วิ่งไป ชาร์จไป แบบไร้สาย ต่อยอดใช้กับหุ่นยนต์โรงงาน รถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 849 Reads   

ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เปิดตัว แท่นชาร์จไฟไร้สาย สำหรับวัตถุขณะเคลื่อนที่  โดยเบื้องต้น เทคโนโลยีนี้จะนำมาใช้ชาร์จไฟให้กับหุ่นยนต์ในโรงงาน สายการผลิตและคลังสินค้า รวมถึงโดรนได้ พร้อมตั้งเป้าพัฒนาต่อด้วยการขยายขนาดให้สามารถนำไปชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าขณะขับขี่ได้ต่อไปในอนาคต

แท่นชาร์จนี้ มีคุณสมบัติในการชาร์จไฟให้รถยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย โดยมีจุดที่แตกต่างไปจากแท่นชาร์จไร้สายสำหรับสมาร์ทโฟน คือ สามารถชาร์จไฟวัตถุขณะเคลื่อนที่ได้ โดยเฉพาะการชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากทีมวิศวกรเล็งเห็นว่า ในความเป็นจริง การจอดรถเพื่อชาร์จไฟที่สถานีเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง นั้นนานเกินไปสำหรับการเดินทาง

Shanhui Fan และ Sid Assawaworrarit วิศวกรไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จไฟไร้สายสำหรับวัตถุเคลื่อนที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด ทั้งคู่ได้เปิดตัวผ่านนิตยสาร Nature Electronics ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวต่อยอดใช้กับหุ่นยนต์ในโรงงานและคลังสินค้า  ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถนำไปทดลองชาร์จไฟให้กับหุ่นยนต์ขณะเคลื่อนที่ ช่วยให้สายการผลิตทำงานได้อย่างต่อเนื่องเกือบ 24 ชั่วโมง

“เราอยากพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้นำไปชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนได้ในอนาคต ซึ่งเราไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องเกินจริงนัก เนื่องจากปัจจุบัน เราสามารถชาร์จไฟให้หุ่นยนต์ขณะเคลื่อนที่อยู่ได้แล้ว”

Shanhui Fan แสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีชาร์จไฟไร้สายในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญสู่ระบบชาร์จไฟไร้สาย สำหรับยานยนต์ และหุ่นยนต์อัตโนมัติในอนาคต โดยแท่นชาร์จจะทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสนามแม่เหล็กในความถี่ที่ทำให้ขั้วแม่เหล็กของแบตเตอรี่เกิดการสั่นสะเทือน 

โดยจากการทดลองครั้งแรกนั้น แท่นชาร์จสามารถชาร์จไฟไร้สายให้วัตถุขณะเคลื่อนที่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคลื่นความถี่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะห่างระหว่างวัตถุและแท่นชาร์จ ทำให้ต้องติดตั้งตัวขยายสัญญาณไว้ที่วัตถุ ซึ่งพบว่ากินไฟมากกว่าเดิม และส่งกระแสไฟฟ้าได้เพียง 10% จากที่ต้องการเท่านั้น

แต่ในรายงานฉบับล่าสุด ทีมวิศวกรสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ถึง 92% โดย Sid Assawaworrarit ระบุว่า เป็นผลจากการเปลี่ยนตัวขยายสัญญานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แท่นชาร์จสามารถส่งกระแสไฟฟ้า 10 วัตต์ เป็นระยะทาง 3 ฟุต ซึ่งในกรณีที่ไม่มีสิ่งกีดขวางแล้ว หากพัฒนาแท่นชาร์จให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ 10-100 กิโลวัตต์ ซึ่งจะเพียงพอต่อการชาร์จไฟแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าขณะวิ่งอยู่ได้ และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะถูกนำไปติดตั้งในถนนจริง และคาดการณ์ว่าเบื้องต้น จะถูกใช้ในการชาร์จไฟให้กับหุ่นยนต์ และโดรนเป็นหลัก เนื่องจากการติดตั้งแท่นชาร์จในพื้นที่จำกัดเป็นไปได้ง่ายกว่า