10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ

อัปเดตล่าสุด 29 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 4,558 Reads   

หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาและเร่งติดตั้งโครงสร้างเครือข่าย 5G ทำให้ในบางพื้นที่ได้มีการทดลองใช้เทคโนโลยี 5G นี้แล้ว เช่นเดียวกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จึงเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต ที่ทำให้หลายฝ่ายได้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ผ่านการใช้งานจริง และจะเป็นตัวเร่งให้ 5G เกิดขึ้นจริงเร็วยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน สร้างประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อย่างที่ IHS Markit คาดการณ์ว่า ในปี 2035 เครือข่าย 5G จะนำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 13.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  และในเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา ทาง World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำสมุดปกขาว (white paper) เรื่อง “ผลกระทบของ 5G: การสร้างคุณค่าใหม่สู่อุตสาหกรรมและสังคม” เผยแพร่ พร้อมหยิบยก 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้พร้อมรองรับการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G และใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพต่อไป 

ระบบ 5G เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่จะเปลี่ยนโลก ซึ่งได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1980 คาดว่า เทคโนโลยี 5G จะปรับปรุงเครือข่ายมือถืออย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อและโต้ตอบได้มากขึ้น การเชื่อมต่อข้ามเครือข่ายจะปลดล็อกศักยภาพที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ  

โครงสร้างเครือข่าย 5G นำมาซึ่งคุณสมบัติหลัก 5 ข้อ ได้แก่

1. Enhanced mobile broadband (eMBB): เพิ่มศักยภาพการรับ-ส่งข้อมูล (สูงสุด 10 Gbps) นำไปใช้ในการให้บริการบรอดแบนด์ไร้สาย การให้บริการ Real-time Augmented Reality เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) แอปพลิเคชันด้านโดรนและ Mixed reality รวมถึงธุรกิจ content streaming

2. Ultra-reliable low latency communication (uRLLC): การใช้งานที่ต้องการความสามารถในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วง (latency) ในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที (ระบบ 4G ในปัจจุบันรองรับความหน่วงเวลาในระดับ 10 มิลลิวินาที) ซึ่งความสามารถนี้ทำให้ระบบ 5G เหมาะกับการใช้งานระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ ยานยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น

3. Security: ความปลอดภัยสูงนำสู่การเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้ สนับสนุนการใช้งานที่ไม่ต้องการให้เกิดข้อผิดพลาด รวมถึงงานที่ต้องการความแม่นยำสูง

4. Massive-Machine Type communications (mMTC): การใช้งานที่มีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน โดยมีปริมาณมากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร โดยการส่งข้อมูลของอุปกรณ์ในการใช้งานลักษณะนี้ จะเป็นการส่งข้อมูลปริมาณน้อย ๆ ที่ไม่ต้องการความเร็วสูง ซึ่งความสามารถนี้ทำให้ระบบ 5G เหมาะสมกับการทำงานของอุปกรณ์จำพวก IoT

5. Power efficiency: ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโครงข่ายนำมาซึ่งต้นทุนที่ถูกลงและการเชื่อมต่อ IoT จำนวนมาก

 

5G Case Study: 10 ตัวอย่าง นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบความสำเร็จ

1.  Bright Machines

Photo: Bright Machines

ธุรกิจซอฟต์แวร์ และหุ่นยนต์ ซึ่งนำเครือข่าย 5G มาใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ซิมุเลชัน จำลองการตั้งค่าในไลน์ประกอบหุ่นยนต์จริงด้วยคอมพิวเตอร์  จากการทดลองที่โรงงานอเมริกาเหนือ พบว่าสามารถลด Part Per Million (PPM) ลงได้ถึง 88% ลดระยะเวลาการผลิต 33% ต่อหนึ่งชิ้นงาน และลดจำนวนพนักงานในสายการผลิตได้ 50% 

2. Delair

Photo: Delair

ผู้ผลิตอากาศยานไร้คนขับสัญชาติฝรั่งเศส เปลี่ยนข้อมูลทางกายภาพเป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับบริหารจัดการ ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดความเสี่ยงด้วยการรับส่งภาพวีดิโอแบบเรียลไทม์ ลดค่าใช้จ่ายในการบิน และเพิ่มผลผลิต

3. Nokia 

Photo: Nokia

ที่ผ่านมา โรงงานในเมืองโอลู ประเทศฟินแลนด์ ของบริษัท Nokia ใช้สายแลน (Lan Cable) ในการเชื่อมต่อเครื่องจักรกลเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนสายการผลิต จะเกิดค่าใช้จ่ายในการเดินสายใหม่ทุกครั้ง Nokia จึงนำคุณสมบัติของ 5G มาใช้กับหุ่นยนต์ลำเลียง พัฒนาระบบลำเลียงวัสดุอัตโนมัติ ซึ่งทำให้สามารถรับส่งชิ้นงานระหว่างสายการผลิตได้โดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว

4. Starsky Robotics

Photo: Starsky Robotics

ผู้พัฒนารถบรรทุกไร้คนขับ ซึ่งนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เชื่อมต่อรถบรรทุก คลังพัสดุ และทางด่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดความต้องการ และภาระของคนขับ ด้วยการให้คนขับรถนั่งควบคุมรถบรรทุกจากออฟฟิศแทนได้ นำมาซึ่งความปลอดภัยที่มากขึ้นหากประสบอุบัติเหตุ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าของคนขับ

5. Airobotics

Photo: Airobotics

ผู้ผลิตโดรนเพื่องานอุตสาหกรรม ใช้เทคโนโลยี 5G มาผนวกกับโดรนอัตโนมัติ สำรวจไซต์งานเพื่อให้การรับส่งข้อมูลรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจสอบไซต์งานทางอากาศ รวมถึงการตรวจจับ และวิเคราะห์ข้อมูลภาพ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ

6.  Schneider Electric

Photo: Schneider Electric

นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ที่โรงงาน Le Vaudreuil เพื่อเพิ่มผลผลิตด้วยการทำงานทางไกลจากผู้เชี่ยวชาญ และใช้ AGV ในการรับส่งภาพ และข้อมูล เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าควบคุม AGV ให้ทำงานอื่น ๆ นอกเหนือจากที่โปรแกรมไว้ได้ตามต้องการ รวมถึงสามารถพาผู้สนใจเยี่ยมชมโรงงานผ่านระบบ VDO ได้

7.  DataProphet

Photo: DataProphet

ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ประสบความสำเร็จในการนำ AI, 5G, Machine Learning, และระบบโดรน มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน ซึ่งลูกค้ารายงานว่า ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณชิ้นงานต้องทิ้งให้เหลือ 0% และช่วยลดค่าใช้จ่ายในไลน์เชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ได้ 120,000 - 140,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

8. Volocopter

Photo: Volocopter

ผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ไฟฟ้าซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อให้เป็นระบบแท็กซี่ ได้นำ 5G มาร่วมใช้ในการพัฒนา พบว่าเทคโนโลยีเครือข่าย อาจทำให้การพัฒนาแท็กซี่บินได้แบบไร้คนขับ สามารถใช้งานได้ภายใน 1-3 ปีข้างหน้านี้

9. Ericsson

Photo: Ericsson

ร่วมกับ AT&T, FOX Sports, Fox Innovation Lab และ Intel ทดลองถ่ายทอดสดการแข่งขันกอล์ฟเมื่อปี 2018 พบว่าสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วถึง 300 Mbps ซึ่งสูงกว่าความต้องการขั้นต่ำสำหรับภาพ HD เป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่า 5G จะทำให้มูลค่าในตลาดการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นอีกราว 5 เท่าในปี 2023

10. Pymetrics

Photo: Pymetrics

แพลตฟอร์มบริการจัดหางาน ซึ่งนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผู้สมัครด้วยการทำแบบทดสอบออนไลน์ เพื่อให้ระบบ Machine Learning ทำการศึกษาทักษะของผู้ใช้แทนการตรวจสอบเรซูเม่ และสัมภาษณ์งานออนไลน์ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหาพนักงานได้ 25% ลดเวลาที่ใช้ได้ 75% และเพิ่มอัตราการจ้างงานที่ตรงกับความต้องการได้ถึง 2 เท่า

 

อ่านเพิ่มเติม: