แนวโน้มตลาดไบโอพลาสติก 2023

รักษ์โลก รักไบโอพลาสติก คาดปี 2023 ทั่วโลกใช้ Bioplastic 3 ล้านตัน

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 1,960 Reads   

ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในมลพิษที่มนุษย์พยายามหาทางแก้ไข ส่งผลให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีความพยายามนำพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก (Bioplastics) ที่ย่อยสลายได้มาใช้ทดแทนพลาสติกแบบดั้งเดิม และทำให้ตลาดไบโอพลาสติกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีความต้องการใช้ไบโอพลาสติก 3 ล้านตันในปี 2023 โดยมีไบโอพลาสติก PLA นำโด่งเติบโต 92.7% 

โดยสำนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น Fuji Keizai ได้เผยแพร่รายงานตลาดวัสดุเคมีภัณฑ์ ฉบับปี 2020 เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในรายงานได้ระบุถึงมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐส่งผลให้ตลาดไบโอพลาสติกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2016 โดยในปี 2019 มีปริมาณไบโอพลาสติกในตลาดโลกอยู่ที่ 2,652,000 ตัน โดยเฉพาะพลาสติก PLA (Polylactic Acid) และ PE (Polyethylene) ที่มีการเติบโตในหลายประเทศ

สัดส่วนการใช้งานพลาสติกชีวภาพในปี 2019 (Photo: Fuji Keizai)

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการระบาดของโควิดอาจทำให้การเติบโตของพลาสติกชีวภาพในปีนี้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะความพยายามนำพลาสติกชีวภาพไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับการตกแต่งภายในซึ่งอาจล่าช้าออกไป แต่ในฝั่งของการนำพลาสติกชีวภาพไปผลิตบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำ ห่ออาหาร ถุงพลาสติก หลอดน้ำ และอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ซึ่ง Fuji Keizai คาดว่าในปี 2023 จะมีการใช้งาน Bioplastic 3,107,000 ตัน เพิ่มขึ้น 17.2% จากปี 2019 

ไบโอพลาสติก Polylactic Acid

ไบโอพลาสติก PLA มีแนวโน้มการเติบโตสูงสุดในหมู่ไบโอพลาสติก เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพอลิเมอร์เกรดทั่วไป จึงถูกนำมาใช้ในการผลิตขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร หลอด ช้อนส้อมใช้แล้วทิ้ง และฟิล์มถนอมอาหารอย่างแพร่หลาย ทำให้ประสบปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีการเติบโตมากถึง 92.7% จากปี 2019

ไบโอพลาสติก Bio-Polyethylene

Bio-PE เข้าสู่การผลิตจำนวนมากตั้งแต่ปี 2011 และมักถูกใช้ในการผลิตถุงพลาสติก ฟิล์มถนอมอาหาร และขวดน้ำ ซึ่งมีความต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากปัญหาไมโครพลาสติกในทะเล ซึ่งในครึ่งแรกของปี 2020 พลาสติกชีวภาพชนิดนี้ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นถุงใช้แล้วทิ้งจำนวนมากเนื่องจากการระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้มีราคาแพงเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปทำให้ถูกคาดการณ์ว่าในท้ายสุดก็จะถูกแทนที่ แต่จนกว่าจะมีวัสดุที่เข้ามาแทนที่ได้ 100% แล้ว พลาสติก Bio-PE ก็จะมีการเติบโตต่อไป ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีการเติบโตมากถึง 31.3% จากปี 2019

ไบโอพลาสติก Bio-Polyethylene terephthalate และ Polyethylene Furanoate

Bio-PET และ PEF ถูกใช้ในการผลิตขวดเป็นหลัก ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนการใช้งานต่ำเพราะขวด PET ในปัจจุบันสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่เนื่องจากไบโอพลาสติกชนิดนี้สามารถนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนตกแต่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีการเติบโต 27.0% จากปี 2019 และจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตหลังปี 2024 เป็นต้นไป 

ไบโอพลาสติก Bio-Polyamide

Bio-PA เป็นไบโอพลาสติกคุณภาพสูง ปัจจุบันยังมีการต่ำ แต่เนื่องจากสามารถใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่างถังน้ำมันและหม้อน้ำ ทำให้เป็นพลาสติกที่มีแนวโน้มการเติบโตมั่นคง อย่างไรก็ตาม ความต้องการยานยนต์ที่ลดลงทำให้คาดได้ว่าตลาดพลาสติก Bio-PA ก็จะเติบโตล่าช้ากว่าที่ควร โดยมี PA11 เป็นเกรดที่ถูกนำมาใช้งานสูงสุด เนื่องจากมีคุณสมบัติทนต่อน้ำมัน ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีการเติบโต 8.3.0% จากปี 2019