Tesla Unboxed Process ดีจริงไหม?

Tesla Unboxed Process ดีจริงไหม?

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 1,936 Reads   

Unboxed Process ของเทสลา จะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ เมื่อมีข้อกังขาว่าที่ผ่านมาบริษัทล้มเหลวในการใช้เทคโนโลยีใหม่มาแล้วหลายครั้ง

วันที่ 15 พฤษภาคม 2023 รอยเตอร์รายงานบทวิเคราะห์ “Unboxed Process” กระบวนการผลิตใหม่ของเทสลา โดยรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายราย ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้

Advertisement

เมื่อเทสลาเปิดตัว Unboxed Process เป็นครั้งแรก บริษัทเผยว่ากระบวนการผลิตนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงครึ่งหนึ่ง ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงงานลงได้ 40% อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตรูปแบบนี้จะยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีกำหนดการเริ่มสายการผลิตนี้ในช่วงปลายปี 2024 ที่โรงงานมอนเตร์เรย์ ประเทศเม็กซิโก

เทสลาวางแผนลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้รถอีวีรุ่นใหม่มีราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ได้เกิดคำถามว่า กระบวนการผลิตนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไรบ้าง จะเข้ามาแทนที่ Toyota Production System (TPS) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายได้หรือไม่ และกระบวนการนี้จะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาเทสลาจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการหลายครั้ง อีกทั้งยังเคยล้มเหลวในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้งานอีกหลายหน

Martin French กรรมการผู้จัดการ Berylls บริษัทให้คำปรึกษาที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและ Smart Mobility สงสัยว่า กระบวนการผลิตใหม่ของเทสลาจะเข้ามาแทนที่ Lean Manufacturing แบบที่ผ่านมาได้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบว่า “ความรู้สึกเมื่อเห็นการนำเสนอของเทสลา คือ รู้สึกเหมือนเห็นคู่มือ Toyota Production System ถูกโยนขึ้นฟ้า”

Jan-Philipp Büchler นักวิจัยจาก Free University of Dortmund เชื่อมั่นว่ากระบวนการผลิตใหม่นี้เป็น "การปฏิวัติ" โดยอธิบายว่า Unboxed Process เป็นมากกว่าการผลิตแบบโมดูลาร์ (Modular Production) โดยกำจัดกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน สร้างรูปแบบการทำงานใหม่ที่มีความเร็วมากขึ้น และลดความยุ่งยากลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตส่วนหนึ่ง เชื่อมั่นว่า Unboxed Process มีศักยภาพในการลดหรือกำจัดองค์ประกอบที่คุ้นเคยในโรงงานผลิตรถยนต์ เช่น การปั๊ม การเชื่อม และการพ่นสีตัวถังรถยนต์ที่ยังไม่เสร็จ ซึ่งหากเป็นไปตามที่เทสลาตั้งเป้าไว้ กระบวนการผลิตนี้จะเข้ามพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ อย่างไรก็ตาม มีความเห็นตรงกันว่าเทสลาเคยล้มเหลวบ่อยครั้ง ทั้ง Cybertruck ที่ประสบกับความล่าช้า และซอฟต์แวร์ "Full Self Driving" ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

James Womack ผู้ร่วมเขียนหนังสือ "The Machine That Changed the World" หนังสือปรัชญาและวิธีการผลิตแบบลีนของโตโยต้า อธิบายความแตกต่างระหว่าง  Toyota Production System และ Unboxed Process ว่า โดยหลักแล้ว วิธีการของเทสลา คือ “กระบวนการประกอบ" ในขณะที่โตโยต้าเน้นพัฒนา "ระบบการจัดการการผลิต" ที่ครอบคลุม ช่วยให้ผู้ผลิตยานยนต์ประกอบและดำเนินกระบวนการที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Hide Oba ที่ปรึกษาด้านการผลิตแบบลีนผู้มีประสบการณ์การทำงานใน Toyota Production System Support Center เสริมว่า ความเสี่ยงของ Unboxed Process คือระบบจะไม่สามารถทำงานได้หากโมดูลต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกันโดยสมบูรณ์ หรือไม่สามารถประกอบเข้าด้วยกันได้ในเวลาที่กำหนด

อีกข้อกังขา คือ Unboxed Process จะรองรับการผลิตยานยนต์ที่หลากหลายบนสายการผลิตเดียวกันหรือไม่ ซึ่งนาย Oba คาดการณ์ว่าเป็นไปไม่ได้จริง เนื่องจากการแยกยานยนต์ออกเป็นส่วนของเทสลาจะยากต่อการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมลดลงได้

 

#เทสลา #รถยนต์ไฟฟ้า #unboxedprocess #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH