แนวโน้มเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ CEATEC 2022

ส่องเทรนด์ล่าสุด 'ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์' จากงาน CEATEC 2022

อัปเดตล่าสุด 20 ต.ค. 2565
  • Share :

เทรนด์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งอนาคตจากงาน CEATEC ผู้ผลิตญี่ปุ่นเดินหน้าพัฒนาชิ้นส่วนประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไร้สัมผัส รองรับ Metaverse และยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ

“CEATEC 2022” งานจัดแสดงเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศ และการสื่อสารครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ได้เปิดม่านงานวันแรกขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งในงานครั้งนี้ได้ยกให้สังคมแห่งอนาคต (Society 5.0) เป็นหัวข้อสำคัญ โดยนำเสนอโซลูชันที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคม ทั้งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การป้องกันโรคระบาด และปัญหาอื่น ๆ

นอกจากนี้ อีกแนวโน้มที่พลาดไม่ได้ คือ "การประหยัดพลังงาน" ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับเทรนด์นี้ ทั้งการลดขนาดชิ้นส่วนให้เล็กลง เพิ่มอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด

Advertisement

ยกตัวอย่างเช่น Nippon Chemi-Con ได้พัฒนาคอนเดนเซอร์ (Condenser) ยานยนต์ ด้วยการออกแบบโครงสร้างแบบไฮบริดจากพอลิเมอร์นำไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ ทำให้ชิ้นส่วนที่ได้มีน้ำหนักเบาลงจากผลิตภัณฑ์รุ่นก่อนถึง 90%

Japan Aviation Electronics Industry ตอบรับเทรนด์ด้วยการพัฒนาคอนเนคเตอร์ (Connector) สำหรับ AGV ด้วยเทคโนโลยี “Wear Zero” ลดการสึกหรอของชิ้นส่วน เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าผลิตภัณฑ์รุ่นก่อนถึง 10 เท่า ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง

Tamura Corporation ขานรับแนวโน้มสิ่งแวดล้อมด้วย “Coverlay Coat” Solder Resist แบบแผ่นฟิล์มสำหรับการผลิตแผงวงจรที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นแผงวงจรที่เริ่มถูกนำมาใช้ในยานยนต์มากขึ้นเพื่อลดน้ำหนักของชิ้นส่วนให้เบาลง และเพิ่มพื้นที่ภายในยานยนต์ให้กว้างขึ้น

เทรนด์ถัดมาจากสิ่งแวดล้อม คือ "เทคโนโลยีไร้สัมผัส และ Metaverse" ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การระบาดของโควิด

TDK เป็นบริษัทหนึ่งที่ตั้งใจตอบโจทย์นี้ ด้วยการพัฒนาแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์แบบ Full Color ซึ่งอยู่จัดอยู่ในระด้บเล็กที่สุดในโลก ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงนี้ได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนแว่นตา Smart Glass ที่จะฉายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวลงบนม่านตาโดยตรง ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงประสบการณ์ Augmented Reallity (AR) ไปพร้อมกับมองเห็นภาพจริงได้โดยไม่ต้องละสายตา และมีกำหนดวางจำหน่ายในปี 2024

แนวโน้มเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ CEATEC 2022

แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์แบบ Full Color สำหรับแว่นตา Smart Glass จาก TDK

Citizen Electronics เป็นอีกรายที่ตามคลื่นลูกนี้ด้วยแพ็กเกจเลเซอร์ RGB ซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งบริษัทจะนำเสนอชิ้นส่วนนี้ให้กับผู้ผลิตแว่น AR และโปรเจคเตอร์ขนาดเล็กต่อไป

ส่วนเทคโนโลยีไร้สัมผัสนั้น Alps Electric ได้นำเสนอ “Stealth Aerial Interface” ระบบฉายภาพกลางอากาศเพื่อให้ผู้ใช้กดป่มได้โดยไม่ต้องสัมผัสปุ่มและหน้าจอ โดยการแสดงปุ่มกดเหนือฐานที่ผลิตจากไม้หรือโลหะ ซึ่งบริษัทกล่าวว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด เทคโนโลยีนี้ก็มีความต้องการมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้การออกแบบผลิตภัณฑ์และอาคารต่าง ๆ มีอิสระมากขึ้น โดยทางบริษัทตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เข้าสู่กระบวนการ Mass Production ได้ภายในปี 2025 

แนวโน้มเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ CEATEC 2022

Stealth Aerial Interface จาก Alps Electric

Kyocera เป็นอีกรายที่พัฒนาจอภาพไร้สัมผัส โดยได้จัดแสดงเทคโนโลยีจอไร้สัมผัสความละเอียดสูงภายในงาน ซึ่งใช้เซนเซอร์จำนวนมากประกอบกัน และตั้งเป้าพัฒนาให้ใช้งานจริงได้ในปี 2026

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกจับตาอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล คือ เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูล เนื่องจากปริมาณการรับส่งข้อมูลนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย TDK ได้นำเสนอโมดูลเซนเซอร์ขนาดเล็กสำหรับเครื่องจักรกลและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการรับส่งข้อมูลแบบไร้สายด้วยการส่งสัญญาณไวร์เลสด้วยตัวเองโดยอาศัย Edge AI ซึ่งทางบริษัทเปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกของโลกที่มีโมดูลเซนเซอร์ซึ่งติดตั้ง Edge AI และการรับส่งสัญญาณไวร์เลสไว้ด้วยกันในโมดูลเดียว และจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในปี 2023

Murata Manufacturing เป็นอีกรายที่นำเทคโนโลยี Edge AI มาใช้ในผลิตภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาโมดูลสำหรับเครื่องมือแพทย์และ Smart Factory โดยใช้ชิป IC ที่ Google ออกแบบเพื่อการประมวลผล AI โดยเฉพาะมาติดตั้งร่วมกับคอนเดนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นเอง

แนวโน้มเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ CEATEC 2022

โมดูลสำหรับเครื่องมือแพทย์และ Smart Factory เทคโนโลยี Edge AI จาก Murata Manufacturing

นอกจากแนวโน้มข้างต้นแล้ว การเสริมสร้าง “Resilience” หรือความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน โดย Taiyo Yuden ได้นำเทคโนโลยีตรวจสอบสภาพแม่น้ำและสะพาน ซึ่งเครื่องวัดระดับน้ำจะส่งสัญญาณคลื่นมิลลิเมตร (Millimeter Wave) และส่งไปยังระบบคลาวด์แบบเรียลไทม์ผ่านสัญญาณไวร์เลส ซึ่งทางบริษัทตั้งเป้านำเสนอระบบนี้ให้รัฐบาลญี่ปุ่น และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริงภายใน 1 - 2 ปีข้างหน้า

อีกรายคือ Restar Holdings Group ร่วมกับ Uhuru พัฒนาบริการฐานข้อมูลสำหรับรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ ความแออัดของศูนย์อพยพ และอื่น ๆ ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะถูกใช้ในการส่งข้อมูลให้กับรัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ได้

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#อิเล็กทรอนิกส์ #เทคโนโลยี ชิ้นส่วน #อิเล็กทรอนิกส์ #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH