คนไทย 31% ‘เลือกรถ BEV’ เป็นรถคันถัดไป
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็ว ซึ่งผู้บริโภคในไทยมีความเห็นและความสนใจในรถยนต์ไฟฟ้าอย่างไรบ้าง ติดตามได้ ในบทความนี้
ดีลอยท์ ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวนกว่า 26,000 คนจาก 24 ประเทศทั่วโลก ในระหว่างเดือนกันยายน ถึงตุลาคม 2565 เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคยานยนต์ รวมถึงความสนใจของผู้บริโภคในการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้า การรับรู้แบรนด์ และเทคโนโลยีขั้นสูง เป้าหมายโดยรวมของการศึกษาประจำปีนี้คือการตอบคำถามสำคัญที่สามารถช่วยบริษัทจัดลำดับความสำคัญและวางตำแหน่งกลยุทธ์ทางธุรกิจและการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนกว่า 6,000 คน ครอบคลุมประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคคนไทยประมาณ 1,000 คน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยรายงาน Global Automotive Consumer Study ฉบับปี 2023 เจาะลึกความสนใจของผู้บริโภคในการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ยังคงเป็นทางเลือกหลักของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้บริโภคในไทยมากถึง 36% มีแนวโน้มที่จะเลือกรถยนต์ ICE เป็นรถคันถัดไป
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไทยที่ร่วมตอบแบบสอบถาม ตอบว่าจะเลือกรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นพาหนะคันต่อไปมากถึง 31% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
สาเหตุอันดับหนึ่งที่คนไทยเลือก BEV เป็นรถคันถัดไป คือ ต้องการลดการใช้จ่ายด้านราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนเหตุผลอันดับสอง คือ ประสบการณ์การขับขี่ และอันดับสาม คือ การบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า
คนไทยที่มีแนวโน้มซื้อรถ BEV จำนวน 41% คาดหวังให้รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ 300 - 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง และมากถึง 64% ที่ยอมรับกับการชาร์จไฟที่ 10 - 60 นาที
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจจะใช้ BEV เป็นรถคันต่อไปยังคงมีความกังวลเช่นกัน โดยความกังวลอันดับหนึ่ง คือ สถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งผู้บริโภคชาวไทยที่ตอบแบบสอบถามมากถึง 48% มีความกังวลต่อเรื่องนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน ตามด้วยเวลาในการชาร์จ 46% และความกังวลว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าจะแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป 45%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 78% ยังยินยอมจะพิจารณาการซื้อรถยนต์คันใหม่หากเครื่องยนต์สันดาปภายในสามารถใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ผู้บริโภคในอาเซียนยังเห็นตรงกันว่าต้องการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านมากที่สุด แต่หากเป็นการชาร์จไฟในพื้นที่สาธารณะ พบว่า คนไทย 51% ต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถอีวีโดยเฉพาะ ถัดมา คือ คนไทย 26% ต้องการชาร์จไฟในปั๊มน้ำมันทั่วไป และต้องการชำระค่าบริการการชาร์จไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนมากถึง 67% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน
นอกจากนี้ คนไทยมากถึง 91% ต้องการเลือกรถมือหนึ่งเป็นรถคันต่อไป โดยจะตัดสินใจเลือกซื้อจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ 64% คุณสมบัติของรถ 49% และภาพลักษณ์ของแบรนด์ 37%
ดีลเลอร์ยังคงเป็นทางเลือกที่กลุ่มตัวอย่างลูกค้าคนไทยให้ความไว้วางใจมากที่สุด โดยเฉพาะกับรถมือหนึ่ง ซึ่ง 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกใช้บริการบำรุงรักษารถจากศูนย์บริการมาตรฐาน
ส่วนรถมือสอง 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้บริการศูนย์บริการหลังการขาย ซึ่งตอบโจทย์ด้านราคา และความสะดวกสบาย
ในอนาคต ยานยนต์จะมีการเชื่อมต่อมากขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับยานยนต์ด้วยกัน ไปจนถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้งจากค่ายรถไปจนถึง Third Parties
โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยอนุญาตให้รถเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีเหตุผลอันดับหนึ่ง คือ ยินยอมให้เชื่อมต่อเพื่อรับคำแนะนำสำหรับแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง โดยมีสัดส่วนที่ 86% รองลงมา คือ การอัปเดตระบบและรายงานสถานะของรถ 85% การแนะนำเส้นทางขับขี่ที่ปลอดภัย และการประเมินราคาซ่อมบำรุงจากนิสัยการขับขี่ 84%
สำหรับข้อมูลที่คนไทยยอมรับได้ในการให้รถแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเชื่อมต่อ ได้แก่ ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เช่น ดวงตา ใบหน้า ลายนิ้วมือ และข้อมูลจากเซนเซอร์ต่าง ๆ
และหากต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อการเชื่อมต่อ คนไทยเลือกที่จะจ่ายตามการใช้งานจริง 49% ในขณะที่เลือกจ่ายรายเดือน 26% และเลือกจ่ายครั้งเดียวเมื่อซื้อรถ 25%
คุณมงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานแยกย่อยออกไปในหลาย ๆ มิติ มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคจะเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว”
ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ Clients & Markets Manager ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ และผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังจะเปลี่ยนไป”
“อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งปัจจัยด้านราคาพลังงาน เทคโนโลยี และความต่อเนื่องของการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดต่อไป” คุณมงคล สมผล กล่าวทิ้งท้าย
#รถยนต์ไฟฟ้า #รถอีวี #EV #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH