ชิป 2 นาโนเมตร เทคโนโลยียุคถัดไป คือ หนึ่งประเด็นสำคัญในการประชุม 'Economic 2+2' ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ

ชิป 2 นาโนเมตร หนึ่งประเด็นสำคัญในการประชุม 'Economic 2+2' ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ

อัปเดตล่าสุด 4 ส.ค. 2565
  • Share :
  • 2,406 Reads   

การประชุม ‘Economic 2+2’ ของสองพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ญี่ปุน - สหรัฐฯ ครั้งแรกมีเนื้อหาที่ถูกจับตา คือ การส่งเสริมเทคโนโลยีเกิดใหม่และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะชิป 2 นาโนเมตรที่เป็นชิปยุคถัดไป

‘Economic 2+2’ เป็นการประชุมประสานงานเชิงกลยุทธ์ในระดับทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่น - สหรัฐฯ ในประเด็นทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญในประเทศ การสร้างห่วงโซ่อุปทานพลังงาน และสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทันกับจีน 

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ได้ประกาศแผน ‘Economic 2+2’ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีการประชุมเตรียมการก่อนจะมาถึงการจัดประชุมรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายในการประชุม ‘Economic 2+2’ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2022 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

Advertisement

รัฐมนตรีจากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่อสถานการณ์โลกซึ่งยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด ทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก สินค้าต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น และเกิดความไม่เท่าเทียมกันในวงกว้าง อีกทั้งสงครามรัสเซียยูเครนได้ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายลง และคุกคามต่อความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการส่งเสริมเทคโนโลยีเกิดใหม่และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ยุคถัดไป

โดยญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีความตั้งใจร่วมพัฒนาเทคนิคการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 2 นาโนเมตร และตั้งเป้าพัฒนากระบวนการผลิตแบบจำนวนมากร่วมกัน ซึ่งนาย Koichi Hagiuda รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ได้เปิดเผยถึงความต้องการให้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นผนวกเข้ากับแนวคิดที่ก้าวหน้าของสหรัฐฯ และแม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด แต่สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายมีแผนสร้างศูนย์วิจัยชิปในญี่ปุ่น และมีแผนเริ่มผลิตชิป 2 นาโนเมตรภายในปี 2025

ปัจจุบัน ชิป 2 นาโนเมตรยังไม่สามารถผลิตแบบ Mass Production ได้ ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง TSMC, Intel, และ Samsung ได้ประกาศแผนว่าจะสามารถเริ่มผลิตแบบจำนวนมากได้ในช่วงปี 2024 - 2025

จากในอีกด้านหนึ่ง แม้หลายประเทศทั่วโลกจะเร่งส่งเสริมการผลิตชิป แต่ญี่ปุ่นยังมีความล่าช้าและมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก ซึ่งฝ่ายบริหารของ METI แสดงความเห็นว่านี่อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของญี่ปุ่นในการจับจองส่วนแบ่งเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกก็เป็นได้

ฝั่งสหรัฐฯ เองก็เป็นอีกประเทศที่มีความพยายามในการครองส่วนแบ่งตลาดชิปอย่างเด่นชัด ซึ่งร่างกฎหมาย “CHIPS for America Act” เพื่อส่งเสริมการผลิตและวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศให้มากยิ่งขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าด้วยงบประมาณ 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกเสนอตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 และได้มีมติผ่านร่างกฎหมายนี้ในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

นาง Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเปิดเผยต่อสื่อว่า สหรัฐฯ ยังมีแผนหารือด้านความร่วมมือเพื่อแก้วิกฤตชิปขาดตลาดกับกับประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) กับประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

 

#ญี่ปุ่น #สหรัฐอเมริกา #เซมิคอนดักเตอร์ #ชิป2นาโนเมตร #จีน #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH