การผลิตเครื่องดื่ม, ชาเขียว Ito En, เบียร์ Kirin

ทั้งชาเขียว Ito En และเบียร์ Kirin เผย ไม่ใช่แค่การผลิตเครื่องดื่ม

อัปเดตล่าสุด 2 ต.ค. 2563
  • Share :

หนึ่งในอุปสรรคของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม คือปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลพวงจากการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร สังคมผู้สูงอายุ และปัญหาการขาดผู้รับช่วงธุรกิจการเกษตร เหล่านี้ส่งผลต่อความมั่นคงของซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยตรง และเมื่อผนวกกับการตกต่ำของราคาวัตถุดิบจากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรมีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จึงทวีความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ

บริษัทชาอิโตเอ็น (Ito En) ที่โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นเครื่องดื่มชาเขียวที่ขายดีอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น และ Kirin Brewery Company ผู้ผลิตเบียร์ Kirin สัญชาติญี่ปุ่นที่จัดจำหน่ายไปทั่วโลก ได้มีแนวทางการแก้ปัญหานี้อย่างไร 

บริษัทชาอิโตเอ็น (Ito En)เครื่องดื่มชาเขียวที่ขายดีอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น 

Ito En เป็นหนึ่งในบริษัทที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาวัตถุดิบ โดยในเดือนสิงหาคม 2020 ทางบริษัทได้ร่วมกับ AKITASEICHA ผู้ผลิต และแปรรูปใบชา ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่ที่ถูกทิ้งร้างในจังหวัดชิซุโอกะให้กลายเป็นไร่ชา โดยทำสัญญาว่า AKITASEICHA จะรับผิดชอบการปลูกใบชาให้ได้ตามมาตรฐาน และ Ito En จะต้องรับซื้อใบชาทั้งหมดที่ถูกปลูกขึ้นจากไร่แห่งนี้

“Oi Ocha” แบรนด์น้ำชาจาก Ito En ที่ใช้ใบชาจากเกษตรกรท้องถิ่นถึง 35% เป็นวัตถุดิบ

Ito En เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ประสานงานร่วมกับภาครัฐ ในการขออนุญาตเข้าปรับปรุงพื้นที่ทิ้งร้าง และรับซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดรับตั้งแต่ปี 2001 ซึ่ง Mr. Koichi Ueda ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร เล่าว่า การเข้าพัฒนาพื้นที่เป็นเหมือนการเริ่มธุรกิจใหม่จากศูนย์ เนื่องจากที่แล้วมาเป็นการประสานความร่วมมือกับธุรกิจอสังหา ไม่ใช่เกษตรกรโดยตรง

Mr. Koji Akita จากบริษัท AKITASEICHA เล่าว่า ในจังหวัดชิซุโอกะมีพื้นที่ไร่นาถูกทิ้งร้างจำนวนมาก เนื่องจากมีเกษตรกรล้มเลิกอาชีพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะสามารถเข้าไปใช้งานได้ ความร่วมมือจากภาครัฐซึ่งรับหน้าที่ประสานงานกับเจ้าของที่ดินจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อแนวทางนี้เป็นอย่างยิ่ง 

ไร่ชาของ AKITASEICHA ผู้ผลิตและแปรรูปใบชา

โดยในการเข้าใช้พื้นที่เหล่านี้ นอกจากพัฒนาพื้นที่แล้ว Ito En ยังต้องรับผิดชอบการสนับสนุนเทคโนโลยี และองค์ความรู้ในการผลิตให้กับเกษตรกรอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าจะมีสัญญาผูกมัดให้บริษัทเป็นผู้ซื้อเพียงรายเดียว แต่เนื้อหาสัญญาก็ครอบคลุมไปถึงการจ้างงาน และการพัฒนาทักษะของเกษตรกรให้สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การยกระดับสินค้าในประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวมได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ใบชาที่ซื้อจากเกษตรกรที่ Ito En เข้าปรับปรุงพื้นที่ให้มีสัดส่วนราว 35% จากใบชาทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในอนาคต 

Mr. Koichi Ueda เล่าว่า อีกปัญหาหนึ่งของเกษตรกรคือเครื่องจักร เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วแม้หลายพื้นที่จะมีไร่นาจำนวนมาก แต่หลายแห่งนั้นเป็นไร่นาที่มีเจ้าของคนละคนแต่อยู่ติดกัน ซึ่งเมื่อเจาะลึกลงไปแล้วพบว่าไม่ใช่เกษตรกรทุกรายจะมีกำลังซื้อเครื่องจักร ทำให้แม้จะมีพื้นที่ทางการเกษตรมากแล้วจะหมายถึงมีผลผลิตเยอะเสมอไป

Kirin Brewery Company ผู้ผลิตเบียร์ Kirin สัญชาติญี่ปุ่นที่จัดจำหน่ายไปทั่วโลก 

อีกบริษัทที่มีแนวทางใกล้เคียงกัน โดยบริษัท Kirin เริ่มประสานความร่วมมือกับเกษตรกรตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งทำร่วมกับธนาคาร Norinchukin Bank จัดตั้งบริษัท “BEER EXPERIENCE” เพื่อสนับสนุนการปลูกฮอปในจังหวัดอิวาเตะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตฮอปขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ การเพิ่มผลผลิต และพัฒนาสายพันธุ์

บริษัท Kirin แสดงความเห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ความนิยมในคราฟต์เบียร์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ซึ่งหากสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นที่ต้องการได้ ก็จะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างรายให้แก่ประเทศและเกษตรกรได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารของญี่ปุ่นรายอื่นที่มีแนวทางใกล้เคียงกัน อาทิ Kagome ผู้ผลิตน้ำมะเขือเทศรายใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ทางบริษัทได้ร่วมมือกับ NEC นำเสนอเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งทำงานผ่านดาวเทียมสำหรับการตรวจสอบผลผลิตบนระบบคลาวด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในยุโรป เพื่อให้บริการที่ปรึกษาแก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถปรับปรุงการผลิตได้อย่างเหมาะสมผ่านการคำนวนปริมาณน้ำ และปุ๋ยที่มีความแม่นยำ เพื่อให้สูญเสียผลผลิตน้อยลง ซึ่งปัจจุบันบริการนี้มีลูกค้าจากหลายประเทศ เช่น สเปน และโปรตุเกสให้ความสนใจ รวมไปถึงมีแผนเข้าทำตลาดในอิตาลี และสหรัฐอเมริกาในอนาคต

แนวทางเหล่านี้ หากนำมาใช้ในประเทศไทยเพื่อยกระดับทั้งอุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมากทีเดียว และยังให้ความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอีกด้วย