Advanced Manufacturing, EU

Advanced Manufacturing คืออะไร ทำไม EU ยกเป็นหัวใจสำคัญ

อัปเดตล่าสุด 26 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 2,125 Reads   

อียู ยก Advanced manufacturing เป็นวาระเชิงนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรมทั่วทั้งยุโรป

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2023 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เผยแพร่รายงาน “การผลิตขั้นสูงเป็นหัวใจสำคัญของยุโรปที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และแข่งขันได้” จัดทำโดย Task Force 5 หน่วยงานสนับสนุนด้านกระบวนการผลิตขั้นสูง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเร่งการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตขั้นสูงของภาคอุตสาหกรรมอียู ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับอุตสาหกรรม 4.0 

Advanced manufacturing: การผลิตขั้นสูง คืออะไร

รายงานฉบับนี้ระบุถึง “การผลิตขั้นสูง” อาจทำให้เห็นเป็นภาพของสายการประกอบอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์ประกอบรถยนต์ การผลิตของโรงงานที่เพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ การนำ 3D Printer มาผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ หรือจะเห็นภาพการผลิตขั้นสูงของนาโนเทคโนโลยีและชีวการแพทย์เช่นเดียวกับอนุภาคนาโนที่ใช้ในวัคซีน mRNA Covid

การผลิตขั้นสูงครอบคลุมสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด แต่เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจบทบาทอย่างเต็มที่และเห็นคุณค่าของศักยภาพในการผลิตขั้นสูง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องนิยามคำว่า “การผลิตขั้นสูง” ให้แม่นยำยิ่งขึ้น

คณะกรรมาธิการยุโรปจึงกำหนดนิยามไว้ว่า การผลิตขั้นสูงเกิดขึ้นได้จากความก้าวหน้าและการบรรจบกันของเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการทำให้เป็นดิจิทัล โดยจะนำสู่การสร้างกระบวนการผลิตใหม่ และ/หรือ การผลิตสินค้าประเภทใหม่ ๆ และ/หรือ การเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจใหม่

โดยผลลัพธ์จากการผลิตขั้นสูงจะได้ออกมาเป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น กระบวนการและผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม ความยืดหยุ่น การสร้างงาน และการปรับปรุงคุณภาพงาน

ด้วยเหตุนี้ การผลิตขั้นสูงจึงไม่สามารถมองเป็นภาคส่วนแนวตั้ง แต่ควรมองเป็นชุดเทคโนโลยี กระบวนการ และผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย เนื่องจากกระบวนการผลิตอย่างเช่น ระบบอัตโนมัติ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบคลาวด์ในการผลิต ล้วนแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ยา เคมีภัณฑ์ ไปจนถึงสิ่งทอ

โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ยกตัวอย่าง Advanced manufacturing ที่น่าสนใจ ซึ่งกรณีเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในการดำเนินการทั่วทั้งระบบนิเวศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในยุโรป

การพัฒนาให้ยุโรปสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมกังหันลม

รายงานระบุว่า ปัจจุบันยุโรปกำลังพบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมกังหันลมที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า จึงแนะนำว่า ผู้ผลิตสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น ปรับดีไซน์ ลดต้นทุนการบำรุงรักษา นำเสนอบริการใหม่ ๆ อย่างเช่นการติดตั้งเซนเซอร์ในกังหันลม ไปจนถึงการลดดาวน์ไทม์

การเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านโซลูชันการจัดเก็บไฟฟ้าในกระบวนการผลิต

การใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ต้องลดพลังงานที่ใช้ด้วย หากอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกันก็จะสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตสามารถเลือกใช้ระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อให้โรงงานมีพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคง 

การลดต้นทุนและของเสียด้วย Additive Manufacturing

อียูเผยว่า อุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคโนโลยี Additive Manufacturing (AM) และยังคงเป็นผู้ใช้รายสำคัญ สืบเนื่องจากคุณสมบัติในการผลิตรูปทรงที่ซับซ้อนและการลดน้ำหนักชิ้นงาน ซึ่งการลดน้ำหนักเครื่องบินในอุตสาหกรรมอากาศยานนำไปสู่การประหยัดพลังงานได้มากขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการสร้างมลพิษ หากเครื่องบิน 600 ลำของสายการบินมีน้ำหนักเบาลงลำละ 1 กิโลกรัม ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงลงได้มากถึงปีละ 90,000 ลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 230 ตัน

ไม่เพียงแต่การประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลพิษเท่านั้น แต่เทคโนโลยี AM ยังช่วยประหยัดวัสดุและลดเวลาที่ใช้ในการพัฒนา ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารความเสี่ยง เช่น การผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณสมบัติการหล่อเย็นภายในชิ้นส่วนนั้น ๆ หรือลดกระบวนการเชื่อมแบบดั้งเดิม

การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ในอุตสาหกรรมการผลิต

เนื่องจากการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์เป็นการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ข้อขัดข้องที่อาจเกิดขึ้นในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อดำเนินการปรับปรุงก่อนที่จะเกิดการขัดข้องขึ้นจริง ซึ่งแนวทางนี้สามารถช่วยลดการเสื่อมสภาพของเครื่องจักร ลดดาวน์ไทม์ ลดการสต๊อกชิ้นส่วนอะไหล่ ไปจนถึงการลดค่าใช้จ่าย และช่วยให้กระบวนการผลิตปลอดภัยขึ้นอีกด้วย

ระบบจ่ายเมื่อใช้ในกลุ่มเครื่องจักรทางการเกษตร

อุตสาหกรรมการเกษตรจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และมีราคาสูง แต่ใช้งานเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก สิ่งนี้จึงจุดประกายให้นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาโดยสร้างบริการเครื่องจักรระบบจ่ายเมื่อใช้ (Pay per use) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรรายหนึ่งจากออสเตรียได้นำเทคโนโลยี IoT และ Blockchain เข้ามาใช้ ติดตั้งเซนเซอร์ให้กับเครื่องจักร และรวมรวบข้อมูลการใช้งานเพื่อนำมาคิดราคา ลดกระบวนการตรวจสอบการเช่าเครื่องจักร อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย


#การผลิตขั้นสูง #เทคโนโลยี #EU #Manufacturing #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH