NEDO เผยแนวโน้มเทคโนโลยีหลังโควิด ย้ำสถาบันวิจัยต้องมีบทบาทยิ่งขึ้นในช่วงที่ธุรกิจอ่อนแรง
เมื่อกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา Mr. Hiroaki Ishizuka ประธาน NEDO: New Energy and Industrial Technology Development Organization ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมรายงานที่เผยแนวโน้มเทคโนโลยีหลังโควิดในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไป
ปัจจุบันมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นจำนวนมาก มีความเห็นอย่างไร?
“ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือ SME ด้วยเหตุนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมุ่งให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการสนับสนุนต่าง ๆ เป็นหลัก ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง ที่เราอย่างส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธุรกิจต่าง ๆ ทั้งรายใหญ่ และสตาร์ทอัพให้มากขึ้น เนื่องจากศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมนั้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนก็จะยิ่งทำให้เทคโนโลยีในยุคหลังโควิดเกิดขึ้นได้ช้าลงอีก”
ความเห็นอย่างไรในฐานะที่เคยทำงานในฐานะผู้บริหารบริษัทเอกชนมาก่อน?
“ต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่จำเป็นต้องยอมขาดทุนในช่วงวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการหวาดกลัวอีกสิ่งคือผู้ถือหุ้น เนื่องจากการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นส่งผลต่อบริษัทอย่างมาก ธุรกิจหลายรายจึงเลือกหั่นงบวิจัยและพัฒนา หรือค่าแรงเพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการดูดีขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่ามีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินการเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เอง ที่สถาบันวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลกควรเพิ่มบทบาทของตนให้มากขึ้น เราต้องแสดงให้ทั้งรัฐบาล และเอกชนมองเห็นอนาคตให้ได้ จึงจะสามารถเร่งพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ภาคการผลิตเดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้”
l แนวโน้มเทคโนโลยีหลังโควิดในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไป
NEDO โดยศูนย์วิจัยกลยุทธ์เทคโนโลยี (TSC: Technology Strategy Center) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าหลังการระบาดของโควิด ความเข้าใจถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ซัพพลายเชน อุตสาหกรรมการผลิต และปัญหาของสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในทุกภาคส่วน และตระหนักถึงความสำคัญของโมเดลธุรกิจ และซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่น และการกระจายศูนย์กลาง (Decentralization) มากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเองด้วย
TSC เปิดเผยว่า ในระยะแรกของการฟื้นตัว เทคโนโลยีที่จะได้รับความสนใจ คือ Digitalization เนื่องจากสามารถเริ่มได้ในทันที และจะอยู่ไปอีก 3 - 10 ปีนับจากนี้ โดยเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในการลดความจำเป็นของแรงงานและเครื่องจักรในซัพพลายเชนจะถูกผลักดันอย่างกว้างขวางในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งในช่วงที่การผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นี้เองจะเปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจสามารถลดแรงงานส่วนเกิน และนำงบประมาณในส่วนนี้ไปทุ่มเทให้กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
จากแรงหนุนของ Digitalization จะผลักดันให้เทคโนโลยีอื่นมีแนวโน้มเติบโต ซึ่งเห็นได้จากช่วงต้นของการระบาดที่ความต้องการเครื่องมือออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมทางไกล, ระบบความปลอดภัยไซเบอร์, และเครื่องมือเพื่อการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ มีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีการลงทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ดังนี้
- Virtual Reality มีแนวโน้มเติบโตในอุตสาหกรรมการศึกษา บันเทิง และกีฬา
- Sensor, Remote Controlling, และ Remote Monitoring มีแนวโน้มเติบโตในอุตสาหกรรมการแพทย์ และเครื่องมือแพทย์
- Sharing Factory, เทคโนโลยีการผลิตและซัพพลายเชนทุกชนิด ในอุตสาหกรรมการผลิตทุกหมวดหมู่
อีกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะได้รับการสนับสนุน คือ เทคโนโลยีรีไซเคิล สืบเนื่องจากที่แล้วมา ธุรกิจหลายรายทั่วโลกอาศัยการส่งออกขยะ หรือแรงงานต่างชาติซึ่งมีค่าแรงถูกในการกำจัดของเสียจากการผลิต อย่างไรก็ตาม โควิดได้กระตุ้นให้ธุรกิจมีความต้องการระบบกำจัดของเสีย และรีไซเคิลเป็นของตัวเองมากขึ้น โดยพบว่าภาคการผลิตยุโรปมีการลงทุนระบบอัตโนมัติสำหรับการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าจะใช้เวลานับจากนี้ราว 5 ปี เทคโนโลยีนี้จึงจะสามารถนำมาใช้งานจริงได้
นอกจากนี้ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในยุโรปซึ่งที่ผ่านมามีการบังคับใช้อย่างเข้มข้นกำลังถูกพิจารณาใหม่ โดยแม้จะมีการเรียกร้องจากหลายบริษัทถึงการผ่อนปรนนโยบาย แต่รัฐบาลเยอรมัน และอังกฤษต่างอยู่ระหว่างพิจารณาผันจากบทลงโทษ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนที่ เช่น การสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานในเยอรมนี หรือกระทั่งแผน Green New Deal ซึ่งใช้มาตรการด้านภาษีเป็นแรงจูงใจที่กำลังได้รับความสนใจสหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางใหม่สำหรับธุรกิจทุกขนาด ซึ่ง NEDO ย้ำว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทจำเป็นต้องปรับตัวตามแนวทางเหล่านี้ แต่ให้เลือกใช้ตามความจำเป็น ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า หากจะให้ภาครัฐเป็นผู้เดินหน้าเพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมประสบความสำเร็จได้ยาก
NEDO คาดการณ์ว่า โควิด-19 จะยังคงมีการระบาดเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องไปอีกหลายปี การลงทุนในเวลานี้ส่วนมากจึงจะเป็นการลงทุนเพื่อ “ประคับประคอง” ธุรกิจ และการปรับตัวสู่ New Normal มากกว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างแท้จริง และทุกบริษัทย่อมมีงบประมาณจำกัด จึงเล็งเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการวางแผนล่วงหน้าว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้ผ่านโควิดไปได้ และหลังจากนั้นจะใช้อย่างไรให้ฟื้นตัวกลับมา
อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต คือ ปัญหาทางด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์ต่อสถานการณ์นี้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะ SME ซึ่งการคาดการณ์อนาคตที่ทำได้ยากยิ่งส่งผลให้การอยู่รอดในตลาดยากลำบากกว่าองค์กรขนาดใหญ่อีกด้วย