เทรนด์เครื่องมือแพทย์

จับเทรนด์ ‘เครื่องมือแพทย์’ อุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ไทยตั้งเป้า Medical Hub อาเซียน

อัปเดตล่าสุด 1 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 2,860 Reads   

ไทยตั้งเป้าขึ้นแท่น Medical Hub อาเซียนภายในปี 2570 ตัวเลขส่งออกเครื่องมือแพทย์ตลอด 9 เดือนแรกของปี 2564 เติบโต 22% ตัวเลขอย่างเดียวยังไม่พอ หากจะสำรวจว่าเราอยู่ในแทรคที่จะไปถึงเป้าหมายหรือไม่ จำเป็นต้องลงลึกไปว่าเรามีศักยภาพในการผลิตเครื่องมือแพทย์อะไรบ้าง อยู่ในเทรนด์ที่จะโตหรือไม่ 

Advertisement

ต้องทำอย่างไร? ถ้าอยากป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์

รายงานจาก Better MRO เครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริการะบุ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอีกเซกเตอร์ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโต ต้องการมาตรฐานและเทคโนโลยีระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตหลายรายให้ความสนใจ แต่การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในฝั่งสหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎระเบียบว่าด้วยอุปกรณ์การแพทย์ (EU Medical Devices Regulation – MDR) เมื่อปี 2560 ซึ่งแบ่งเครื่องมือแพทย์เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 

 

  • Class I ซึ่งหมายถึงเครื่องมือความเสี่ยงต่ำ เช่น ผ้าพันแผลและผ้าคลุมเตียง
  • Class II หรือความเสี่ยงปานกลาง เช่น หลอดฉีดยาและเข็ม
  • Class III หรือความเสี่ยงสูง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจและรากฟันเทียม

กฎระเบียบนี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 และผู้ผลิตที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ก็ต้องขอรับใบอนุญาตก่อนเริ่มดำเนินการผลิต และในฝั่งผู้ที่ต้องการส่งออกสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ISO 13485

นอกจากการจัดทำและบังคับใช้มาตรฐานแล้ว ผู้ผลิตยังจำเป็นต้องมีสายการผลิตที่เหมาะสม โดยในสหรัฐอเมริกา โรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ด้านงานโลหะส่วนใหญ่แล้วจะใช้เครื่องจักร Machining Center แบบ 5 แกน และเครื่อง CNC แบบ Swiss type อีกทั้งปัจจุบันยังเริ่มมีการใช้งาน 3D Printer มากขึ้น 

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีต้นทุนสูง และควรตัดสินใจให้ถี่ถ้วนก่อนเริ่มเข้าสู่ตลาดนั่นเอง

จับเทรนด์ ‘เครื่องมือแพทย์’

1. การแพทย์ทางไกล

มีการรักษาผู้ป่วยหลายกรณี ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้เวลายาวนาน หรือต้องทำกายภาพบำบัดอีกหลายครั้งจึงจะหายดี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องพบแพทย์บ่อยครั้งในช่วงต้นของการรักษา นำมาซึ่งการเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอย่างมาก ซึ่งการระบาดของโควิดทำให้การพบแพทย์ยากลำบากกว่าที่ผ่านมา ทำให้เทคโนโลยี Remote Monitoring ถูกจับตามองในฐานะเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมในอุตสาหกรรเครื่องมือแพทย์ และพึ่งพาการใช้  “เซนเซอร์” รูปแบบต่าง ๆ ในการตรวจคนไข้โดยไม่ต้องไปยังโรงพยาบาล หรือใช้ช่วยสนับสนุนการกายภาพบำบัด 

  • อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องเซนเซอร์ทางการแพทย์ คลิก

2. การจำลองร่างกายผ่านซอฟต์แวร์

ปัจจุบัน วัสดุทดแทนกระดูก หรือกระดูกเทียม เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกระดูกทั้งจากอุบัติเหตุ หรือการเสื่อมสภาพตามอายุ ซึ่งกระดูกเทียมเหล่านี้มักทำจากโลหะที่มีความคงทนอย่างไทเทเนียม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทางออกที่ดีเสมอไป 

จากการศึกษาพบว่า มีหลายกรณีที่กระดูกจริงดีกว่ากระดูกเทียม เช่น กระบวนการเชื่อมต่อรากฟันเทียมเข้ากับกระดูก (Osseointegration) ซึ่งกระดูกตามธรรมชาติสามารถเชื่อมต่อเข้ากันได้ดีกว่าโลหะ

ด้วยเหตุนี้เอง ความพยายามจำลองกลไกทางธรรมชาติจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีเคลือบกระดูกเทียม หรือการออกแบบรากฟันเทียมให้สามารถจำลองกระบวนการได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ความต้องการซอฟต์แวร์สำหรับจำลองกระบวนการทางชีววิทยามีความต้องการมากขึ้น ซึ่งหลายซอฟต์แวร์ก็ไม่ต่างจากที่ใช้ในการจำลองเครื่องจักรกลแต่อย่างใด 

3. กระดูกเทียมจาก 3D Printer

Additive Manufacturing เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะ Metal 3D Printer ซึ่งสามารถพิมพ์ผงโลหะออกมาเป็นชิ้นงานที่มีโครงสร้างรูพรุนแต่ทนทาน ซึ่งเหมาะแก่การนำมาผลิตกระดูกเทียมเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกระดูกจริงแล้ว ยังมีความทนทานสูงกว่ามาก ซึ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมกับ CT Scan จะทำให้แพทย์สามารถผลิตกระดูกเทียมสำหรับคนไข้แต่ละรายได้ ไปจนถึงการพิมพ์บางส่วนของกระดูก เช่น ในกรณีที่มีผู้ประสบอุบัติเหตุจนกะโหลกศรีษะร้าว แพทย์ก็สามารถพิมพ์กระดูกจากไทเทเนียมหรือ PEKK (polyetherketoneketone) มาแทนที่เฉพาะส่วน นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะไปไกลกว่าการพิมพ์กระดูกอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีการวิจัยการพิมพ์ผิวหนังและกระดูกอ่อนแล้ว 

4. หุ่นยนต์ผ่าตัด

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หุ่นยนต์ผ่าตัดเริ่มเข้ามามีบทบาทในสถานพยาบาลมากขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือหุ่นยนต์ทำงานได้แม่นยำกว่ามนุษย์ สามารถผ่าตัดแผลขนาดเล็กหรือจุดที่มือเข้าถึงได้ยาก และคาดว่าจะมีมูลค่าในตลาดโลกมากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์เหล่านี้ยังต้องอาศัยการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ 

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี VR/AR มาใช้ร่วมกัน เช่น ใช้ในการอบรมแพทย์ผ่าตัด หรือแพทย์แผนกฉุกเฉิน ซึ่งสำนักวิเคราะห์ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ตลาด VR/AR ทางการแพทย์จะมีมูลค่า 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

5. เชื่อมต่อมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์

อาจจะฟังดูเหมือนภาพยนตร์ไปบ้าง แต่แนวคิดการเชื่อมต่อมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่มีมาหลายสิบปี และอาจเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันมีความพยายามที่ใกล้เคียงกันอยู่ เช่น นิวรัลลิงก์ (Neuralink) ซึ่งก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ ซึ่งมีความพยายามจะทดลองเชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น อวัยวะเทียมที่สามารถควบคุมได้ หรือ “BrainGate” ของมหาวิทยาลัยการแพทย์ชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยทัฟส์ ที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ และร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์มาแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการเป็นอย่างมาก

สรุปบทความ

นอกจากเทรนด์ที่นำเสนอไปแล้ว ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากที่เริ่มมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เช่น การนำ Digital Twins มาใช้จำลองร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์มีข้อมูลที่ตรวจสอบได้และช่วยในการตัดสินใจได้ดีขึ้น ซึ่งหากนำมาใช้คู่กับเซนเซอร์ต่าง ๆ และ 5G ก็จะช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทางไกลทำได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมา

การศึกษาจีโนมิกส์ เป็นอีกหนี่งแนวโน้มที่จะช่วยให้การแพทย์ก้าวหน้าขึ้น เนื่องจากการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์สิ่งมีชีวิตจะช่วยให้มนุษย์เข้าใจโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นำไปสู่การตรวจโรค และการรักษาที่มีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้นำ AI และ Machine Learning เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้แล้ว

 

#อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ #เทคโนโลยีการแพทย์ #Medical #Medical Hub #เครื่องมือแพทย์ #อุปกรณ์การแพทย์ #Medical Device #แนวโน้ม เครื่องมือแพทย์ #Telemedicine #แพทย์ทางไกล #กระดูกเทียม #รากฟันเทียม #หุ่นยนต์ผ่าตัด #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH