เปิดลิสต์ธุรกิจ "อีลอน มัสก์" "เจ้าพ่อไอที" ที่มาก่อนกาล

อัปเดตล่าสุด 12 ก.ค. 2561
  • Share :

ชื่อของ "อีลอน มัสก์" แม้จะโด่งดังในระดับโลกในฐานะเจ้าพ่อสตาร์ตอัพล้ำโลกมานานแล้ว แต่ในประเทศไทย หลายคนน่าจะได้ยินชื่อและรู้ว่าเขาทำอะไรมากกว่าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า "เทสล่า" (Tesla)เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังจากมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่งข้อความถามมัสก์ว่า เขาจะใช้ความรู้ที่มีช่วยเหลืออะไรในการพา 13 ชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงรายได้บ้าง เพราะมองว่า "Boring Company" หนึ่งบริษัทของมัสก์ซึ่งทำเกี่ยวกับการขุดเจาะใต้ดินน่าจะมีโนว์ฮาวดี ๆ ที่เหมาะสม มาต่อสู้และเอาชนะธรรมชาติ

แม้ในตอนแรกมัสก์ได้เสนอความเห็นเท่านั้น แต่สุดท้ายเขาก็ได้ส่งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทยเพื่อช่วยด้านแนวทางการช่วยเหลือพาเด็ก ๆ ออกจากถ้ำ และยังได้ติดต่อบริษัทพันธมิตร "แมด รีเวอร์ ยูเนียน" ให้ผลิตแคปซูลช่วยชีวิต หรือ "rescue pods" กลายไอเดียของเขาภายในไม่ถึงวัน โดยเป็นทรงจรวดจิ๋วที่สามารถต่อท่อออกซิเจนได้ 4 จุด และนักดำน้ำสามารถผูกเชือกแล้วลากได้ ซึ่งทันทีที่ทดลองแล้วว่าใช้ได้จริง มัสก์ได้ก็จัดการส่งมายังประเทศไทยทันที

แม้สุดท้ายอุปกรณ์ของมัสก์จะไม่ได้ใช้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเริ่มต้นนำตัวผู้ประสบภัยออกมาก่อนด้วยวิธีดำน้ำออกมา แต่สิ่งที่มัสก์ทำ หลายฝ่ายเชื่อว่าสักวันจะต้องเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือคนเป็นแน่ 

"อีลอน มัสก์" คือใคร ? บ้างก็ชอบเทียบเขาว่าเป็น "โทนี่ สตาร์ก" หรือมหาเศรษฐีเจ้าของชุดเกาะไอรอนแมน ภาพยนตร์ไตรภาคชุดดังจากค่ายมาร์เวลล์ในชีวิตจริง เพราะปัจจุบันมัสก์ก็ถือเป็นคนรวยที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และบรรดาอุปกรณ์สุดล้ำที่เกินกว่าใครจะเข้าใจ

มัสก์ ปัจจุบันอายุ 47 ปี เกิดเมื่อปี 1971 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ในวัยเด็กเขาเป็นคนที่ชอบเก็บตัวอ่านหนังสือ ไม่สู้คนนัก เริ่มสนใจด้านคอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่งตั้งแต่อายุ 12 ขวบ และเคยย้ายไปใช้ชีวิตในแคนาดา

เมื่ออายุ 17 ปี พร้อมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยควีนส์ ก่อนย้ายมายังมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และเรียนต่อจนจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ตามด้วยปริญญาอีกหลายใบ ทั้งตรีและโทในสาขาอื่น ๆ รวมถึงได้ทำปริญญาเอกด้านแอปพลายฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ในปี 1995 ด้วย แต่สุดท้ายก็ละการเรียนเพื่อเริ่มธุรกิจตามความฝัน

ชีวิตนักธุรกิจของมัสก์เริ่มจากร่วมก่อตั้ง Zip2 บริษัทด้านซอฟต์แวร์ ก่อนที่จะถูกบริษัทคอมพิวเตอร์ "คอมแพค" เทกโอเวอร์ในปี 1999 ด้วยมูลค่ากว่า 340 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นเขาก่อตั้ง X.com บริษัทออนไลน์เพย์เมนต์ด้วยตัวเองในปี 2000 ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Paypal ในเวลาถัดมา หลังจาก Ebay เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2002

ในช่วงปี 2002 เป็นต้นมา มัสก์ได้ขยายความฝันสุดอลังการของเขา ด้วยการเริ่มก่อตั้งบรรดากิจการที่เรียกได้ว่า "มาก่อนเวลา" Boring Company ถือเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งมัสก์ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 

Boring Company แม้ชื่อบริษัทจะฟังดูน่าเบื่อ แต่เป้าหมายกลับทำให้คนฟังต้องตาโต ด้วยการเป็นบริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน เจ้าของโครงการ "Hyperloop" การเดินทางด้วยยานพาหนะทรวดทรงแคปซูลหรือคอนเทนเนอร์ผ่านท่อสูญญากาศด้วยความเร็ว 1,200 กม./ชม. โดยยานพาหนะจะลอยตัวด้วยแรงแม่เหล็ก (magnetic levitation technology) ไร้แรงเสียดทานทำให้เคลื่อนที่ได้เร็วสุด ๆ 

จุดเริ่มต้นที่มัสก์สนใจในเทคโนโลยีนี้เพราะต้องการแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในลอสแองเจลีส และเสนอการเดินทางที่ดีกว่าระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบัน เพราะเขาคิดว่ารถไฟความเร็วสูงช้าและแพงเกินไปไม่ตอบโจทย์กับอนาคต 

และแม้มีหลายบริษัทเตรียมพัฒนาแนวคิดการเดินทางรูปแบบนี้ แต่มัสก์ก็ดูจะเป็นคนที่ออกตัวมากที่สุด ในปี 2017 ที่ผ่านมา เขาได้เริ่มขุดพื้นที่ของบริษัทในแคลิฟอร์เนีย ลึกลงไป 4.6 เมตร ด้วยความกว้าง 9 เมตร ยาว 15 เมตร เพื่อทดสอบไอเดียยานพาหนะที่เขาเคลมว่าจะทำให้เดินทางจากนิวยอร์กสู่กรุงวอชิงตันภายใน 29 นาที และเล็งหาความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อทำให้การเดินทางด้วย Hyperloop กลายเป็นความจริง

มัสก์เคยสัมภาษณ์ในเวที TED เมื่อ พ.ค. 2017 ว่า เขาใช้เวลากับ Boring Company เพียง 2-3% ของเวลาทั้งหมดเท่านั้น โดยมองว่าธุรกิจดังกล่าวก็เป็นงานอดิเรกของเขาด้วย

นอกจากโปรเจ็กต์ Hyperloop แล้ว มัสก์ยังเป็นเจ้าของธุรกิจอื่น ๆ อีก เช่น ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ที่เป็นที่รู้จักที่สุดอย่าง Tesla SolarCity บริษัทด้านพลังงานที่ซัพพอร์ต Tesla OpenAI องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสนับสนุนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ Neuralink บริษัทพัฒนาด้านการเชื่อมต่อคลื่นสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ 

และอีกหนึ่งธุรกิจที่มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคตอย่าง SpaceX บริษัทที่จะนำมนุษย์ท่องอวกาศในราคาถูกและตั้งอาณานิคมนอกโลก ปัจจุบันเขามียานอวกาศเป็นของตัวเองและมีการทดลองปล่อยยานอวกาศไปหลายครั้ง ได้รับความชื่นชมในความสำเร็จในฐานะบริษัทเอกชน โดยเขาได้ตั้งชื่อกระสวยอวกาศบางส่วนตามชื่อในภาพยนตร์สตาร์วอร์สว่า "Falcon" ซึ่งมีหลายเวอร์ชั่น โดยยาน Falcon9 และ Dragon เคยได้รับการเลือกเข้าร่วมงานกับสถานีอวกาศนานาชาติ และปัจจุบัน SpaceX ได้ตกลงร่วมงานกับ NASA แล้ว