6 เทรนด์โลกกระตุ้น ‘หุ่นยนต์อุตสาหกรรม’ ปี 2023

6 เทรนด์โลกกระตุ้นการใช้ ‘หุ่นยนต์อุตสาหกรรม’ ปี 2023

อัปเดตล่าสุด 3 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 3,592 Reads   

สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ใช่จุดสูงสุด โดยในปี 2023 สิ่งที่จะมากระตุ้นการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้แพร่หลายยิ่งขึ้นจะมาจาก 6 ปัจจัย โดยเฉพาะ Cobots และ Mobile Robots อาทิ AGV, Delivery Robots ที่มีราคาถูกลง ใช้งานง่ายขึ้น

สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของออโตเมชั่น หรือ A3 (Association for Advancing Automation) สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำบทความแนวโน้มที่น่าจับตามองเกี่ยวกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

Advertisement

1. แรงงานและจำนวนประชากร

นาย Scott Marsic ผู้จัดการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Robotics จากบริษัท Epson America แสดงความเห็นว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นเทรนด์ที่ผลักดันการใช้งานระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ที่กำลังเดินหน้าได้ดี แต่ก็ยังมีตำแหน่งงานมากกว่าจำนวนแรงงาน

นาย Kary Zate ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารการตลาดจาก Locus Robotics ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ กล่าวว่า แรงงานเป็นปัญหาระดับโลก ทั้งการขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงอายุ คนรุ่นใหม่ไม่สนใจทำงานในคลังสินค้า และยอมรับว่าการทำงานในคลังสินค้าเป็นงานที่หนักและต้องใช้ร่างกายอย่างมาก เช่นการเดินภายในพื้นที่คลังสินค้าที่อาจะมีระยะทางเดินรวมทั้งวันมากถึง 10 - 15 ไมล์ 

นอกจากนี้ การสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถก็เป็นอีกเรื่องที่มีความท้าทายกว่าสมัยก่อน ทำให้บริษัทหันไปใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อทดแทนแรงงาน ปรับปรุงผลิตภาพ และรักษาความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. Digitalization 

นาย Lian Jye Su ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทวิเคราะห์ตลาด ABI Research แสดงความเห็นว่า การระบาดของโควิดทำให้ภาคอุตสาหกรรมนำออโตเมชันและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่รองรับการทำงานทางไกล หรือ Remote working

ซอฟต์แวร์เหล่านี้ช่วยให้การใช้ระบบอัตโนมัติเป็นไปง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้หุ่นยนต์หลายแบรนด์รวมกัน ซึ่งการจ้างวิศวกรออกแบบระบบอาจใช้เวลายาวนานหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียโอกาสได้

นาย Marsic เสริมว่า งานจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมในระยะหลังมักมีการจัดแสดงซอฟต์แวร์ AI, Augmented Reality (AR), และ Digital Twin มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานในตำแหน่งการโปรแกรมหุ่นยนต์มากขึ้นเช่นเดียวกัน

3. การเติบโตของโคบอทส์และหุ่นยนต์เคลื่อนที่

นาย Su อธิบายว่า โคบอทส์ (Cobots) เป็นเซกเมนต์ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องการใช้งานง่าย ทำให้โคบอทส์ถูกนำไปใช้ร่วมกับพนักงาน หรือใช้ร่วมกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไป และคาดการณ์ว่าความต้องการจะไม่ชะลอตัวลงเร็ว ๆ นี้

ABI Research คาดการณ์ว่า จนถึงปี 2030 ตลาดโคบอทส์ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 32.5% 

ส่วนหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robots) ก็มีความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ซึ่งแต่เดิมหุ่นยนต์ชนิดนี้มีราคาแพง แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงแท่นขุดเจาะน้ำมันและคลังสินค้าอีกด้วย

4. การมุ่งลงทุนในประเทศ

ปัจจุบันค่าแรงในหลายประเทศกำลังพุ่งสูงสวนทางกับราคาระบบอัตโนมัติที่ถูกลง ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มดึงธุรกิจให้กลับไปลงทุนในประเทศ

ไม่เพียงแต่ค่าแรงเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา ภาษี การเมือง ซัพพลายเชน ซึ่งสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการกลับเข้าไปลงทุนในประเทศตนเองนั้น การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าแรง อีกทั้งยังทำให้เริ่มดำเนินการผลิตได้อย่างรวดเร็ว

5. การใช้งานที่ง่ายกว่าที่ผ่านมา

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ใช้งานง่ายดึงดูดให้ผู้ผลิตหันมาใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น โดยนาย Marsic แสดงความเห็นว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ให้ใช้งานง่ายขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากผู้ใช้ต้องการติดตั้งหุ่นยนต์แล้วเริ่มทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการระบบที่ใช้งานได้ง่าย และบริการหลังการขายที่ดีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริง แนวโน้มนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่มาเด่นชัดหลังปี 2020 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ธุรกิจหุ่นยนต์ให้เช่า (Robot as a Service: RaaS) ยังทำให้การลงทุนหุ่นยนต์ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และเอื้อให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนจำนวนหุ่นยนต์ได้อย่างรวดเร็ว รองรับกับความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ง่าย
หุ่นยนต์บริการ ‘ให้เช่า’ ธุรกิจใหม่มาแรง เจาะตลาดร้านอาหาร การแพทย์

6. ความยั่งยืน

ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นอีกสิ่งที่เข้ามากระทบผู้ผลิตหุ่นยนต์เช่นกัน เนื่องจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ผลิตหุ่นยนต์ ไปจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ทำให้หุ่นยนต์มีคุณภาพสูงกว่าเดิมและมีอายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งแนวโน้มนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ยังกระทบผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย

 

#หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #โรบอท #โคบอท #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH