ธุรกิจดาวรุ่ง "ลีสซิ่ง เครื่องมือแพทย์" แจ้งเกิดหลังโควิด
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ได้กลายเป็นโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทยแล้ว อุตสาหกรรมการแพทย์ ได้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของประเทศ ด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริการด้านการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ทั้งจากจำนวนประชากร และชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ จะได้ผลักดันการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตจากประชากรไทยและอาเซียนที่สูงวัย ซึ่งจะยังคงเพิ่มการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคเรื้อรังและรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยคาดว่าจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 20% ภายในปี 2574
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอีกด้านจากการระบาดของโควิดได้สร้างแรงกดดันให้โรงพยาบาลหลายแห่งสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก ทำให้การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ราคาแพงของโรงพยาบาลลดลงไป โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่อง CT Scan, เครื่อง MRI, เครื่องฉายรังสี, หุ่นยนต์ผ่าตัด และอื่น ๆ จึงมีแนวโน้มที่โรงพยาบาลมีความต้องการเช่าใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการไม่ต้องลงทุนเครื่องมือราคาสูงแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้รักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงโรงพยาบาลใหญ่ และยังกระตุ้นให้มีโรงพยาบาลเฉพาะทางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในฝั่งญี่ปุ่นนั้น ได้เล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ “ลีสซิ่ง เครื่องมือแพทย์” ที่มีโอกาสแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดย Mr. Katsuyuki Nishizaki ผู้อำนวยการ Sumitomo Mitsui Finance and Leasing เปิดเผยว่า เครื่องมือแพทย์แบบเช่าใช้ จะกลายเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรม และผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในอนาคต ซึ่งในปี 2019 มีการเช่าใช้เครื่องมือแพทย์คิดเป็นมูลค่ารวม 360,200 ล้านเยน หรือราว 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ธุรกิจลีสซิ่งเครื่องมือแพทย์ยังมีส่วนผลักดันความต้องการชิ้นส่วนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคตมากขึ้น เช่น ระบบเซนเซอร์, ระบบ IT, คลาวด์, Remote Controlling ทำให้คาดการณ์ได้ว่า การลงทุนในด้านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับเครื่องมือแพทย์ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ และพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต สืบเนื่องจากความต้องการควบคุมโรคระบาด และการประหยัดไฟที่มากขึ้นไปตามจำนวนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ นอกจากโรงพยาบาลแล้ว จะมีความต้องการจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น บ้านพักคนชราอีกด้วย
ซึ่งแนวโน้มทั้งหมดนี้เองที่ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ต้องติดตาม เพื่อที่จะสามารถนำมาพัฒนาแผนธุรกิจในอนาคตได้ต่อไป เช่น การให้บริการเครื่องมือแพทย์แบบใช้เช่าเป็นแพคเกจคู่กับการบำรุงรักษา, การวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของเครื่องมือแพทย์ผ่านข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมต่อระบบ, หรือการเน้นผลิตเครื่องมือแพทย์ราคาต่ำ และราคาปานกลางแทน เป็นต้น