สถานการณ์ แนวโน้ม เครื่องจักรกลญี่ปุ่น 2565

จุดเปลี่ยน Machine Tools

อัปเดตล่าสุด 17 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 2,426 Reads   

แม้จะเป็นช่วงที่โลกประสบกับวิกฤตต่าง ๆ มากมาย แต่เครื่องจักรกล  (Machine Tools) ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งรวมถึงไทยที่มีเครื่องจักรกลญี่ปุ่นเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการผลิต

Advertisement

เมื่อเดือนธันวาคม 2021 ในวาระครบรอบ 70 ปีของสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) นาย Yoshiharu Inaba ประธานสมาคม ได้เปิดเผยมุมมองต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (Machine Tools) ไว้อย่างน่าสนใจ

จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลญี่ปุ่นกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ในโลกยุคนี้ โดยเฉพาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

หากมองในภาพรวมของตลาดโลกแล้ว เมื่อพูดถึงผู้นำเทคโนโลยีไฮเทค สหรัฐอเมริกาจะเป็นชื่อที่ถูกนึกถึงเป็นชื่อแรก แต่ในไม่กี่ปีมานี้ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รุนแรงขึ้นมาก ทำให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อประเทศจีน 

แต่ในความเป็นจริงนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไฮเทคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และรถยนต์ไฟฟ้า 

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอีก 10 ปีหลังจากนี้ จีนกับสหรัฐฯ อาจสลับตำแหน่งในตลาดกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงแล้ว จะทำให้ประเทศอื่น ๆ อยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับให้เลือกข้าง

สถานการณ์ แนวโน้ม เครื่องจักรกลญี่ปุ่น 2565

ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพจากโรงงาน Citizen Machinery)

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบนี้ เนื่องจากความต้องการเครื่องจักรเกี่ยวเนื่องกับสภาวะเศรษฐกิจโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจากโควิด ทำให้ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรลดลงเป็นอย่างมากเหมือนเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลก็สามารถพลิกกลับมาเติบโตได้ในทุกครั้ง ซึ่งคาดว่าหลังโควิดสิ้นสุดเองก็จะมีทิศทางเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ Machine Tools ในปัจจุบัน

ในปี 2021 ที่ผ่านมานี้ ความต้องการเครื่องจักรของประเทศจีนมีการฟื้นตัวรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ตามด้วยยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งนาย Yoshiharu Inaba แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัวอย่างทั่วถึง 

ทางด้านฝ่ายบริหาร บริษัท Tsugami แสดงความเห็นว่าความต้องการเครื่องจักรในจีนแม้จะมีการชะลอตัวเล็กน้อยแต่ในภาพรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นาย Kenichi Nakamura รองประธานสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น ได้ย้ำว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่ความต้องการเครื่องจักรจากจีนจะลดลงอย่างกะทันหันและรุนแรง

ส่วนในมุมของปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน และอุปสรรคด้านโลจิสติกส์นั้น ปัจจัยล่าสุดที่เข้ามากระทบ คือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการยกเลิกออเดอร์สั่งซื้อเท่านั้น แต่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจะทำให้การลงทุนเครื่องจักรทั่วโลกมีราคาแพงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตเครื่องจักรกลรายใหญ่รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า จะกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอย่างแน่นอน

การเปลี่ยนแปลงและอนาคตของ Machine Tools

“เครื่องจักรกลญี่ปุ่น” ได้รับความเชื่อถือในเรื่องของประสิทธิภาพและความแม่นยำ ทำให้ถูกสั่งซื้อไปใช้ในโรงงานหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยี IoT, AI, และ Smart Factory กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คำว่า IoT มีความสำคัญลดลง และผู้คนหันไปใช้คำว่า Digital Transformation แทน 

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดทำให้ความต้องการสนับสนุนลูกค้าทางไกล และการทำงานแบบ Remote Working เพื่อควบคุมเครื่องจักรจากทางไกลกลับมาเพิ่มมากขึ้น หลายบริษัทจึงหันกลับให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเหล่านี้อีกครั้ง จึงกล่าวได้ว่า IoT ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกำลังใกล้ความเป็นจริงเข้าไปอีกก้าวหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น DMG MORI ที่มีการพัฒนาอุปกรณ์รับส่งข้อมูล IoT Connector ให้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของเครื่องจักร, Yamazaki Mazak ที่อยู่ระหว่างผลักดันให้ลูกค้าใช้บริการซัพพอร์ตทางไกล, และอื่น ๆ

ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive maintenance) นั้น แม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีก็ยังไปไม่ถึงจุดที่คาดหวังไว้ 

แต่สิ่งนี้เองที่เป็นโอกาสของธุรกิจต่าง ๆ ที่จะเร่งพัฒนาโซลูชันเพื่อการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เช่น อุณหภูมิและการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร การเก็บข้อมูลของทูลส์ต่าง ๆ ในเครื่อง และอื่น ๆ 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เมื่อรวบรวมมาแล้ว หากไม่นำไปใช้ต่อก็ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้หลายบริษัทมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Digital Twin เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถเห็นภาพจากข้อมูลเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น JTEKT ซึ่งนำระบบจำลองการแปรรูปชิ้นงานบนคอมพิวเตอร์มาใช้ตั้งแต่ปี 2020, DMG MORI ที่เลือกใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อร่นระยะเวลาการทำแบบจำลอง, Yamazaki Mazak ที่ติดตั้ง AI ลงในเครื่อง CNC, และอื่น ๆ

และเมื่อมีทั้งข้อมูล และวิธีการนำไปใช้แล้ว การต่อยอดสู่ Smart Factory ย่อมเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Makino ซึ่งทำการทดลองโมเดลสายการผลิตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และตัดสินใจจะติดตั้งสายการผลิตใหม่ตามผลลัพธ์การทดลองภายในเดือนมิถุนายน 2023

บทสัมภาษณ์ นาย Yoshiharu Inaba ประธานสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA)

สถานการณ์ แนวโน้ม เครื่องจักรกลญี่ปุ่น 2565

ทรรศนะจากประธานสมาคม ในวาระครบรอบ 70 ปีของสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น

“อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล (Machine Tools) ผ่านวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง สำหรับญี่ปุ่นเองก็เช่นเดียวกัน โดยผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่เมื่อครั้ง Lehmann Shock และล่าสุดก็เป็นวิกฤตโควิดที่เข้ามาปะทะอย่างรุนแรง ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลญี่ปุ่นก็สามารถผ่านมาได้ และทางสมาคมฯ ครบรอบ 70 ปีในช่วงนี้พอดี แต่แน่นอนว่าหากวิกฤตเหล่านี้สิ้นสุด การฟื้นตัวครั้งใหญ่ก็จะตามมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือแก้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนให้ได้ โดยผมคาดว่าหากแก้ไขได้แล้ว ปีนี้จะเป็นปีที่ดีของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น”

ปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

“ความขัดแย้งทางการเมืองนำมาซึ่งการควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งมาตรการเหล่านี้มาจากประเทศโลกตะวันตก อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์จะกลับกัน เปลี่ยนเป็นจีนกลายเป็นผู้ควบคุมการส่งออกแทน ซึ่งหากถึงจุดนั้นแล้ว จะเป็นปัญหาต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก และจะบีบให้เลือกว่าจะอยู่ข้างใด ”

สถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลในปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิตเครื่องจักรกลแซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีคุณภาพในระดับแถวหน้าเทียบเคียงเยอรมนี อย่างไรก็ตาม คุณภาพเครื่องจักรกลจีนจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เครื่องจักรกลเยอรมันก็มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้อย่างทั่วถึง ดังนั้น เครื่องจักรกลญี่ปุ่นก็ควรเลือกว่า จะมุ่งเน้นไปที่แนวทางไหน”

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเครื่องจักรกลจะมีส่วนช่วยอย่างไร 

“การปรับตัวตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเทรนด์ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก และผมมองว่าไม่มีทางหนีพ้น ซึ่งเครื่องจักรแต่ละเครื่องนั้นใช้พลังงานเป็นอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงมากตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตจะต้องหาทางคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างเครื่องจักรกลที่สามารถ Sustainable ได้ อย่างไรก็ตาม โจทย์นี้เป็นเรื่องยากมากที่จะหาทางออกได้ด้วยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ควรมีแนวคิดที่เป็นมาตรฐาน”

 

#เครื่องจักรกล  #เครื่องจักรกลญี่ปุ่น #เครื่องจักรญี่ปุ่น #เครื่องญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมการผลิต #อุตสาหกรรมโลหะการ #Metalworking #Machine Tools #Machine Tool #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมเครื่องจักร #อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล #ข่าวเครื่องจักร

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH