ระบบออโตเมชั่น โลจิสติกส์ ธุรกิจโตยุคโควิด

ระบบ Automation มีบทบาทอย่างไร ในโลจิสติกส์ของโรงงานเครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ย. 2564
  • Share :

ในอีกด้านของโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจเติบโตได้ดี ซึ่งรวมถึง FANCL Corporation ธุรกิจเครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่นรายใหญ่ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีการลงทุนระบบอัตโนมัติ (Automation) ในสายการผลิตและในส่วนงานโลจิสติกส์ (Logistics) 

Advertisement

 

E-commerce โต หลายธุรกิจเร่งลงทุน “คลังสินค้าอัตโนมัติ”

Mr. Chikahisa Okada หัวหน้าแผนกโลจิสติกส์ FANCL Corporation เปิดเผยว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนปรับปรุงศูนย์กระจายสินค้าเป็นเงิน 4,000 ล้านเยน หรือราว 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้แสดงความเห็นว่า

“นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด บริษัทก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงตัดสินใจจัดหาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในศูนย์โลจิสติกส์เพื่อชดเชยในจุดนี้”

 

การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในศูนย์โลจิสติกส์ของ FANCL ทำให้ใช้พนักงานลดลงจากสาขาอื่นถึง 40% สามารถจัดส่งสินค้าได้มากขึ้นวันละ 1.47 เท่า และมีต้นทุนในการจัดส่งสินค้าลดลง

โดยเทคโนโลยีที่เลือกใช้ในคลังสินค้าของบริษัท FANCL ประกอบด้วย คลังสินค้าอัตโนมัติ (Warehouse Automation), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), และหุ่นยนต์หยิบจับสินค้า (Picking Robot)

Mr. Tetsuya Hibi เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Daifuku ผู้ให้บริการด้านระบบขนถ่ายวัสดุ ซึ่งรับผิดชอบการปรับปรุงคลังสินค้าของ FANCL รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด ความต้องการโซลูชันด้าน Material Handling ก็พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะในธุรกิจ E-commerce ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ท่าเรือและสนามบินยังมีการสั่งซื้อระบบขนถ่ายสินค้าเพิ่มเป็นจำนวนมาก และคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2021 นี้ จะมียอดสั่งซื้อจากกลุ่ม E-commerce เพิ่มขึ้นถึง 34% 

นอกจากนี้ Mr. Tetsuya Hibi ยังระบุอีกว่า หลายแบรนด์ใหญ่มีความต้องการด้าน Material Handling เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ยูนิโคล่ (Uniqlo) ซึ่งพบว่าการติดตั้งระบบอัตโนมัติช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก

เมื่อความต้องการโซลูชันอัตโนมัติในงานโลจิสติกส์เติบโตกว่าที่คาดการณ์

Toyota Industries เปิดเผยว่า คีย์เวิร์ดสำคัญของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ “โซลูชัน” จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการเข้าซื้อบริษัทอื่น ๆ เช่น การเข้าซื้อ Vanderlande Industries Holding และ Bastian Solutions ในปี 2017 เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด E-commerce และพบว่าทั้งสองบริษัทมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปีนี้

ระบบออโตเมชั่น โลจิสติกส์ ธุรกิจโตยุคโควิด

ระบบคัดแยกสินค้าความเร็วสูงจาก Vanderlande Industries Holding

และในเดือนเมษายน 2021 นี้เอง ที่ทางบริษัทตัดสินใจก่อตั้ง “T-Hive” บริษัทด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์ขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ เพื่อมุ่งพัฒนาระบบควบคุมรถโฟล์คลิฟท์ และระบบลำเลียงสินค้าอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกันได้ 10 - 100 ระบบขึ้นไป

Mr. Akira Onishi ประธานริษัท Toyota Industries คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2025 บริษัทจะมีการเติบโตจากปีงบประมาณ 2020 เป็นเท่าตัว สืบเนื่องจากความต้องการโซลูชันอัตโนมัติในงานโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง และคาดการณ์ว่าคลังสินค้าอัตโนมัติจะกลายเป็นโซลูชันหลักในตลาด พร้อมแสดงความเห็นว่า

“ที่ผ่านมา บริษัทเราเข้าซื้อกิจการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับตลาด E-commerce และเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากที่ตลาดมีความต้องการมากกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้”

 

Clean Room Automation โซลูชันอัตโนมัติบนสายพานลำเลียงในไลน์ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

Murata Machinery คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2021 บริษัทจะมียอดขายปิดที่ 372,800 ล้านเยน หรือราว 3,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 45% สืบเนื่องจากความต้องการ Clean Room Automation ที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และความต้องการโซลูชันโลจิสติกส์ในภาพรวม

ระบบออโตเมชั่น โลจิสติกส์ ธุรกิจโตยุคโควิด

“SHUTTLINER” จากบริษัท Murata Machinery

โดยความต้องการระบบอัตโนมัติสำหรับคลีนรูมที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลจากการเร่งลงทุนสร้างโรงงาน และขยายสายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อสู้วิกฤตชิปขาดตลาด จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตที่ต่อเนื่องและมั่นคง ไปจนถึงอุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เริ่มมีการจัดหาระบบออโตเมชั่นเพิ่มขึ้นในช่วงหลังมานี้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิดทั้งสิ้น

  • เช็ครายละเอียดโรงงานเซมิคอนดักเตอร์เปิดใหม่ คลิก

แนวโน้ม Material Handling ในตลาดโลก

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี้ นิตยสาร Modern Materials Handling จากสหรัฐอเมริกา รายงานว่า Daifuku เป็นบริษัทที่มียอดขายโซลูชัน Material Handling อันดับ 1 ของโลกเป็นปีที่ 7 ตามด้วย Dematic เป็นอันดับ 2 และ SSI Schaefer ในอันดับ 3

ทางนิตยสารระบุว่า ธุรกิจ Material Handling กำลังถูกจับตามองในฐานะธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการลงทุนด้านโลจิสติสก์ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐต่อโครงการ โดยโซลูชันที่โดดเด่นคือ AGV หรือ รถขนถ่ายสินค้าและวัสดุอัตโนมัติในโรงงาน, หุ่นยนต์, และ AI

  • A.I.TECH AGV หุ่นยนต์ขนส่งอัจฉริยะในโรงงาน สนใจผลิตภัณฑ์ คลิก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องโลจิสติกส์แล้วยังไม่มีโซลูชันใดที่ดีที่สุด เนื่องจากความต้องการของแต่ละบริษัทนั้นต่างกัน หรือต่อให้เป็นธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน หากขนาดสินค้าไม่เท่ากันแล้วก็ย่อมหมายถึงการออกแบบระบบที่แตกต่างกันด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้แสดงความเห็นว่า ธุรกิจ Material Handling หลายราย โดยเฉพาะในญี่ปุ่นมุ่งไปกับการออกแบบโซลูชันเฉพาะให้แก่ลูกค้าแต่ละรายมากเกินไป ทำให้มีต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูง นำไปสู่ผลกำไรที่ลดลง ต่างจากค่ายยุโรปที่เน้นไปที่การออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน สามารถใช้งานร่วมกันได้ในหลายธุรกิจ

 

สรุป

ในโลกที่ E-Commerce กำลังเติบโตเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่โซลูชันสำหรับโลจิสติกส์จะเติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ Social Distancing กลายเป็น New Normal สังคมผู้สูงอายุ และปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากโซลูชันโลจิสติกส์เหล่านี้จะมีการเติบโตที่ต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคต


#โลจิสติกส์ #E-commerce #ระบบออโตเมชั่น #Automation #ระบบอัตโนมัติ #คลังสินค้าอัตโนมัติ #Logistics #โซลูชัน โลจิสติกส์ #AGV #Material Handling #Automated Warehouse #Robot #เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH