โปรตีน Plant-based เนื้อจากพืช อาเซียน

"โปรตีนทางเลือก" ในตลาดอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 29 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 2,707 Reads   

'โปรตีนทางเลือก' อาหารแปรรูปที่มีแนวโน้มเติบโตในอาเซียน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2021 สำนักข่าวนิคเคอิ เผยแพร่บทความในหัวข้อ “ความเป็นไปได้ของโปรตีนทางเลือกในอาเซียน” ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหลายสำนักวิเคราะห์และบริษัท โดยใจความสำคัญดังนี้

Advertisement

“โปรตีนทางเลือก” คืออะไร? ทำไมจึงมีแนวโน้มเติบโตในอาเซียน?

โปรตีนทางเลือก คือโปรตีนที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปศุสัตว์ เช่น พืช แมลง และอื่น ๆ กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในโลกตะวันตก และมีความเป็นไปได้ว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนนี้ ก็อาจจะมีแนวโน้มเช่นเดียวกัน

โดยผลการศึกษาของสำนักวิเคราะห์ PwC, Rabobank และ Temasek คาดการณ์ว่า ในปี 2030 มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารสำหรับบริโภคในอาเซียนจะเพิ่มขึ้น 83% จากปี 2019 คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงกว่าประเทศจีนอย่างมาก และด้วยตลาดที่มีขนาดใหญ่จึงทำให้เห็นถึงโอกาสของโปรตีนทางเลือกในตลาดอาเซียน

โดย 43% ของผู้บริโภคในอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะผันตัวมาทานอาหารมังสวิรัติภายใน 12 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ผู้บริโภคไทยมีแนวโน้มทานมังสวิรัติอยู่ที่ 37% สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ 23% มาเลเซีย 20% และเวียดนาม 3% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวม Flexitarian หรือผู้ที่พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ โปรตีนทางเลือกก็ไม่ใช่อาหารที่ไกลตัวผู้บริโภคอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น “เต้าหู้” อาหารที่หลายประเทศในอาเซียนคุ้นเคย อีกทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Plant-based Meat ที่มีสัดส่วนในตลาดอาเซียนน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายผลิตภัณฑ์โปรตีนสังเคราะห์ทั้งหมด 

“Plant-based Meat หรือ เนื้อจากพืช คือ เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช โดยใช้กระบวนการแปรรูปพืชให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด หรือ เนื้อสังเคราะห์นั่นเอง”

โดย Euromonitor International เปิดเผยว่า ใน 6 ตลาดหลักของอาเซียนซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ Plant-based Meat เพียง 0.07% เท่านั้น จากยอดขายผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกทั้งหมด 279,000 ตันในปี 2020 

ทำไมอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกจึงน่าสนใจ?

Karen Schuster หัวหน้าฝ่ายนโยบายวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมจากสถาบัน Tony Blair Institute for Global Change แสดงความเห็นว่า สาเหตุที่โปรตีนทางเลือกมีศักยภาพในการเติบโตอยู่ในคำว่า “ทางเลือก” ด้วยการเพิ่มทางเลือกของอาหารให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ตัวเลือกอาหารมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดคือศักยภาพในการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 

ปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนมีการผลิตอาหารแปรรูปอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และหากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ก็จะมีโอกาสที่จะสร้างตำแหน่งงานและดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะให้เข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้นควบคู่ไปกับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อื่น ๆ 

Green Rebel Foods สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก ซึ่งหลังจากก่อตั้งในปี 2020 ก็สามารถผันตัวมาเป็นซัพพลายเออร์ให้แบรนด์ชั้นนำระดับโลกอย่าง Starbucks และ Domino's Pizza ได้ด้วยผลิตภัณฑ์เนื้อจากเห็ด, ไก่จากถั่วเหลือง, และชีสจากถั่ว

อีกหนึ่งฮับสำคัญในการผลิตโปรตีนทางเลือกคือสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติให้ผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อสังเคราะห์จากห้องทดลอง พร้อมอนุมัติให้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อีกทั้งโปรตีนทางเลือกยังเป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการลงทุนเป็นอย่างมาก และมีระดับเทคโนโลยีสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน 

ตัวอย่างเช่นบริษัท Next Gen Foods ผู้ผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์ ซึ่งเตรียมย้ายบริษัทเข้าไปใช้พื้นที่ของหน่วยงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*Star) ของรัฐบาลสิงคโปร์ 
รวมไปถึง Asia Sustainable Foods Platform ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Temasek Holdings กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งการสนับสนุนเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก

แม้แต่บริษัทไทยอย่าง CP Foods ก็เริ่มส่งออก Plant-based Meat ไปขายที่สิงคโปร์และฮ่องกงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมานี้

อุปสรรคของโปรตีนแปรรูปคือ “ราคา”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มเติบโตแต่โปรตีนทางเลือกก็ยังมีอุปสรรคอยู่ โดย Euromonitor International เปิดเผยว่า เมื่อเทียบระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคอื่น ๆ พบว่า สาเหตุที่โปรตีนทางเลือกมีการเติบโตอย่างมากในประเทศพัฒนาแล้วเป็นเพราะความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคในอาเซียนยังมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก

อีกปัจจัยหนึ่งคือราคา เนื่องจากในปัจจับันโปรตีนทางเลือกยังมีราคาสูง และหากไม่สามารถทำราคาให้เข้าถึงได้ง่าย การที่ผู้บริโภคจะหันมาซื้อผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกก็เป็นเรื่องยาก

Mirte Gosker รักษาการกรรมการผู้จัดการ Think Tank จากสถาบัน Good Food Institute APAC เห็นด้วยกับประเด็นข้างต้นและแสดงความเห็นว่า คอขวดในอาเซียนคือยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการผลิตโปรตีนทดแทนให้มีราคาเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้ อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากพืชหลายชนิดยังคงมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ในหลายประเทศยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่องจนมีต้นทุนการผลิตอาหารต่ำกว่ามากอีกด้วย

 

#โปรตีนทางเลือก #โปรตีนเทียม #Lab Grown Meat #Plant-based Meat #เนื้อจากพืช #เนื้อสังเคราะห์ #อุตสาหกรรมอาหาร #อาเซียน #ASEAN #เอ็ม รีพอร์ต #M Report #mreportth #Mreport #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH