ฺจากต้นน้ำสู่ผู้บริโภค เมื่อผู้ผลิตวัสดุผันตัวสู่วงการออกแบบ

Eco-Friendly เทรนด์ธุรกิจแห่งทศวรรษ 2020

อัปเดตล่าสุด 7 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 4,092 Reads   

อาจกล่าวได้ว่า Eco-Friendly หรือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเรื่องสำคัญของโลกปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลงและกลับมาทำลายสิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษย์อย่างเราด้วย ได้ขมวดปมสู่ภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดความร่วมมือจากนานาประเทศเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสำคัญ

Advertisement

ในทุกผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องใช้ “วัสดุ” เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน การผลิตวัสดุจึงเป็นธุรกิจต้นน้ำที่อยู่ห่างจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก หลายบริษัทได้เล็งเห็นจุดประสานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) มาผนวกเข้ากับการออกแบบ ซึ่งในช่วงหลังมานี้วงการดีไซน์ต่างต้องการวัสดุที่มีคุณภาพ และมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น ซึ่งการออกแบบที่ว่า ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่แฟชั่น แต่ยังรวมถึงยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่อาหาร และสินค้าที่มีดีไซน์โดดเด่น ก็หมายถึงการสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

มิตซูบิชิ เคมีคอล เปิดตัว “age 3026” เสื้อผ้าจากนวัตกรรมเส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฺจากต้นน้ำสู่ผู้บริโภค เมื่อผู้ผลิตวัสดุผันตัวสู่วงการออกแบบ

ภาพอินสตาแกรมของ age 3026

Mitsubishi Chemical เป็นหนึ่งในบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสจากแนวทางนี้ และได้เปิดตัวแบรนด์แฟชั่น “age 3026” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีผลิตภัณฑ์เรือธงคือเครื่องแต่งกายที่ผลิตจาก “Soalon” เส้นใยกึ่งสังเคราะห์ที่ผนวกคุณสมบัติของเส้นใยธรรมชาติจากพืช และเส้นใยจากสารเคมีเข้าด้วยกัน 

Mr. Makoto Nagano หัวหน้าทีมวิจัยวัสดุสิ่งทอจาก Mitsubishi Chemical เปิดเผยว่า Soalon เป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติโดดเด่นอย่างหนึ่งคือสามารถย้อมสีดำให้ออกมาดำสนิทได้ และค้นพบในระหว่างการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า การย้อมสีเทาดำสามารถเน้นเส้นใยให้เด่นชัด ทำให้เสื้อผ้าที่ผลิตจาก Soalon ดูมีราคาแพงขึ้น และเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณลักษณะเส้นใยโดดเด่นในแบบที่แบรนด์อื่นไม่สามารถเลียนแบบได้

Office io ทีมดีไซเนอร์ที่รับผิดชอบในการออกแบบเสื้อผ้าให้กับ Mitsubishi Chemical แสดงความเห็นว่า สีดำเป็นสีที่ทำให้สินค้าดูหรูหรา และมีราคาแพงขึ้นได้ แต่จุดประสงค์ที่เลือกใช้สีเทาดำแทนเป็นเพราะต้องการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นในตลาดโดยใช้เส้นใย Soalon ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ Mitsubishi Chemical ให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี และได้รับการรับรองจาก FSC chain of custody certification ทำให้สามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างมาก

 

Advertisement

ที่แล้วมา เส้นใย Soalon ถูกใช้ในการผลิตเสื้อผ้าราคาแพงสำหรับผู้หญิงเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ความต้องการวัสดุทดแทนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มขึ้น Office io จึงเล็งเห็นว่า การออกแบบเสื้อผ้าที่ใช้ประโยชน์จากเส้นใยให้คุ้มค่า และเน้นเส้นใยให้ชัด สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้นอีกด้วย

Mr. Makoto Nagano หัวหน้าทีมวิจัยวัสดุสิ่งทอจาก Mitsubishi Chemical เสริมว่า เมื่อผู้บริโภครู้จักเส้นใยชนิดนี้มากขึ้น ก็จะนำไปสู่ความต้องการเส้นใยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของบริษัทได้ในอนาคต

มิตซุย เคมีคอลส์ ส่งวัสดุชนิดใหม่ สู่แคตวอล์คระดับโลก

Mitsui Chemicals เป็นอีกรายที่เข้าสู่ธุรกิจแฟชั่น โดย Yuri Matsunaga เจ้าหน้าที่แผนกสื่อสารองค์กร เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ แปลกใจมากเมื่อครั้งที่ Fendi แบรนด์เสื้อผ้าราคาแพงจากอิตาลีติดต่อมาที่บริษัท เพื่อนำวัสดุ Photochromic ที่เปลี่ยนสีได้เมื่อถูกแสงตกกระทบไปใช้ในการผลิตเสื้อและกระเป๋าร่วมกับ ANREALAGE เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากงานแฟชันโชว์ที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

โดยที่มาของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ตัวแทนจากบริษัท Mitsui Chemicals ได้เข้าร่วมงานจัดแสดงวัสดุชนิดใหม่ และได้พบกับดีไซเนอร์จากแบรนด์ ANREALAGE จากนั้นจึงมีโอกาสได้ร่วมงานกันที่ปารีสในปีถัดมา ซึ่งงานดีไซน์ที่ใช้วัสดุของ Mitsui Chemical ได้ไปเข้าตา Fendi ในงานนั้นเอง

Mitsui Chemicals เล่าว่า เมื่อปี 2019 ทางบริษัทยังได้ร่วมงาน Aichi Triennale และได้รับชมไอเดียที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น การใช้ 3D Printer ผลิตชิ้นงานจากพอลิโพรไพลีน ซึ่งเป็นวัสดุที่ยึดเกาะกันได้ยาก ไปจนถึงการทดลองใช้ 3D Printer ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชนิดต่าง ๆ อีกด้วย

Elephantech เป็นหนึ่งบริษัทที่มีความเห็นว่า 3D Printer จะสร้างความเป็นไปได้ในการผลิตอีกมาก เนื่องจากอิสระในด้านการออกแบบ จะนำมาซึ่งวัสดุที่มีโครงสร้างใหม่ ๆ ได้อย่างที่ไม่เคยมี และอยู่ระหว่างร่วมมือกับ Mitsui Chemicals ในการทดลองใช้ 3D Printer ในสายการผลิต และกำหนดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบในเดือนกรกฎาคมนี้

ไดฮัทสึ ต่อยอดเศษกระจก สู่พืชสีเขียว

ฺจากต้นน้ำสู่ผู้บริโภค เมื่อผู้ผลิตวัสดุผันตัวสู่วงการออกแบบ

“Glass Voyage” กระจกที่เมื่อทุบจนละเอียดแล้วสามารถนำมาใช้ปลูกพืชได้จาก Daihatsu

นักออกแบบยานยนต์จากไดฮัทสึ (Daihatsu) เล่าว่า ญี่ปุ่นจะมีรถยนต์ถูกทำลายทิ้ง 4.6 ล้านคันในแต่ละปี หรือเทียบเท่ารถถูกทำลาย 1 คันในทุก 8.2 วินาที ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับนักออกแบบเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ทีมวิศวกรของ Daihatsu จึงลองเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ถ้ามีรถถูกทำลาย 1 คันทุก 8.2 วินาทีแล้ว จะทำอย่างไรให้ยานยนต์เหล่านี้สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ จึงร่วมกับ Japan Automotive Interior Designers (JAID) ทดลองผลิต “Glass Voyage” กระจกที่เมื่อทุบจนละเอียดแล้วสามารถนำมาใช้ปลูกพืชได้ด้วยส่วนผสมที่ป้องกันการเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองปลูกมอส และอาจนำไปใช้ปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ได้ในอนาคต 

ตัวแทนจาก JAID เปิดเผยว่า ทางชมรมได้มีการรวบรวมเทคโนโลยีที่มีแนวคิดใกล้เคียงกันนี้จากค่ายรถญี่ปุ่นหลายราย และพบว่าบริษัทอื่น ๆ ก็มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เช่น “Glass Camp” จากโตโยต้า ซึ่งทดลองนำกระจกมาสร้างเป็นผลงานศิลปะ

นากาเซ่ สร้างแบรนด์อิมเมจ ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฺจากต้นน้ำสู่ผู้บริโภค เมื่อผู้ผลิตวัสดุผันตัวสู่วงการออกแบบ

บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องสำอางค์แบรนด์ Albion ที่ NAGASE & CO ทดลองออกแบบขึ้น

NAGASE & CO เป็นผู้ผลิตวัสดุอีกรายที่มีแนวทางเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น ได้ประสานความร่วมมือกับ Tama Art University วิจัยวัสดุเรซินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำมาออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องสำอางค์ ซึ่งได้รับความสนใจจากแบรนด์ชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Albion, POLA, และ Shiseido เป็นอย่างดี

ทางบริษัทฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแบรนด์เครื่องสำอางค์ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะช่วยสร้างภาพลักษณ์แล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกด้วย

Shuri Fuji นักศึกษาจาก Tama Art University ผู้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย เล่าว่า โจทย์ที่ได้จากแบรนด์เครื่องสำอางค์ คือ “บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องดูหรูหราด้วย” จึงเลือกใช้เรซินที่โปร่งแสง คงทน ย่อยสลายได้ง่าย และออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกาน้ำชา เพื่อให้ดูดี แต่ก็เข้าถึงได้ง่าย และแสดงความเห็นว่า แบรนด์สินค้าราคาแพงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต