ธุรกิจน่าลงทุน “เซนเซอร์” สำหรับอุปกรณ์การแพทย์-เฮลท์แคร์-สมาร์ทโฮม

ธุรกิจน่าลงทุน “เซนเซอร์” สำหรับอุปกรณ์การแพทย์-เฮลท์แคร์-สมาร์ทโฮม

อัปเดตล่าสุด 7 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 1,783 Reads   

เซนเซอร์ อุปกรณ์ไฮเทคอีกชนิดที่กำลังได้รับความนิยมนำมาใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิดรอบตัวเรา ทำให้เซนเซอร์เป็นธุรกิจน่าลงทุนด้วยอนาคตที่สดใส โดยเฉพาะการนำไปใช้กับเซกเตอร์อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ สมาร์ทโฮม และสังคมสูงอายุอีกด้วย

Advertisement

“เซนเซอร์ (Sensor) คือ อุปกรณ์ที่นำมาประยุกต์ใช้งานเพื่อทำหน้าที่ตรวจจับ ตรวจวัดค่าและเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ผู้ออกแบบติดตั้งได้กำหนดไว้ เช่น ความร้อน แสง เสียง การเคลื่อนไหว แล้วแปลงค่าเหล่านี้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ส่งกลับไปยังระบบคอมพิวเตอร์เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อไป”

แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจเซนเซอร์

ในฝั่งญี่ปุ่นซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ต้องเผชิญกับสังคมสูงอายุ บทความนี้จะสำรวจมุมมองและคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจเซนเซอร์

Mr. Keizo Harada ประธานบริษัท bio silver ผู้พัฒนาเซนเซอร์ทางการแพทย์รายใหญ่ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันระบบเซนเซอร์ยังมีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องมือแพทย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเซนเซอร์ทางการแพทย์เริ่มมีราคาถูกลง จึงคาดการณ์ว่าจะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ความต้องการเซนเซอร์ทางการแพทย์สูงขึ้นเป็นอย่างมาก มีการนำไปใช้ในเตียงโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้ป่วย เพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ ทั้งอัตราการหายใจ ชีพจร น้ำหนัก ความถี่ในการตื่นตอนกลางคืน และอื่น ๆ เพื่อติดตามสภาพร่างกายของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ผลสำรวจของญี่ปุ่นล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการตรวจโรคที่จำเป็นต้องติดตามผลในระยะยาวกับสถานพยาบาล 988,900 ราย และมีการติดต่อเช่าเตียงพยายาลรวม 1,008,000 เตียง ซึ่งหมายถึงตัวเลขความต้องการเตียงในหนึ่งเดือนมีมากถึง 2 ล้านเตียง อย่างไรก็ตาม เตียงที่ติดตั้งระบบเซนเซอร์มีเพียง 2% จากเตียงทั้งหมดเท่านั้น อีก 98% จึงเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจให้ติดตั้งเซนเซอร์ได้อีก 

นอกจากนี้ เซนเซอร์ทางการแพทย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และหุ่นยนต์แพทย์โดยตรง โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งกองทุนสนับสนุนการใช้งานหุ่นยนต์ทางการแพทย์ระดับภูมิภาค ซึ่งกว่า 80-90% ของเงินงบประมาณถูกใช้ในการจัดหาระบบเซนเซอร์ เนื่องจากมีราคาต่อหน่วยถูกกว่าเครื่องมือแพทย์หลายชนิด และเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน

ทางกระทรวงฯ เสริมว่า ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด เซนเซอร์ทางการแพทย์ถูกนำไปใช้เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่พยาบาลกะกลางคืนเป็นหลัก อีกทั้งช่วยลดการรบกวนผู้ป่วยระหว่างกลางคืนได้อีกด้วย และได้ออกเงินสนับสนุนการจัดหาเซนเซอร์ทางการแพทย์รวมทั้งสิ้น 7.5 ร้อยล้านเยน หรือราว 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2562

สำหรับปีงบประมาณ 2563 กระทรวงฯ มีแนวทางให้เซนเซอร์ทางการแพทย์จำเป็นต้องเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ผ่าน Wi-Fi ได้ แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด ทำให้มีการปรับเพดานเพื่อให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งจัดซื้อเซนเซอร์ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้มีการใช้เงินสนับสนุนรวมเพิ่มขึ้นถึง 42% จากโรงพยาบาล สถานพยาบาล และศูนย์ดูแลอื่น ๆ รวม 2,574 แห่ง และได้รับการสนับสนุนวงเงินเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกด้วย

 

 
“a ams” เซนเซอร์จากบริษัท bio silver

Mr. Mitsuhiro Nagano ผู้จัดการฝ่ายขาย TECHNO HORIZON ผู้เล่นรายใหม่ที่พึ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อปลายปี 2562 รายงานว่าบริษัทได้รับออเดอร์ระบบเซนเซอร์ทางการแพทย์เข้ามาเป็นอย่างมากจากการระบาดของโควิด ทำให้เจ้าหน้าที่พยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย อีกทั้งยังมีรายงานจากผู้ใช้งานว่าการติดตั้งเซนเซอร์ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกกดดันน้อยลงเมื่อต้องทำงานกะกลางคืนอีกด้วย


“Care-top” ระบบเซนเซอร์จากบริษัท Shinsei Corp

Mr. Toshiro Daito ประธานบริษัท Shinsei Corp ผู้เล่นรายใหม่อีกรายที่เข้าสู่ตลาดในช่วงต้นปี 2563 เปิดเผยว่า ระบบเซนเซอร์ทางการแพทย์เริ่มมีราคาถูกลงในช่วง 1-2 ปีมานี้ ทำให้เริ่มมีสถานพยาบาลให้ความสนใจ แต่ยังคงเป็นเรื่องยากที่บุคคลทั่วไปจะหาซื้อไปใช้ที่บ้าน ดังนั้น การทำตลาดยังคงต้องเน้นที่สถานพยาบาล และเน้นผลิตจำนวนมากเพื่อให้มีราคาถูกลงและขยายตลาดไปยังผู้ใช้ทั่วไปได้ในอนาคต นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้จากการผลิตระบบเซนเซอร์ทางการแพทย์ ทำให้บริษัทสามารถรับงานเป็นซัพพลายเออร์ระบบเซนเซอร์ให้ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์สัญชาติฝรั่งเศส ไปจนถึงผู้ผลิตโซลูชันสมาร์ทโฮมได้อีกด้วย

ผู้ผลิตโซลูชันสมาร์ทโฮม เป็นอีกกลุ่มที่แสดงความสนใจในระบบเซนเซอร์ทางการแพทย์ เนื่องจากสามารถนำข้อมูลไปเชื่อมโยงกับระบบสมาร์ทโฮมได้ เช่น ปิดระบบน้ำในบ้านหลังเซนเซอร์ตรวจสอบแล้วว่าเจ้าของบ้านหลับสนิท ใช้เซนเซอร์ในอ่างอาบน้ำเพื่อตรวจสอบอัตราการเต้นหัวใจ และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ไปพบแพทย์หากมีความผิดปกติ หรือกระทั่งแจ้งหน่วยกู้ภัยหากเซนเซอร์พบความผิดปกติกะทันหันต่อร่างกายของผู้อยู่อาศัย ซึ่ง Mr. Toshiro Daito เสริมว่า หากผู้ผลิตเซนเซอร์ทางการแพทย์ทำให้เซนเซอร์มีราคาถูกลงได้ การจะผลิตเซนเซอร์สำหรับสมาร์ทโฮมภายใต้แบรนด์ตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องยาก


Nemuri SCAN บริษัท PARAMOUNT BED

Mr. Tomohiko Kimura ประธานบริษัท PARAMOUNT BED เสริมว่า ปัจจุบันยังมีปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณา คือเมื่อการระบาดของโควิดผ่านพ้นไปแล้ว เงินสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือแพทย์ก็จะลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความต้องการระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมการแพทย์มีแต่จะเพิ่มขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่าความต้องการเซนเซอร์ทางการแพทย์นั้นจะยังเติบโตได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเซนเซอร์ทางการแพทย์ ยังสามารถร่วมกับผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ได้ไม่ยาก เนื่องจากเครื่องมือแพทย์หลายชนิดจำเป็นต้องตรวจวัดค่าต่าง ๆ จากผู้ป่วย ซึ่งนั่นหมายถึงการใช้เซนเซอร์ในเครื่องมืออื่น ๆ เช่นเดียวกัน


ใช้ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ (ภาพมอนิเตอร์หัวเตียงของ PARAMOUNT BED)

นอกจากนี้ ราคาระบบเซนเซอร์ที่ถูกลง ยังทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจัดหาจากบ้านพักคนชราเช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคต ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็จะเป็นอีกหนึ่งตลาดของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้

 

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์


สินค้า

Thailand Web Stat