เทรนด์โลจิสติกส์ 2022

เทรนด์โลจิสติกส์ 2022 ชู Digital คู่ Sustainable

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ค. 2565
  • Share :
  • 6,809 Reads   

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การพัฒนาด้านโลจิสติกส์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะยังดำเนินต่อไปและก้าวหน้ายิ่งขึ้นในปี 2022 นี้ การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและความยั่งยืนซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่การทำงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทำให้เห็นเทรนด์อนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น 

Advertisement

DHL หนึ่งในผู้นำด้านโลจิสติกส์ได้ เผยแพร่บทความเรื่อง “Logistics Trends 2022: The Future of Logistics Is Digital and Sustainable” 

เริ่มต้นยุคใหม่ของ Logistics 4.0 สู่โลจิสติกส์แบบดิจิทัล

ปัจจุบัน ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ได้หันมาใช้ระบบที่เรียกว่า Logistics 4.0 มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกำหนดขึ้นมาตามแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 โดยยุคใหม่ของโลจิสติกส์นี้มีพื้นฐานมาจากการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือแม่นยำยิ่งขึ้นด้วยกระบวนการอัตโนมัติที่เข้ามาช่วยทั้งด้านธุรกิจและด้านโลจิสติกส์ และยังเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ และบริษัทเข้าด้วยกัน ดังนั้น วัตถุประสงค์ของโลจิสติกส์ 4.0 ก็คือการลดความซับซ้อนของกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นปัจจุบัน การระบุปัญหาที่อาจขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องขจัดปัญหาเหล่านั้นอย่างทันท่วงที

โลจิสติกส์ 4.0 เกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบสำคัญต่ออนาคตของโลจิสติกส์ เช่น บิ๊กดาต้า การใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ และเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลที่สามารถเห็นได้ชัดเจนในการจราจรบนถนนก็คือ การขับขี่อัตโนมัติ ที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ถนน และในอีกด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมการจราจรให้ติดขัดน้อยลง

 

บิ๊กดาต้าและเครือข่ายธุรกิจสำหรับระบบอัตโนมัติด้านโลจิสติกส์

ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขนส่งและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น ด้วยซอฟต์แวร์ใหม่และฮาร์ดแวร์ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ทำให้สามารถรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยข้อมูลเหล่านี้ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปผลจากอดีตและให้การคาดการณ์สำหรับอนาคตได้

จุดมุ่งหมายของการนำ Big Data และเครือข่ายของผู้เกี่ยวข้องไปใช้ คือ การรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เพื่อคาดการณ์และหลีกเลี่ยงความล้มเหลวหรือการหยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้น หรือเพื่อพัฒนาแผนทางเลือกในการรักษาแผนงานให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ข้อมูลยังสามารถใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการขนส่ง ทำให้ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ถูกปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้จะมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ สภาพการจราจร สถานะและตำแหน่งของยานพาหนะ การพัฒนาด้านต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลตัวเลขจากบริษัททั้งหลาย รวมถึงข้อมูลด้านอื่นอีกหลายแหล่งด้วยกัน

นอกจากการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมแล้ว เครือข่ายยังมีส่วนช่วยในการสร้างความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน และให้ข้อมูลแก่บริษัททั้งหมดที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานะการจัดส่งอีกด้วย

ลดการพึ่งพาระดับโลก

ในทศวรรษที่ผ่านมา โลกาภิวัฒน์ หรือ Globalization คือสิ่งที่กำหนดแนวทางทั่วโลกที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด และมีการย้ายสินค้าไปทั่วทุกทวีปมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสได้ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของแนวคิดโลกาภิวัฒน์อย่างชัดเจน และแนวโน้มในการหันหลังให้กับการเชื่อมโยงทั่วโลกเข้าด้วยกันกำลังเกิดขึ้น 

การบูรณาการทั่วโลกส่งผลให้เกิดการพึ่งพากันของห่วงโซ่อุปทาน ความล้มเหลวหรือการหยุดชะงักส่วนใดส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและเกิดผลกระทบอื่นตามมาเป็นวงกว้างไปทั่วโลก การมุ่งเน้นให้ภูมิภาคมีความเข้มแข็งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการพึ่งพา และทำให้ภูมิภาคต่าง ๆ มีความเป็นอิสระจากกันมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน

หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

หุ่นยนต์คือหนึ่งในสิ่งที่ถูกวาดภาพไว้ให้เป็นเป้าหมายของยุคอนาคต ซึ่งแม้ว่าหุ่นยนต์ในปัจจุบันจะยังมีประสิทธิภาพและฟังก์ชันการทำงานที่ห่างไกลจากในภาพยนตร์อยู่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ่นยนต์สามารถทำงานง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และเข้ามามีส่วนช่วยในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก เช่น ช่วยลดภาระของพนักงานในคลังสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลังสินค้าของธุรกิจ e-commerce และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการใช้งานหุ่นยนต์อย่างแพร่หลาย

โดยหุ่นยนต์สามารถทำหน้าที่หยิบจับสินค้าตามคำสั่งซื้อและลำเลียงสินค้าที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งขีดความสามารถในการคำนวณเส้นทางที่สั้นที่สุดในคลังสินค้าช่วยให้หุ่นยนต์สามารถจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนจะส่งมอบ ไปจนถึงสามรถหลีกเลี่ยงการชนกับพนักงานและหุ่นยนต์ตัวอื่นได้อีกด้วย

DHL คาดการณ์ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ e-commerce จะทำให้หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้งานมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

โลจิสติกส์แบบหลายช่องทาง

อีกแนวโน้มหนึ่งในปี 2022 คือโลจิสติกส์แบบหลายช่องทาง (Multichannel Logistics) ซึ่งไม่กี่ปีมานี้ โลกได้แสดงให้เห็นว่าซัพพลายเชนหยุดชะงักได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2021 ที่คลองสุเอซถูกเรือขวางจนการขนส่งทั่วโลกหยุดชะงัก

ด้วยเหุตนี้ การขนส่งสินค้าจำเป็นต้องมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบก ทางเรือ ระบบราง หรือทางอากาศ เมื่อช่องทางใดประสบปัญหา ผู้ประกอบการย่อมสามารถเปลี่ยนไปใช้ช่องทางอื่น ๆ ได้ง่าย ช่วยลดความล่าช้า และทำให้ซัพพลายเชนมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

โลจิสติกส์ที่ยั่งยืน

อีกแนวโน้มที่จะกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ในอนาคต คือ แนวคิดความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างมาก โดย World Economic Forum รายงานว่า การขนส่งสินค้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5.5% ทั่วโลก ทำให้โซลูชันการขนส่งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นไปอีก

ซึ่งวิธีแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองก็มีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจัดส่งสินค้าในช่วงสุดท้าย (Last mile delivery), การใช้ก๊าซ Bio-LNG เป็นเชื้อเพลงรถบรรทุก, และอื่น ๆ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการขนส่งและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์

Bio-LNG เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีศักยภาพซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการขนส่งสินค้าทางบกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับแล้วในเส้นทางการขนส่งสินค้าหลัก ๆ ซึ่ง DHL คาดการณ์ว่ากำลังการผลิต Bio-LNG จะมีมากกว่าความต้องการภายใน 3 ปีข้างหน้า และรถบรรทุกที่.ช้ Bio-LNG ได้ ก็สามารถใช้ LNG แบบดั้งเดิมระหว่างรอ Bio-LNG พัฒนาเสร็จ นี่จึงเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เช่นเดียวกัน 

อีกตัวเลือกหนึ่ง คือก๊าซ CNG (Compressed Natural Gas) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ถูกผลิตออกมาในสภาพของก๊าซเหลว แต่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนประกอบเพียง 20 - 55% ของน้ำมันเบนซินเท่านั้น โดยปัจจุบัน ประเทศที่เป็นผู้นำด้านก๊าซ CNG คือเยอรมนี อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในยุโรปมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับแล้ว

 

โลจิสติกส์ไม่ได้มีแค่การขนส่ง

ที่แล้วมา การขนส่งสินค้ามักพิจารณาจากความรวดเร็วและค่าใช้จ่ายเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้สิ่งที่ต้องพิจารณามีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เพียงการขนส่งสินค้า แต่ยังรวมไปถึงคลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ พลังงานที่บริษัทใช้ และอื่น ๆ

ซัพพลายเชนที่โปร่งใสด้วยการเปิดเผยคาร์บอน

การเปิดเผยคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยไอเสีย และมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต การเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอเสียอื่น ๆ จะช่วยให้ซัพพลายเชนมีความโปร่งใส กระตุ้นให้บริษัทที่เกี่ยวข้องลดการปล่อยก๊าซ์ให้น้อยลง ซึ่งจะกลายเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม อีกทั้งยังส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนทางธุรกิจอีกด้วย

สรุปอนาคตของโลจิสติกส์และภาพรวมปี 2022

จะเห็นได้ว่าในปี 2022 นี้ เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก นวัตกรรมหลายอย่างถูกพัฒนาขึ้น และถูกนำมาใช้พัฒนาการขนส่งสินค้าให้เรียบง่าย รวดเร็ว และมีความมั่นงมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โลจิสติกส์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสอดรับไปกับเมกะเทรนด์แห่งความยั่งยืนนี้ ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทไว้ ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ได้อยู่ท่ามกลางความโกลาหลครั้งใหญ่ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้แต่เนิ่น ๆ 

 

#เทรนด์โลจิสติกส์ 2022 สู่ #Logistics 4.0 ด้วยการใช้ #เทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่กับ #ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้เป็นโลจิสติกส์ที่เรียบง่าย มีประสิทธิภาพและมั่นคงตลอดซัพพลายเชน ที่สำคัญต้องสอดรับกับ #เมกะเทรนด์ #Sustainability #Digitalization #Mreport #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH