เมื่อเข้าสู่ Smart Factory คุณพร้อมรับมือ “วัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่” หรือยัง?
♦ โรงงานอัจฉริยะ Smart Factory ซึ่งมีสายการผลิตทั้งหมดทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติไร้รอยต่อ
♦ ไม่ใช่เพียงเครื่องจักรแต่ละตัว การทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักร ล้วนผ่านระบบควบคุมสั่งการ
♦ แต่คอขวดที่ทำให้โรงงานอัจฉริยะไม่สมาร์ทได้จริง คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ล้าสมัย
Advertisement | |
ในยุค Industry 4.0 การเปลี่ยนพื้นที่โรงงานและกระบวนการผลิตให้เชื่อมต่อกันแบบดิจิทัลผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์ค หรือที่เรียกว่า Digitization กำลังกลายเป็นเทรนด์มาแรงในอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม พนักงานจำนวนไม่น้อยก็มีความกังวลว่า การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในสายการผลิตจะส่งผลต่อพนักงานในโรงงานอย่างไรบ้าง
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา VDW หรือสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลเยอรมัน (German Machine Tool Builders’ Association) ตีพิมพ์บทความ “New corporate culture in smart factories” ว่าด้วยวัฒนธรรมองค์กรในยุคของโรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory ซึ่งทางสมาคมเปิดเผยว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Inteliigence: AI) จะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สายการผลิตที่สุด นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่พนักงานทุกระดับจำเป็นต้องมีทักษะ อำนาจ และความรับผิดชอบในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ Gisela Lanza หัวหน้าสถาบันวิทยาศาสตร์การผลิต wbk ในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีคาลส์รูเออ (Karlsruhe Institute of Technology) และสมาชิกสมาคมวิชาการเทคโนโลยีการผลิตแห่งเยอรมนี อธิบายว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ การปรับตัวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ไม่ได้หมายถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากพนักงานอีกด้วย ซึ่งผลการศึกษาศูนย์พัฒนาทักษะของธุรกิจ SMEs 26 แห่งภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, โครงการออโตเมชันและ Smart Services ที่มีมูลค่ารวม 100 ล้านยูโร, และตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในสายการผลิตกว่า 300 ตัวอย่าง พบว่า มนุษย์จะยังเป็นตัวแปรสำคัญของโรงงานในอนาคต
“ระบบที่ชาญฉลาด” จะมาพร้อมความรับผิดชอบในการตัดสินใจ
ในกระบวนการผลิตนั้น การควบคุมและตรวจสอบสายการผลิตจำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจที่รวดเร็ว ซึ่ง Jörn Steinbeck ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Ifp-Software GmbH ธุรกิจเน็ตเวิร์คเพื่อสายการผลิต และมีประสบการณ์พัฒนาอัลกอริธึมสำหรับคำนวนข้อผิดพลาด และแจ้งเตือนช่างเทคนิคได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที แสดงความเห็นว่าในปัจจุบัน พนักงานในสายการผลิตทำงานร่วมกับระบบอัลกอริธึมแบบเรียลไทม์ ซึ่งระบบเหล่านี้สามารถนำเสนอวิธีแก้ปัญหาในสายการผลิตอย่างรวดเร็วในระดับวินาที
อย่างไรก็ตาม หากพนักงานยังจำเป็นต้องนำข้อมูลที่ได้ไปเสนอต่อหัวหน้างานเพื่อรอการตัดสินใจ เวลาที่ระบบอัตโนมัติช่วยประหยัดไปก็จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งหมายความว่า หากต้องการใช้ AI ให้ได้ผลเต็มที่แล้ว พนักงานจะไม่เพียงแต่ต้องตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องมีความเข้าใจในสายการผลิตโดยรวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งศาสตราจารย์ Gisela Lanza เสริมว่า พนักงานจำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจให้สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในระบบได้ด้วยตนเอง
Sebastian Weski ผู้จัดการฝ่ายขาย Exapt Systemtechnik GmbH ผู้พัฒนาโซลูชันระบบ CAM และระบบบริหารจัดการทูลส์เล่าว่า บริษัทมีประสบการณ์พัฒนาและจัดจำหน่ายระบบ CAM ตั้งแต่ปี 1967 และได้พัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการทูลส์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเบิกและจัดเก็บทูลส์ได้โดยอัตโนมัติ แสดงความเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะมีซอฟต์แวร์และเครื่องจักรที่ดีแค่ไหน สายการผลิตก็ไม่สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพได้หากผู้ควบคุมเครื่องจักรขาดทักษะและการตัดสินใจที่เหมาะสม ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจของผู้ควบคุมเครื่องจักร ไปจนถึงทักษะ และความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และได้ยกตัวอย่างว่า ในการนำ Digital Twin เข้ามาใช้ทดสอบกระบวนการผลิต วิศวกรจะสามารถมองเห็นภาพขณะที่ทูลส์กัดชิ้นงานอย่างชัดเจน และหากพบปัญหาก็สามารถแจ้งโปรแกรมเมอร์ได้ในทันที
Pascal Klee ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท Müller Maschinentechnik GmbH ผู้ผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เปิดเผยว่า นอกจาก AI แล้ว การมาของโคบอท (Cobot) ยังมีส่วนกระตุ้นโครงสร้างการตัดสินใจของบริษัทต้องเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย เนื่องจากโคบอทถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ และการทำงานร่วมกันของพนักงานและโคบอท จะนำไปสู่การทำงานที่มีขอบเขตกว้างกว่าการควบคุมเครื่องจักรกลเพียงเครื่องเดียว ทำให้พนักงานจำเป็นต้องมีทักษะด้านการตัดสินใจเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากการตัดสินใจของพนักงานในสายการผลิตแล้ว การตัดสินใจจากหัวหน้างานก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน โดยคณะนักวิจัยจากสมาคมวิชาการเทคโนโลยีการผลิตแห่งเยอรมนี ร่วมกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตสองรายวิจัยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาใช้ในกระบวนการผลิต พบว่า
ศาสตราจารย์ Gisela Lanza แสดงความเห็นว่า Smart Factory และโรงงานในอนาคตมีแนวโน้มที่ขอบเขตการทำงานของพนักงานจะเลือนลางลง วิศวกรหนึ่งคนที่แต่เดิมควบคุมเครื่องจักรเพียงเครื่องเดียวอาจต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักรทั้งระบบ ส่วน Jörn Steinbeck เสริมว่าหัวหน้างานจะต้องก้าวขึ้นมาดูแลทั้งโรงงานแทนสายการผลิต ในขณะที่ผู้จัดการโรงงาน จะต้องคำนึงถึงซัพพลายเชนโดยรวมอีกด้วย
โดย AI และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ จะเข้ามาทดแทนกระบวนการเล็กน้อย เช่น การจัดทำรายงานประจำเดือน และการแจ้งเตือนข้อผิดพลาดในระบบ ไปจนถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ผู้ควบคุมเครื่องจักรกลต้องการทักษะการแก้ปัญหาที่สูงขึ้น
VDW เชื่อมั่นว่า ในอนาคต การตัดสินใจในโรงงานจะไม่รวมอยู่ที่ศูนย์กลางแต่เพียงจุดเดียวอีกต่อไป ทำให้พนักงานในทุกระดับ โดยเฉพาะพนักงานระดับสูง จำเป็นต้องลดบทบาทการรวมศูนย์อำนาจแบบดั้งเดิม และเปลี่ยนจุดยืนไปอยู่ในฐานะผู้ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้กับพนักงาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีความยากลำบากในการเปลี่ยนผ่านมากกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม VDW ย้ำว่าไม่ควรให้ปัญหานี้กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ยุค Industry 4.0 และกระบวนการ Digitalization ยิ่งเกิดขึ้นเร็วก็ยิ่งดี