หุ่นยนต์ โรบอทส์ ทางการแพทย์ เฮลท์แคร์

หุ่นยนต์-โรบอทส์ บทบาทใหม่ในธุรกิจ Healthcare ที่กำลังเฟื่องฟู

อัปเดตล่าสุด 25 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 2,458 Reads   

การใช้ หุ่นยนต์ หรือ โรบอทส์ (Robots) ในงานทางการแพทย์เป็นที่แพร่หลายมาระยะหนึ่งแล้ว และขยายขอบเขตการใช้งานอีกหลายบทบาทในธุรกิจด้าน Healthcare ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ และอื่น ๆ อีกมาก

Advertisement

Dr. Susanne Bieller เลขาธิการ International Federation of Robotics (IFR) ได้จัดทำบทความ “The role of robots in healthcare” บทบาทของหุ่นยนต์ในธุรกิจ Healthcare โดยได้แบ่งการนำหุ่นยนต์ไปใช้ใน 7 บทบาท ดังนี้

หุ่นยนต์ในบริษัทและศูนย์วิจัยยา

หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในห่วงโซ่อุปทานยา ตั้งแต่การวิจัย การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ และการบรรจุ ซึ่งหุ่นยนต์มีส่วนช่วยให้การค้นพบยาใหม่ ๆ เร็วกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ช่วยให้ผู้ผลิตยาสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี

ในอุตสาหกรรมยา โรบอทส์ถูกนำมาใช้มากที่สุดในงานด้านการผลิต เนื่องจากสามารถทำงานเดิมซ้ำ ๆ กันเป็นเวลานานได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในช่วงหลังที่หุ่นยนต์มีความเร็วและความแม่นยำมากขึ้น จึงถูกนำมาใช้ในกระบวนการบรรจุยา การบรรจุภัณฑ์และติดฉลากไปจนถึงการประกอบเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น เข็มฉีดยา

อย่างไรก็ดี โรบอทส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยามีมาตรฐานที่สูงกว่าหลายอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องทำงานในคลีนรูมหรือห้องปลอดเชื้อ จึงต้องติดตั้งระบบกรองและระบายอากาศเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสิ่งแปลกปลอมจากหุ่นยนต์ปนเปื้อนเข้าไปในยา หรือป้องกันไม่ให้ก๊าซและอนุภาคต่าง ๆ เข้าไปในหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์ในสายการผลิตยาเหล่านี้มักผลิตจากเหล็กสเตนเลสเพื่อป้องกันสนิม และไม่ทำสีเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี

ส่วนในขั้นตอนการทดสอบยา เริ่มมีการนำโรบอทส์มาทดลองในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยนำมาช่วยลดภาระการทำงานซ้ำ ๆ ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เช่น การหยดสารเคมี เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้เอง หุ่นยนต์ในศูนย์วิจัยยาจึงเลือกใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็ก ช่วยประหยัดพื้นที่ และเมื่อวิทยาการหุ่นยนต์ก้าวหน้ามาจนถึงยุคโคบอทส์ ทำให้หลายสถาบันเริ่มหันมาใช้งานหุ่นยนต์มากขึ้น เช่น Copenhagen University Hospital และ Aalborg University Hospital

โคบอทส์คืออะไร? อ่านเลย

โรบอทส์จ่ายยา

รายงาน IMS Institute for Healthcare Informatics พบว่า ทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจ่ายยาผิดพลาดถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สถานพยาบาลเริ่มนำโรบอทส์มาจ่ายยาแทนเจ้าหน้าที่ โดยหุ่นยนต์จะรับคำสั่งยาจากเภสัชกรผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งแม้จะยังไม่แพร่หลาย แต่ก็มีตัวอย่างที่คืบหน้าชัดเจน เช่น British Wirral University Teaching Hospital ที่ลดการจ่ายยาผิดพลาดได้ถึง 50%  ใน 4 เดือนหลังจากนำโรบอทส์มาใช้

Shanghai Seventh People’s hospital เป็นอีกโรงพยาบาลที่ทดลองใช้ระบบหุ่นยนต์จ่ายยา โดยมีโรบอทส์ 2 ตัว ตัวแรกทำหน้าที่หยิบยาออกจากสต๊อกตามคำสั่งจากเภสัชกร ส่วนอีกตัวทำหน้าที่บรรจุยา

และในอนาคตที่วิทยาการหุ่นยนต์มีความก้าวหน้าขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนามือหุ่นยนต์ และวิชันซิสเต็มที่เปรียบดั่งดวงตาของหุ่นยนต์ ก็เป็นไปได้ที่จะนำโรบอทส์มาใช้ในกระบวนการตรวจสอบยาได้อีกด้วย 

โลจิสติกส์ในสถานพยาบาล

สถานพยาบาลหลายแห่งมีการนำ Autonomous Mobile Robots (AMRs) หรือ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะ มาใช้ในการส่งยา ผ้าพันแผล และเครื่องมือแพทย์แล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นต้น และยังมีพื้นที่ในตลาดให้เข้าจับจองอีกมาก เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งมีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถลงทุนระบบอัตโนมัติขนาดใหญ่ได้ แต่ก็มีพนักงานไม่เพียงพอ ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมแพทย์ที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ

โดยในโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงจะมีการขนส่งเครื่องมือและขยะติดเชื้อเทียบเท่าการเดินทางราว 400 ไมล์ต่อสัปดาห์ ซึ่งคาดการณ์ว่า การนำ AMRs มาใช้จะช่วยลดตาใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ 50 - 80% และลดระยะทางที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเดินในสถานพยาบาลลงได้วันละ 3 - 4 ไมล์ และลดภาระจากการยกของหนัก ทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้น

ซึ่ง AMRs สำหรับการใช้งานในโรงพยาบาลจำเป็นต้องเข้าออกลิฟต์ได้ด้วยตัวเองและรับฟังคำสั่งเสียงได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่มักปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา เช่น Zealand University Hospital ซึ่งใช้ AMRs ในการขนส่งเครื่องมือแพทย์จากห้องฆ่าเชื้อ และวิ่งรวมแล้วเป้นระยะทางราว 10 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ ช่วยประหยัดพื้นที่เก็บของในห้องตรวจได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ

World Health Organisation รายงานว่า ในยุโรปมีค่าใช้จ่ายสำหรับการทำสะอาดและการฆ่าเชื้อโรงพยาบาลปีละประมาณ 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ปีละ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการระบาดของโควิด ทำให้มีการนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งในสถานพยาบาล และสถานทีอื่น ๆ ซึ่งในปี 2020 มีหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อถูกจดทะเบียนเพิ่มกว่า 30 รุ่น ซึ่งส่วนมากจะใช้แสงยูวีในการฆ่าเชื้อ

นอกจากหุ่นยนต์ ยังมีอุปกรณ์ฆ่าเชื้ออื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอย่างมากในอนาคต อ่านเลย

หุ่นยนต์ผ่าตัด

ปัจจุบัน หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ Minimal Invasive Surgery (MIS) ช่วยให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยหุ่นยนต์ประเภทนี้ยัมียอดขายในตลาดต่ำ แต่มีมูลค่าในตลาดสูงเนื่องจากมีราคาแพง ซึ่ง IFR คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2020 - 2023 จะมีการเติบโตของตลาดเฉลี่ยปีละ 23%

หุ่นยนต์กายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยขยับตัวในท่วงท่าเดิมซ้ำ ๆ เพื่อกระตุ้นสมองและกล้ามเนื้อของผู้ป่วย จึงมีการพัฒนาหุ่นยนต์กายภาพบำบัดขึ้นมาช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดได้โดยไม่คลาดเคลื่อน และให้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น โดยหุ่นยนต์สามารถเก็บข้อมูลการขยับตัวของผู้ป่วยเพื่อให้แพทย์นำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ หุ่นยนต์กายภาพบำบัดมักถูกผลิตออกมาในรูปแบบ exoskeleton ที่ผู้ป่วยสามารถสวมใส่ได้ และอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือลู่วิ่งหรือจอภาพที่สามารถให้คำแนะนำผู้ใช้ได้

หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์

สถานพยาบาล ศูนย์พักฟื้น ไปจนถึงบ้านพักคนชรามีการนำหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์มาใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย โดยมักใช้ในการแนะนำข้อมูล หรือตอบคำถามง่าย ๆ ไปจนถึงการวัดไข้ผู้ป่วย แต่ความคืบหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายก็ช่วยให้การใช้หุ่นยนต์เหล่านี้มีแนวโน้มที่ดีในอนาคต เช่น จอภาพติดล้อที่สามารถเคลื่อนที่ตามพยาบาลไปยังเตียงผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์สามารถสอบถามอาการได้จากทางไกล ทำให้การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสะดวกขึ้น หรือสามารถเข้าตรวจอาการผู้ป่วยที่เป็นโรคระบาดร้ายแรงได้ง่ายขึ้น หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ถูกใช้งานมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด

นอกจากนี้ ยังมีการนำโรบอทส์มาใช้ดูแลผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่บ้านได้นานขึ้น ไปจนถึงการติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวผ่านจอภาพ รองรับการควบคุมจากทางไกล ทำให้สมาชิกครอบครัวหรือแพทย์สามารถล็อกอินเข้าใช้ได้

IFR คาดการณ์ว่าหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์จะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 40% ในช่วงปี 2020 - 2023 โดยจะมียอดขายในสถานพยาบาลเป็นหลัก เนื่องจากยังมีราคาสูง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทั้งความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


#หุ่นยนต์ทางการแพทย์ #Medical #Medical Robots #ธุรกิจเฮลท์แคร์ #Healthcare #หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ #หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย #หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ #หุ่นยนต์แพทย์ #หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะ #AMR Robots #หุ่นยนต์เคลื่อนที่ #โรบอทส์ #Robots #Robot #หุ่นยนต์ #อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ #อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH