ทักษะแรงงาน ภาคการผลิต

5 ทักษะจำเป็น หากต้องการอยู่รอดในภาคการผลิตยุคใหม่

อัปเดตล่าสุด 22 เม.ย. 2565
  • Share :
  • 5,492 Reads   

ทักษะแรงงาน 5 ข้อที่จำเป็นสำหรับความต้องการของภาคการผลิตยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการดิสรัปของเทคโนโลยีและความท้าทายในการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงยิ่งขึ้น 

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว หลายบริษัทจำเป็นต้องมองหาแรงงานใหม่ ๆ เพื่อให้สายการผลิตเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีหุ่นยนต์และออโตเมชั่นก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการทักษะในสายการผลิตกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยน และจะทำให้เกิดช่องว่างทางทักษะที่มากขึ้นในอนาคต

แม้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปจนถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ จะยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในทุกโรงงาน แต่การมองหาแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมนั้นยิ่งหาได้เร็วก็ยิ่งเป็นผลดี แรงงานที่สามารถปรับตัวได้ก็จะมีโอกาสในการมองหางานในภาคการผลิตที่มากยิ่งขึ้น

Advertisement

Better MRO เครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำบทความ 5 ทักษะจำเป็นของแรงงานในภาคการผลิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ทักษะที่ 1: ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล

ปัจจุบัน Digital Transformation กำลังเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในภาคการผลิต อย่างไรก็ตามพนักงานฝ่ายผลิตส่วนมากยังขาดความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy ยกตัวอย่างเช่น แรงงานภาคการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งสมาพันธ์ทักษะแห่งชาติรายงานว่า 1 ใน 6 ของแรงงานภาคการผลิตสหรัฐฯ ขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นต้น โดยอยู่ในเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า ดังนี้

1. มีประสบการณ์ใช้งานคอมพิวเตอร์
2. เต็มใจให้รับการประเมินผลโดยคอมพิวเตอร์
3. ทักษะพื้นฐาน เช่น การใช้เมาส์ การไฮไลต์ตัวอักษร

ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญอย่างมากในสายการผลิต เช่น ช่วยให้พนักงานสามารถควบคุมเครื่อง CNC หรือใช้งาน CAD/CAM ได้ และการที่แรงงานจะประสบความสำเร็จในภาคการผลิตยุคใหม่นั้น แรงงานจะต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลเสียก่อนจึงจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันและในอนาคตอีกด้วย

ทักษะที่ 2: การโปรแกรมหุ่นยนต์และออโตเมชั่น

พนักงานในภาคการผลิตควรยกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้หุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานของตนได้ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตจะมีส่วนในการเพิ่มกำลังการผลิต ช่วยให้ธุรกิจเติบโต และแทนที่ตำแหน่งงานจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นทดแทน อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานเหล่านี้ต้องการทักษะมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การโปรแกรมหุ่นยนต์ทุกวันนี้ทำได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขยับหุ่นยนต์ไปยังชิ้นงานที่ต้องการแทนการเขียนโปรแกรม หรือการใช้ซอฟต์แวร์ซิมูเลชัน ทำให้แรงงานที่มีทักษะการโปรแกรมขั้นพื้นฐานสามารถควบคุมหุ่นยนต์เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อได้อย่างราบรื่น

Lizabeth Stuck ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์วิจัยการผลิตยุคดิจิทัล MxD จากสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า แม้จะมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่ระบบเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีคนควบคุม คนบริหารจัดการ คนซ่อมบำรุง และอื่น ๆ

ทักษะที่ 3: การวิเคราะห์ข้อมูล

โรงงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะฉลาดยิ่งขึ้นจากการนำ AI, IoT, และเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาพัฒนาสายการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การใช้ข้อมูลที่ได้จากสายการผลิตให้เกิดประโยชน์

Tom Leeson ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตจากบริษัทซอฟต์แวร์ OpenText แสดงความเห็นว่า ข้อมูลเปรียบได้กับเส้นเลือดของโรงงานในอนาคต ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้ในทุกกระบวนการของสายการผลิตและให้ฟีดแบ็ค เพื่อให้บริษัทนั้น ๆ สามารถพัฒนาต่อได้

แต่การจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้ พนักงานในภาคการผลิตก็จำเป็นต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเครื่องจักรนั่นเอง

ทักษะที่ 4: การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี

นอกจากความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล การโปรแกรม และการวิเคราะห์แล้ว พนักงานในสายการผลิตก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นด้วยจึงจะสามารถอยู่รอดในภาคการผลิตได้

ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้งานยากเสมอไป โดยตัวอย่างหนึ่ง คือ โคบอทส์ ซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับพนักงานได้ในสายการผลิต และใช้งานง่ายกว่าหุ่นยนต์ประเภทอื่น ๆ ช่วยทดแทนการทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ไปจนถึงงานที่สกปรกและมีความเสี่ยง เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานอื่นแทนได้

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานอาจเลือกใช้โคบอทส์ในงานตรวจสอบคุณภาพสินค้า ส่วนพนักงานนั้นก็ไปตรวจสอบการทำงานของโคบอทส์แทนการตรวจสอบสินค้าด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องทำซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน แต่โคบอทส์สามารถทำได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย

ทักษะที่ 5: Critical Thinking

การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking คือทักษะในการสังเกตสิ่งต่าง ๆ เพื่อประเมินอย่างมีเหตุผล ซึ่งในสายการผลิต พนักงานจะต้องสังเกตข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากมนุษย์และเครื่องจักร วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ประเมินหาแนวทางต่าง ๆ และเลือกแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สำนักวิเคราะห์ Deloitte รายงานว่า ในภาคการผลิต กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการมองหาข้อผิดพลาดของชิ้นงาน, การมองหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเมื่อระบบทำงานขัดข้อง, และอื่น ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิต

ซึ่งการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว จะสามารถลดดาวน์ไทม์ในสายการผลิตลงได้เป็นอย่างมาก ช่วยให้การผลิตเดินหน้าได้โดยไม่ติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสายการผลิตมีความอัตโนมัติมากขึ้น ทักษะ Critical Thinking ก็อาจสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของธุรกิจก็เป็นได้

 

#แรงงาน #พัฒนาบุคลาการ #ทักษะแรงงาน #Upskill #Reskill #การผลิตยุคใหม่ #Digital Transformation #Industry 4.0 #Robot #Automation #Manufacturing #อุตสาหกรรมการผลิต #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH