้อมจะจัดซื้อ โมเดลธุรกิจหุ่นยนต์ให้เช่า (Robot as a Service: RaaS) จึงถูกยกมาพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้

New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) คาดการณ์ว่า ในปี 2035 มูลค่าของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในตลาดโลกจะมากกว่าปัจจุบัน 2.1 เท่า และหุ่นยนต์บริการจะมากกว่า 4.8 เท่า ซึ่งเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และตลาดที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น

ตลาดหุ่นยนต์บริการที่มีแนวโน้มการขยายตัว ประกอบด้วยการใช้งานในสำนักงาน, โลจิสติกส์, ก่อสร้าง, ร้านอาหาร, ภัตตาคาร, และสถานพยาบาล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่า ตลาดจะโตขึ้นถึง 2.6 เท่าในปี 2025

ประหยัดงบซ่อมบำรุง อัปเดตได้ทันท่วงที

จากที่ผู้ผลิตหุ่นยนต์เล็งเห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารจะมีความต้องการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต ในขณะที่หุ่นยนต์ยังเป็นเรื่องใหม่และไกลเกินเอื้อมสำหรับคนกลุ่มนี้ เนื่องจากขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์อยู่มาก ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์หาทางออกเพื่อสนองตอบความต้องการนี้ ด้วยการเสนอแพคเกจหุ่นยนต์ให้เช่ารายเดือน ซึ่งผู้ขายจะรับผิดชอบการซ่อมบำรุง และเปลี่ยนหุ่นยนต์ใหม่ได้ทันทีที่มีรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด รวมถึงนำเสนอเทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้หุ่นยนต์ทำงานได้เองมา ทำให้ดึงดูดตลาดกลุ่มนี้ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความต้องการจัดซื้อแทนการเช่าในภายหลังจากการได้ทดลองใช้งาน 

Mr. Taiki Sato COO บริษัท Connected Robotics ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับร้านอาหารค่ายญี่ปุ่น เล่าว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ร้านอาหารหลายร้านไม่อาจเปิดบริการได้ ร้านที่เปิดได้ก็ชะลอการลงทุน แต่ความต้องการหุ่นยนต์ยังคงมีอยู่ และมั่นใจว่าธุรกิจหุ่นยนต์ให้เช่า จะสามารถตอบโจทย์นี้ได้

Mr. Hiroya Nakano ประธานบริษัท QBIT Robotics ธุรกิจ System Integrator จากญี่ปุ่น รายงานว่า ในช่วงโควิด ลูกค้าหลายรายของบริษัทยื่นเรื่องขอชะลอคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม หลังนำเสนอโมเดลให้เช่าแล้ว พบว่ามีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

Mr. Hiroya Nakano ประธานบริษัท QBIT Robotics สาธิตการใช้หุ่นยนต์เทเบียร์ในร้านอิซากายะ

ส่วนในทางการแพทย์นั้น หุ่นยนต์ให้เช่าก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ทางไกล (Telehealth) เพื่อช่วยในการควบคุมโรค ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การลุงทุนหุ่นยนต์ก็ยังเป็นเรื่องใหม่มาก และเมื่อเทียบกับการซื้อเครื่องมือแพทย์โดยตรงแล้วอาจไม่คุ้มค่า แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ตาม ทำให้โมเดลการเช่าหุ่นยนต์เข้ามาตอบรับในจุดนี้ 

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับช่วงโควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่ปกติแล้ว อุตสาหกรรมการแพทย์ในญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อสำหรับบุคลากรทางแพทย์ และผู้ป่วยทั่วไปก่อนเข้ามาในสถานพยาบาล, หุ่นยนต์รับแขก, หุ่นยนต์ทำความสะอาด, และหุ่นยนต์บริการสำหรับผู้ป่วยกายภาพบำบัด

อ่านต่อ: ยอดขายหุ่นยนต์บริการ (Service Robot) ในตลาดโลก ปี 2018