บล็อกเชน พลาสติกรีไซเคิล

เปิดบทใหม่ 'บล็อกเชน' กับ ‘พลาสติกรีไซเคิล’

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 1,650 Reads   

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกระตุ้นให้ธุรกิจต้องปรับตัว บล็อกเชนจึงถูกเลือกเพื่อใช้สืบค้นย้อนกลับ สร้างความเชื่อมั่นในการใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างปลอดภัย 

Advertisement

บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร?

บล็อกเชน (Blockchain) คือ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูล (Data structure) ที่จัดเก็บเป็นส่วน ๆ หรือเป็นบล็อก (block) โดยข้อมูลแต่ละส่วนจะร้อยเรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นห่วงโซ่ (chain) และอยู่ในคอมพิวเตอร์เครือข่ายทุกเครื่อง 

ซึ่งการเก็บบันทึกและเปลี่ยนแปลงข้อมูลจำเป็นต้องเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัย และทุกคนในเครือข่ายจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลพร้อมกัน ทำให้ข้อมูลเหล่านี้มีความโปร่งใส ปลอดภัย จึงเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสำหรับธุรกรรมแบบดิจิทัล (Digital Transaction) เพราะข้อมูลจะถูกแชร์ไปถึงทุกคนได้

  • ฟรี ทดลองวัดชิ้นงานอะไหล่ วัดทุกจุดใน 3 วินาที ด้วยเครื่องดิจิตอลโปรไฟล์โปรเจคเตอร์ Keyence คลิกเลย

ทำไม “อุตสาหกรรมพลาสติก” จึงสนใจบล็อกเชน?

วงจรการรีไซเคิลพลาสติกในปัจจุบัน

 

Masao Sambei เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Mitsui Chemical ได้ย้ำถึงการนำบล็อกเชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิลพลาสติก เนื่องจากต้องการให้การรีไซเคิลแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคว่า พลาสติกที่ใช้นี้ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน

“ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก การจัดหาวัตถุดิบที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ควรริเริ่มจากผู้ผลิต”

 

โดยหนึ่งในความกังวลของผู้บริโภค คือ ที่แล้วมา ผู้บริโภคไม่มีทางรู้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังใช้อยู่นี้รีไซเคิลมาจากอะไร ทำให้ผู้บริโภคไปจนถึงผู้ผลิตหลายรายหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกรีไซเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแม้ว่าจะเลือกใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตนั้นจะรีไซเคิลมาจากพลาสติกใช้แล้วเสมอไป

นอกจากความกังวลเหล่านี้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านความปลอดภัยอีกด้วย เพราะหากไม่มีการติดตามอย่างละเอียดแล้ว จะไม่มีทางรู้เลยว่าพลาสติกเหล่านี้ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง หรือผ่านสารชนิดใดมาบ้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อความคงทนของผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงมีสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลยังสูงกว่าการผลิตจากพลาสติกทั่วไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้ได้พลาสติกรีไซเคิล เช่น การจัดหา การแยกชนิดพลาสติก และอื่น ๆ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ “บล็อกเชน” ถูกจับตาในฐานะของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ปัญหา เนื่องจากคุณสมบัติในด้านความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ ไปจนถึงการปลอมแปลงข้อมูลที่ทำได้ยาก ซึ่งหากไม่มีบล็อกเชนแล้ว การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการรีไซเคิลพลาสติกอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมาก

แพลตฟอร์มบล็อกเชนสำหรับการติดตามพลาสติก

ในญี่ปุ่น IBM Japan ได้ร่วมมือกับ Mitsui Chemicals พัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนสำหรับการติดตามพลาสติก และมีกำหนดจดทะเบียนบริษัทร่วมกับ Nomura Research Institute ในปีงบประมาณ 2022 

โดยแพลตฟอร์มนี้พัฒนาขึ้นสำหรับธุรกิจผู้ผลิตพลาสติก, ธุรกิจรีไซเคิล, สถาบันการเงิน, และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทติดต่อเข้ามาเพื่อขอทดลองใช้งาน

ภาพต้วอย่างแอปพลิเคชัน Blue Plastics (ภาพคอนเซ็ปต์)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือโครงการ “Blue Plastics” โดยความร่วมมือระหว่าง IBM Japan, Asahi Kasei, และ Lion Corporation ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล วิธีการคือพิมพ์โค้ด 2 มิติลงบนขวดพลาสติกเพื่อติดตามสินค้า และผู้บริโภคก็สามารถตรวจสอบได้ว่าขวดนี้เคยเป็นสินค้าอะไรมาก่อน เคยใช้บรรจุอะไรมาก่อน โดยคาดว่าจะสิ้นสุดการทดลองในเดือนมีนาคม 2022 และให้บริการได้ในปีงบประมาณ 2023

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจาก Mitsubishi Chemicals และ Dai Nippon Printing ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบแพลตฟอร์มบล็อกเชน แบ่งข้อมูลออกเป็นสองส่วนระหว่างข้อมูลภายใน และข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้ ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองใช้งานจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2021 นี้

ทางด้าน Sumitomo Chemical ยังไม่มีรายงานว่าได้นำบล็อกเชนมาใช้หรือไม่ แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทแสดงความเห็นว่า “การสืบค้นย้อนกลับเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และทางบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาด้านนี้เช่นเดียวกัน”

เพราะรีไซเคิลจะไม่แพร่หลาย บล็อกเชนจึงจะไปหาผู้บริโภคด้วย

นอกจากนี้ การนำบล็อกเชนมาใช้ยังไม่จำกัดแค่การจัดการข้อมูลการผลิตและการจัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการใช้งานในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แนวโน้มการรีไซเคิลพลาสติก ไม่ได้จำกัดแค่เพียงผู้ผลิต แต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย

ผู้ผลิตบางส่วนได้ทดลองให้ลูกค้าของตนมีส่วนร่วมในการรีไซเคิลพลาสติก เช่น การใช้แอปพลิเคชันบล็อกเชนยืนยันการแยกขยะพลาสติกแลกคะแนน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดในการซื้อครั้งถัดไป หรือแลกเป็นของสมนาคุณ

Mitsubishi Chemicals แสดงความเห็นว่าไอเดียนี้สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้อีกมาก เช่น การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทในแต่ละปีเพื่อจัดทำดัชนีผลกระทบของบริษัทนั้น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างจากนานาประเทศ

ในอีกหลายประเทศพบว่า มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการสืบค้นย้อนกลับเช่นกัน โดยกำลังก่อตัวเป็นคลื่นลูกใหม่ ยกตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์ม “reciChain” จาก BASF Canada ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตพลาสติก, เคมีภัณฑ์, ธุรกิจรีไซเคิล ไปจนถึงแพลตฟอร์มจากสำนักวิเคราะห์ตลาดแห่งหนึ่งที่เปิดทดลองใช้งานติดตามวัสดุโพลีเอทิลีน (Polyethylene) หรือที่รู้จักในชื่อพลาสติก PE พบว่าสามารถติดตามข้อมูลได้จริง และจะถูกพัฒนาในด้านการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการรีไซเคิลต่อไป

สรุปบทความ

มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ในอนาคต มาตรการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัวในการรีไซเคิลจะถูกนำมาใช้คู่กันกับการสืบค้นย้อนกลับ เพื่อให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีราคาถูกลง และสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริษัทต่าง ๆ ว่านอกจากโครงสร้างข้อมูลที่ตรวจสอบได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคแล้ว จะมีอะไรมาจูงใจผู้บริโภคให้ความร่วมมือในการรีไซเคิลมากกว่านี้


#รีไซเคิลพลาสติก #พลาสติกรีไซเคิล #พลาสติก #พลาสติก PE #ขยะพลาสติก #รีไซเคิล #Recycle #Plastics #ปัญหาสิ่งแวดล้อม พลาสติก #ผลิตภัณฑ์ พลาสติก #บล็อกเชน #Blockchain #อุตสาหกรรมพลาสติก #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH