ติดตาม ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ และการเติบโตของตลาดในอนาคต

ติดตาม ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ และการเติบโตของตลาดในอนาคต

อัปเดตล่าสุด 9 ก.พ. 2566
  • Share :

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ความต้องการหุ่นยนต์ทางการแพทย์จึงเติบโตอย่างมาก เป็นที่คาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีมูลค่ารวมถึง 7.64 แสนล้านเหรียญ  

หุ่นยนต์ผ่าตัด (Surgical Robots) หรือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการผ่าตัดด้วยการสอดคีมหรือปากคีบเข้าไปในร่างกายผ่านรูขนาดเล็ก ซึ่งในการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ผู้ปฏิบัติงานควบคุมแขนหุ่นยนต์ผ่าตัดควบคู่ไปกับการดูภาพ 3 มิติ (3D) คุณภาพสูง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างละเอียดแม้ผู้ป่วยตัวเล็ก อีกทั้งยังไม่มีการสั่น ทำให้ผ่าตัดได้ประณีตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แผลจากการผ่ายังมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เจ็บแผลหลังผ่าน้อยกว่า และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำกว่า

Advertisement

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด Global Information คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ขนาดตลาดของระบบหุ่นยนต์ทางการแพทย์รวมถึงหุ่นยนต์ผ่าตัดจะมีมูลค่าราว 7.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุและค่ารักษาพยาบาลต่อคนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยผลักดันความต้องการหุ่นยนต์ประเภทนี้

ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น บริษัทประกันชีวิตและสุขภาพได้ให้ความคุ้มครองการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครั้งแรกในปี 2012 จากนั้นในปี 2016 จึงขยายการคุ้มครองไปยังมะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งทวารหนัก รวมถึงโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด ทำให้ตลาดหุ่นยนต์ผ่าตัดในญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว

นาย Ichiro Takemasa ศาสตราจารย์จาก Sapporo Medical University อธิบายว่า หลังจากบริษัทประกันคุ้มครองการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์แล้ว การผ่าตัดมะเร็งทางเดินอาหารแทบทั้งหมดในญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนมาดำเนินการโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งในปี 2021 มีการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ด้วยหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมากถึง 20 เท่าจากปี 2017

ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมให้แพทย์มีทักษะการทำงานกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ผ่อนคลายลง แม้แต่แพทย์อายุน้อยก็สามารถผ่าตัดผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ โดยนาย Ichiro Takemasa เผยว่า ที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยของศัลยแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานหุ่นยนต์ผ่าตัดอยู่ที่ 44 ปี ในขณะที่จำนวนศัลยแพทย์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแพทย์รุ่นใหม่จะได้รับการอบรมให้มีทักษะการทำงานด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด เพื่อให้คุณภาพการรักษาดีขึ้นในอนาคต

ความคืบหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในปัจจุบัน ซึ่งมี 3 บริษัทที่น่าสนใจ ได้แก่ Intuitive Surgical ผู้ผลิตหุ่นยนต์ผ่าตัด Da Vinci เจ้าตลาดด้วยสัดส่วน 70%, Medtronic ยักษ์ใหญ่จากไอร์แลนด์ เปิดตัว Hugo™ RAS System, และ hinotoriTM Surgical Robot หุ่นยนต์ผ่าตัดสัญชาติญี่ปุ่นตัวแรกจากบริษัท Medicaroid 

 

Da Vinci - ลดจำนวนแผลผ่าตัด ลดภาระผู้ป่วย

Intuitive Surgical ผู้ผลิตหุ่นยนต์ผ่าตัด “Da Vinci” หนึ่งในหุ่นยนต์ผ่าตัดที่ครองส่วนแบ่งตลาดโลกราว 70% และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในญี่ปุ่น ได้วางจำหน่าย “da Vinci SP” ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีจุดเด่นคือ “Single Port system” และเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นแรกในญี่ปุ่นที่ใช้แขนหุ่นยนต์ข้างเดียว โดยแขนหุ่นยนต์ติดตั้งท่อทรงกระบอกหรือ Cannula ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ซม. ภายในท่อติดตั้งกล้องและคีม 3 ชุด ทำให้สามารถผ่าตัดได้ด้วยการสอดเครื่องมือเพียงหนึ่งจุด ต่างจากหุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นก่อนซึ่งใช้ระบบ Mingle Port system ที่ต้องสอดเครื่องมือ 4 จุด

ด้วยเหตุนี้ หุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นใหม่ da Vinci SP จึงสามารถลดจำนวนแผลหลังการผ่าและภาระของผู้ป่วยลงได้เป็นอย่างมาก

นาย Kazuhiro Takizawa ประธานบริษัท Intuitive Surgical สาขาญี่ปุ่น เผยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของหุ่นยนต์ผ่าตัดในญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงปี 2018 ซึ่งบริษัทประกันขยายความคุ้มครองสำหรับระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ ทำให้หุ่นยนต์ผ่าตัดอย่าง Da Vinci กลายเป็นตัวเลือกแรก และตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

Hugo™ RAS System - ใช้งานแขนอย่างอิสระ เพื่อให้แพทย์ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น

Medtronic ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์การแพทย์จากไอร์แลนด์ได้เข้าสู่ตลาดหุ่นยนต์ผ่าตัดเช่นกัน โดยเปิดตัว Hugo™ RAS System ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา

ติดตาม ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ และการเติบโตของตลาดในอนาคต

“Hugo™ RAS System” บริษัท Medtronic

จุดเด่นของ Hugo™ RAS System คือ แขนหุ่นยนต์แต่ละข้างเป็นอิสระจากกัน ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้สามารถปรับรูปแบบและขั้นตอนที่จำเป็นในการผ่าตัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วย และยังออกแบบให้แพทย์หลายคนสามารถดูหน้าจอได้พร้อมกัน เพื่อช่วยให้การสื่อสารและการตรวจสอบระหว่างการผ่าตัดสะดวกยิ่งขึ้น

Reiko Nakagawa ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท Covidien Japan อธิบายว่า ทั่วโลกมีการผ่าตัดผู้ป่วยราว 50 ล้านครั้งในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบส่องกล้องยังมีจำนวนไม่ถึง 60% ของตัวเลขนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง และแสดงความเห็นว่า แม้ Da Vinci จะครองส่วนแบ่งตลาดโลก แต่ความต้องการผ่าตัดแบบส่องกล้องก็ยังมีอีกมาก 

 

hinotoriTM - หุ่นยนต์ผ่าตัดสัญชาติญี่ปุ่นรุ่นแรก

ปัจจุบัน ผู้ผลิตหลายรายต่างเร่งพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สิทธิบัตรหลายรายการของ Da Vinci เริ่มหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2019 ทำให้การแข่งขันในตลาดหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้มข้นขึ้น

สำหรับประเทศญี่ปุ่น Kawasaki Heavy Industries และ Sysmex ได้ร่วมก่อตั้ง Medicaroid เพื่อพัฒนา “hinotoriTM Surgical Robot System” ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นแรกของญี่ปุ่นในปี 2020 และได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ ก่อนได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ให้นำมาใช้การผ่าตัดทางเดินอาหารและการผ่าตัดทางนรีเวช ซึ่งปัจจุบันถูกใช้ผ่าตัดไปแล้วมากกว่า 900 ครั้ง

ติดตาม ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ และการเติบโตของตลาดในอนาคต

“hinotoriTM Surgical Robot System” จาก Medicaroid

Hisashi Ietsugu ประธานบริษัท Sysmex กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ผลิตในประเทศมีข้อได้เปรียบหุ่นยนต์นำเข้า คือ สามารถรับฟังความเห็นและพัฒนาให้เหมาะสมกับลูกค้าได้ง่ายกว่า และอยู่ระหว่างเดินหน้าเตรียมการส่งออกสู่ตลาดโลก โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1 แสนล้านเยน หรือราว 763 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030

ในประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Medical Hub และเริ่มมีการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดเช่นกัน 

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#หุ่นยนต์ผ่าตัด #หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด #หุ่นยนต์ทางการแพทย์ #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH